ต้องจับตาวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ระหว่างวันที่ 22 พ.ค. – 18 ก.ย.65 โดยเฉพาะไฮไลท์ศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่คาดว่าน่าจะดุเดือดแน่นอน เพราะฝ่ายค้านมีการจ่อคิวเรียงหน้าถล่มรัฐบาลเปิดแผลซ้ำ “ทีมการเมืองเดลินิวส์” จึงต้องมาสนทนากับ “นิโรธ สุนทรเลขา” ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ถึงกลยุทธ์ในการเตรียมรับมือกับศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ มีความมั่นใจหรือไม่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม จะสามารถเอาอยู่บริหารประเทศไปจนครบวาระต่อไปได้ไม่สะดุด

โดย“ประธานวิปรัฐบาล” เปิดฉากกล่าว่า ไม่ต้องมีกลยุทธ์ในเรื่องของเสียงร่วมพรรครัฐบาล เพราะรัฐบาลเสียงมั่นคงอยู่แล้ว แต่ที่ผ่านมาไม่ได้พูดให้สื่อมวลชนหรือประชาชนรับทราบว่า รัฐบาลมีเสียงส.ส.อยู่ในมือเท่าไหร่ มีแต่พรรคฝ่ายค้านประสานเสียงกันเองคือพยายามเดาเกมรัฐบาลว่า “เสียงไม่พอ” ซึ่งเราไม่ได้วิตกกังวล เพราะพอถึงเวลาก็แสดงให้เห็นถึงความมั่นคงของรัฐบาล ดังนั้นศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจผมมั่นใจว่าเสียงของเรายังคงมั่นคง

@ มั่นใจในเสียงพรรคขนาดเล็ก รวมถึงพรรคเศรษฐกิจไทยที่ถูกจับตาเป็นตัวแปรสำคัญในการลงมติ

ผมเชื่อมั่นว่าทางพรรคเศรษฐกิจไทยก็ยังอยู่กับรัฐบาล เพราะยังเป็นวิปในสัดส่วนโควตาของรัฐบาล ถ้าไปเป็นฝ่ายค้านหรือฝ่ายที่ไม่มีสังกัด ก็คงไม่ได้เป็นวิปของรัฐบาล ดังนั้นผมจึงมองว่าวันนี้พรรคเศรษฐกิจไทยยังอยู่กับรัฐบาล ส่วนพรรคเล็กแต่ละพรรคนั้น ผมเป็นคนให้เกียรติหัวหน้าทุกพรรค เพราะจะเป็นหลักของสภา ไม่ว่าจะเป็นพรรคขนาดเล็ก หรือขนาดใหญ่ ผมมั่นใจว่าพรรคเศรษฐกิจไทยและพรรคเล็กก็ยังอยู่ร่วมกับรัฐบาล เพราะดูจากการโหวตร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี66ในวาระแรกที่ผ่านมา เพราะเมื่อถึงเวลาที่รัฐบาลต้องใช้เสียง พวกเขาก็โหวตให้รัฐบาล

@ฝ่ายค้านประกาศคว่ำร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี66วาระแรก แต่ไม่สำเร็จ ถ้าเข้าสู่วาระ 2-3 อาจจ้องคว่ำอีก หนักใจหรือไม่

ผมไม่หนักใจ แต่ชุดความคิดแบบนี้ ในการที่จะคว่ำงบประมาณถือว่าเป็นชุดความคิดที่ไม่ถูกต้อง ถ้าเป็นตรรกะก็ไม่อยากพูดคำว่า “วิบัติ” เพราะชุดความคิดแบบนี้มันไม่ใช่จิตวิญญาณของคนที่เป็นผู้แทนราษฎร ใช้ไม่ได้ ไม่รู้ว่าใครเป็นคนให้ชุดความคิดแบบนี้มากับทางฝ่ายค้าน เพราะถ้าคนที่มีจิตวิญญาณทางการเมือง มีความเป็นผู้แทนราษฎรแล้ว ในเรื่องงบประมาณจะไม่มีการมาคว่ำ เพียงแต่ส่วนไหนที่ไม่เห็นด้วยก็อภิปราย และบอกมา เพื่อนำสู่การแก้ไขในชั้นกรรมาธิการวิสามัญฯ

@ศึกซักฟอกรอบนี้จะเป็นครั้งสุดท้ายของรัฐบาล ฝ่ายค้านเตรียมจัดหนักแน่โดยเฉพาะ “นายกฯ”จะมีการตั้งทีม “องครักษ์”หรือไม่

ตอนนี้ถือว่าเป็นมิติใหม่หลังจากที่ผมมาเป็นประธานวิปรัฐบาลจะเห็นว่า การประท้วงที่ไม่เป็นเรื่องเป็นราว หรือไร้สาระจะหายไป ซึ่งในการพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี 66 ที่ผ่านมา จะเห็นว่า การประท้วงแบบไร้สาระหายไปเกือบหมด แทบจะไม่มีการประท้วง ตราบใดที่ฝ่ายค้านยังอภิปรายอยู่ในเนื้อหาสาระ แต่ถ้าบางเรื่องไม่ได้อยู่ในเนื้อหาสาระและไม่รุนแรงอะไร เราจะเน้นในเรื่องของความประนีประนอมเพื่อให้สภาเดินหน้าไปได้

“ส่วนการจะตั้งองครักษ์พิทักษ์นายกฯ นั้นผมว่าไม่จำเป็นซึ่งในส่วนขององครักษ์พิทักษ์นายกฯไม่จำเป็นต้องมี เพราะท่านนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้ารัฐบาล ทั้งนายกฯ และคณะรัฐมนตรี ผมคิดว่าท่านเหล่านั้นไม่ได้เป็น “คนร้าย” หรือทำอะไรที่จะต้องมีใครมาเป็นองครักษ์พิทักษ์ ซึ่งท่านทราบดีว่าท่านบริหารราชการแผ่นดินแบบไหน กระทรวงไหนท่านทราบหมด เพราะฉะนั้นท่านตอบได้ แม้แต่การจัดสรรงบประมาณท่านก็รับทราบ เพราะท่านนายกฯเป็นคนอ่านหนังสือ อ่านงบ ฯท่านอ่านทุกตัวอักษร จึงสามารถรู้และโต้ตอบได้ทันที ดังนั้นจึงไม่ต้องมีองครักษ์ เพราะท่านไม่ได้ทำอะไรผิด ถ้าเป็นคนร้ายถึงต้องมีคนคอยคุ้มกัน มีองครักษ์ ซึ่งผมเชื่อมั่นว่าท่านทำได้ สามารถอธิบายได้ตลอด เพราะท่านเป็นคนทำงานกับมือของท่านเอง”

@ ปัญหา “คลื่นใต้น้ำ”อาจเกิดขึ้นอีกครั้งคล้ายๆศึกอภิปรายครั้งล่าสุดห่วงหรือไม่

จากเหตุการณ์ครั้งที่แล้วผมไม่ทราบว่าเป็นจริงหรือไม่ ก็เป็นแค่การพูดกันไป แล้วด้อยค่ากันไป บางทีนักการเมืองปัจจุบัน ผมว่าจะไปด้อยค่าพรรคการเมืองฝั่งตรงข้ามตลอดอย่างที่ผมเคยพูดบางคนก็ด้อยค่ารัฐบาล บางคนก็ว่าประเทศไทย ด้อยค่าประเทศตัวเอง หรือไปด้อยค่าพรรคการเมืองอื่นๆ ที่อยู่ฝั่งตรงข้าม ซึ่งผมว่าไม่น่าจะทำเรื่องอย่างนี้ ถ้ามีอะไรควรจะมาพูดกัน เพราะงานของสภาเป็นงานที่ต้องเดินไปตามครรลองเพื่อให้สภาเดินหน้าต่อไปได้ ประชาชนไม่เบื่อหน่าย แต่สิ่งที่ฝ่ายค้านทำหลายๆเรื่อง ผมว่าประชาชนจะเบื่อหน่าย

@ตั้งแต่ที่รับตำแหน่งประธานวิปรัฐบาลมีปัญหาเจออุปสรรคในการทำงานอะไรบ้างหรือไม่

ต้องยอมรับว่าผมไม่เคยเป็นประธานมาก่อน ในช่วงแรกยอมรับว่า เหมือนงงๆ ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรให้ถูก แต่ถามว่าหนักใจหรือไม่ ตอบเลยว่าไม่หนักใจ เพราะการเป็นวิปของวิปรัฐบาลของประเทศ คือ เราเอาชื่อเขามาจากต่างประเทศ ซึ่งในต่างประเทศคำว่า “วิป” มีบทบาทอำนาจมาก แต่ในประเทศไทย วิป เป็นเครื่องมือของรัฐบาลที่วิปจะต้องเข้าใจบทบาทหน้าทีของตัวเองว่า วิปเป็นเครื่องมือของรัฐบาลเพื่อนำความ เรื่องราวของครม.ว่า มีมติอย่างไร

คณะรัฐมนตรีประกอบด้วยพรรคร่วมรัฐบาล ถ้ามีมติอย่างไรก็แจ้งมาทางวิปว่าเรื่องนี้เป็นอย่างนี้ มีมติอย่างนี้ วิปก็นำมาพิจารณา ดังนั้นวิปประกอบด้วยพรรคการเมืองที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาลก็พิจารณาให้ละเอียดขึ้นว่าจะนำเสนอเข้าสภาในลักษณะไหน จังหวะไหน เวลาไหน เพื่อจัดระบบของการลำเลียงกฎหมายเข้าสู่สภา ให้เป็นไปตามระบบ ระเบียบ แล้วประธานสภาจะได้บรรจุระเบียบวาระ แต่บางคนอาจจะไม่เข้าใจ เอาความรู้สึกส่วนตัวเข้ามา เอาความรู้สึกด้านนอกเข้ามา แต่การจะมาทำหน้าที่วิป ต้องรู้จักหน้าที่นี้เหมือนกัน
ส่วนปัญหา “สภาล่ม” เท่าที่ฟังมา ทางฝ่ายค้านบอกว่าจะกดดันรัฐบาล กดดันฝ่ายบริหารให้เห็นว่าไม่มีศักยภาพ ซึ่งจริงๆ ไม่เกี่ยวเลย สภาล่มเป็นการชี้ให้เห็นว่าส.ส.ในสภา ทำงานหรือไม่ทำงานต่างหาก ล่มสภาก็เสียหาย ไม่ได้เกี่ยวกับรัฐบาลจะไปกดดันให้นายกฯลาออกคงไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องนิติบัญญัติ คุณไม่ทำงานประชาชนก็เห็น นี่เป็นหน้าที่ของผู้แทนราษฎร เพราะฉะนั้นสภาครบองค์ หรือไม่ครบองค์ ตรงนี้เป็นความดี ความเสียหายของผู้แทนเอง

ผมมั่นใจว่าสภาชุดนี้จะอยู่ครบวาระ4ปี แต่ว่าอาจจะมีเรื่องทางเทคนิคที่อาจจะใกล้ถึงวันสมัคร ส.ส.อาจจะมีเทคนิคนิดนึง แต่คิดว่ารัฐบาลเอาอยู่ เสียงรัฐบาลยังแน่น แล้วงานในสภาก็เริ่มเข้าใจ ตอนนี้ทำงานได้ ผมรู้ว่าต้องทำอย่างไรซึ่งการทำงานของสภาก็ดีขึ้น.