ทั้งนี้ จีน กับกลุ่มประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก ได้แก่ ฟิจิ ซามัว ตองกา คิริบาส ปาปัวนิวกินี วานูอาตู หมู่เกาะโซโลมอน นีอูเอ และวานูอาตู เห็นชอบร่วมกันในหลักการ ระหว่างการประชุมร่วมกัน ที่กรุงซูวา เมืองหลวงของฟิจิ เมื่อปลายเดือนที่แล้ว เกี่ยวกับกรอบความร่วมมือ 5 ด้าน ครอบคลุมในมิติรวมถึง การฟื้นฟูเศรษฐกิจ หลังวิกฤติการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 การจัดตั้งศูนย์ความร่วมมือเพื่อพัฒนาการเกษตร และภัยพิบัติทางธรรมชาติ ตามแนวทางแผนยุทธศาสตร์หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง แต่ที่น่าสังเกต คือไม่มีเรื่องของความมั่นคง

นายหวัง อี้ โบกมือทักทายทุกฝ่าย ระหว่างการเยือนหมู่เกาะโซโลมอน

นายหวัง อี้ มนตรีแห่งรัฐและรมว.การต่างประเทศของจีน กล่าวถึง “ความสงสัยและความวิตกกังวล” ของกลุ่มประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก เกี่ยวกับ “วัตถุประสงค์และเป้าหมายที่แท้จริง” ของรัฐบาลปักกิ่ง เจ้าหน้าที่การทูตหมายเลขหนึ่งของจีน กล่าวว่า ทุกฝ่ายไม่ควรมีความกังวล “มากเกินไป” เพราะจีนมีส่วนร่วมและสนับสนุนการพัฒนาแบบเดียวกันนี้ ทั้งในแอฟริกา เอเชีย และแคริบเบียน

South China Morning Post

ขณะที่ นายกรัฐมนตรีแฟรงก์ ไบนิมารามา ผู้นำ และรมว.การต่างประเทศของฟิจิ ซึ่งเป็นเจ้าภาพการประชุมครั้งนี้ กล่าวว่า กลุ่มประเทศในภูมิภาค “ต้องมีฉันทามติร่วมกัน” ก่อนลงนามข้อตกลงใหม่ในรูปแบบใดก็ตาม แม้ก่อนการประชุม รัฐบาลปักกิ่งเผยแพร่แถลงการณ์ของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ว่า จีนและกลุ่มประเทศหมู่เกาะในแปซิฟิกถือเป็น “พี่น้องกัน”

ส่วนสหรัฐ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ แม้ไม่แสดงออกอย่างเปิดเผย แต่น่าจะโล่งใจไม่น้อย ต่อการที่ข้อตกลงยังไม่ได้รับการลงนาม ทั้งสามประเทศยังคงมีความเคลือบแคลงสงสัยอย่างมากต่อความพยายามของรัฐบาลปักกิ่ง เนื่องจากไม่มีการเจาะจงประเด็นเกี่ยวกับความร่วมมือด้านการค้าเสรี ความร่วมมือทางการเมือง และการส่งเสริมความปลอดภัยทางไซเบอร์

นายกรัฐมนตรีเซียโอซี โซวาเลนี และนายหวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศจีน ลงนามร่วมกันในข้อตกลงความร่วมมือ ที่กรุงนูกูอาโลฟา เมืองหลวงของตองกา

ปัจจุบัน จีนเป็น 1 ใน 18 ประเทศคู่เจรจา ขององค์กรการประชุมหมู่เกาะแปซิฟิก ( พีไอเอฟ ) และคาดหวังว่า “วิสัยทัศน์” ของรัฐบาลปักกิ่ง จะได้รับการบรรจุให้เป็นหนึ่งในญัตติของการหารือ ซึ่งจะเกิดขึ้นในเดือนนี้ ที่ฟิจิ โดยออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ซึ่งเป็นสมาชิกของกรอบการเจรจานี้ จะเข้าร่วมประชุมด้วยแน่นอน

อนึ่ง จีนให้ความสนใจกับภูมิภาคแปซิฟิกมานานพอสมควรแล้ว โดยมอบความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องทั้งในด้านการค้า และการทูต อย่างต่อเนื่องรวมเป็นมูลค่ามากกว่า 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ( ราว 51,558.75 ล้านบาท ) ตั้งแต่ปี 2549 แต่รูปแบบของเงินที่จัดสรรให้ส่วนใหญ่เป็นไปในรูปของสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ

เมื่อวิเคราะห์ในแง่ของประวัติศาสตร์ และมุมมองด้านภูมิศาสตร์การเมืองในปัจจุบัน ภูมิภาคแปซิฟิกมีความสำคัญ เนื่องจากเป็นเส้นทางหลักในการบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อโลกกำลังเผชิญกับสถานการณ์สู้รบยืดเยื้อระหว่างยูเครนกับรัสเซีย ซึ่งถือเป็นความขัดแย้งด้านอาวุธครั้งใหญ่ที่สุด นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง

หากจีนสามารถเจาะเข้าสู่ภูมิภาคแห่งนี้ได้ ไม่เพียงแต่จะยิ่งเป็นการเพิ่มโอกาสให้กับรัฐบาลปักกิ่ง ในการยกระดับนโยบายปิดล้อมทางการทูตต่อไต้หวันได้เช่นกัน จากการที่กลุ่มประเทศในแถบนี้ส่วนใหญ่ ยังคงมีความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับรัฐบาลไทเป

อย่างไรก็ตาม การที่ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ยังคงถือว่าภูมิภาคแถบนี้เป็นเสมือน “หลังบ้าน” กลุ่มหมู่เกาะแปซิฟิกจึงกลายเป็นสมรภูมิใหม่ทางรัฐศาสตร์ไปโดยปริยาย และอาจสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญให้กับภูมิภาคแห่งนี้ได้อีกในอนาคต เนื่องจากแม้ความพยายามของจีน ในการจัดตั้งกรอบความร่วมมือระดับภูมิภาคยังไม่สำเร็จ ทว่ามีความเป็นไปได้มาก ที่ทั้งรัฐบาลปักกิ่ง ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ จะมุ่งเน้นการยกระดับความสัมพันธ์กับแต่ละประเทศแถบนี้ ในแบบทวิภาคีแทน.

ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป

เครดิตภาพ : REUTERS