ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ได้ผ่านการพิจารณาในวาระแรกของที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรไปเมื่อต้นเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา วงเงิน 3.185 ล้านล้านบาท เป็นการจัดงบประมาณแบบขาดดุลอีก 6.95 แสนล้านบาท

ถือว่า พล..ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะรัฐประหารตั้งแต่เดือน พ.. 57 เข้ามาจัดงบประมาณบริหารประเทศอย่างต่อเนื่อง 9 ปี (ปี 58-66) เป็นการจัดงบประมาณติดลบเพิ่มขึ้นทุกปี ทำให้จำนวนหนี้สาธารณะของไทยพุ่งสูงมากเป็นประวัติการณ์ จนต้องขยายกรอบเพดานจาก 60% เป็น 70% ของจีดีพี โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 .. 64

เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 65 สำนักบริหารหนี้สาธารณะเผยหนี้สาธารณะเดือน ก.พ. 65 อยู่ที่ 9.8 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนต่อจีดีพีเท่ากับ 60.17% ส่วนปัญหาน่ากลัวคือหนี้ครัวเรือนจาก 14.58 ล้านล้านบาท ในปี 64 จะขยับเป็น 15 ล้านล้านบาทในปี 65 ได้ไม่ยาก ด้วยปัจจัยค่าครองชีพสูง พลังงานแพง และเงินเฟ้อ 7.1% เมื่อเดือน พ.ค. 65 ถือว่าสูงสุดในรอบ 13 ปี

“พยัคฆ์น้อย” อ่านรายละเอียดร่างงบประมาณปี 66 และฟังการอภิปรายของ ส.ส.หลายคน ขอบอกตามตรงว่าด้วยประสิทธิภาพการบริหารงานของ พล.อ.ประยุทธ์ช่วง 8 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเห็น ๆ กันอยู่ว่าเป็นอย่างไร ประกอบกับยุทธศาสตร์ในการจัดงบประมาณลงไปในด้านต่าง ๆ ยังไม่ตอบโจทย์การแก้ปัญหาเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวหลังจากโควิด-19 คลี่คลายลง

เนื่องจากเป็นงบรายจ่ายประจำจำนวนมาก เพราะขนาด “รัฐราชการ” อุ้ยอ้ายขึ้น แต่งบลงทุนน้อย แถมยังไปกระจุกอยู่ทำเนียบรัฐบาล (งบกลาง) จึงไม่ตอบโจทย์เรื่องเศรษฐกิจปากท้องคนส่วนใหญ่ที่ยังยากจนเฉียด ๆ 20 ล้านคน

ไฮไลต์การอภิปรายงบประมาณเที่ยวนี้ แทนที่จะเป็นเรื่องการจัดงบเพื่อปัญหาปากท้อง กระตุ้นเศรษฐกิจ ฉุดการท่องเที่ยวให้ฟื้นตัวเร็ว ๆ แก้ปัญหาทางด้านสาธารณสุข ปัญหาทางการศึกษา ซึ่งผู้ปกครองบ่นกันมากเรื่องค่าใช้จ่ายสูง เด็กนักเรียนต้องออกจากระบบการศึกษาเป็นจำนวนมาก หลังสุดถึงขนาดอยากให้ยกเลิกวิชาลูกเสือ-เนตรนารี เพราะค่าชุดแพง!

แต่ไฮไลต์กลายเป็นเรื่องที่นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร และ น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ส.ส.เพื่อไทย ออกมาแฉว่ากองทัพเรือมีพิรุธ! จัดซื้ออากาศยานไร้คนขับ (ยูเอวี) 3 ลำ จากประเทศอิสราเอล แพงเว่อร์เฉียด ๆ 4,000 ล้านบาท ทั้งที่เป็นยูเอวีลาดตระเวน ไม่ได้ติดอาวุธ แถมมีข่าวยูเอวีรุ่นนี้บินตกบ่อย และซื้อแพงกว่ากองทัพฟิลิปปินส์ลำละเป็นพันล้านบาท

ส่วนกองทัพอากาศตั้งงบขอซื้อเครื่องบินรบเอฟ 35 ลำเปล่า ๆ จำนวน 2 ลำ ราคาลำละประมาณ 2,700 ล้านบาท

เด็ดไปกว่านั้น คือ นายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ ส.ส.ฉะเชิงเทรา พรรคก้าวไกล ออกมาแฉกองทัพบกทำสัญญาจ้างมูลค่า 7,570,000 บาท ให้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ไปผ่า-แงะตรวจสอบเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด “จีที 200” หรือไม้ล้างป่าช้าลวงโลก 757 เครื่อง ตกเครื่องละ 10,000 บาท

จีที 200” ต้นทุนเครื่องละไม่ถึง 1,000 บาท แต่หน่วยงานรัฐจัดซื้อในราคาไม่เท่ากัน ราคาสวิงกันมาก โดยเฉพาะกองทัพบกในยุค พล..อนุพงษ์ เผ่าจินดา เป็น ผบ.ทบ. จัดซื้อมากที่สุด 757 เครื่อง เครื่องละ 9 แสนบาท

วันก่อน นพ.เรวัต วิศรุตเวช ส.ส.พรรคเสรีรวมไทย พูดเข้าท่าว่า “สำนักงานอัยการสูงสุดยืนยันว่าไม่จำเป็นต้องตรวจอีกเพราะคดีถึงที่สุดแล้ว เรื่องนี้เป็นรูปธรรมของสำนวนโง่แต่ขยัน หมายถึงขยันจะตรวจทั้งที่อัยการบอกว่าไม่ต้อง แต่โง่จนตรวจเองไม่ได้ ต้องจ้าง สวทช.เครื่องละหมื่น ที่จริงจีที 200 ไม่ใช่เครื่องตรวจระเบิด แต่เป็นเครื่องตรวจคนแกล้งโง่”

“พยัคฆ์น้อย” ขอฝาก “องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ-ป.ป.ช.” ช่วยลากนายพันและนายพลที่เกี่ยวข้องกับจีที 200 ไปขึ้นเขียงรับโทษเสียที! เพราะเรื่องนี้คาราคาซังมานานแล้ว ป.ป.ช.จ๋า!!

——————————-
พยัคฆ์น้อย