เดือนกรกฎาคมก็จัดว่าการเมืองร้อนหนักอยู่ เพราะจะต้องมีการพิจารณากฎหมายลูกเพื่อจัดการเลือกตั้ง ประกอบด้วย พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ พ.ร.ป.พรรคการเมือง ซึ่งเรื่องการเลือกตั้ง ส.ส.นี้ความที่มันเป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ก็มีขั้นตอนที่ต้องให้ กกต.และศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ตรงนี้ก็ต้องดูพรรคเล็กเดินเกมเรียกร้องว่าขัดต่อเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ เนื่องจากการคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ไม่กำหนดจำนวน ส.ส.ที่พึงมีและให้ใช้บัตรดีหาร 100 ทำให้พรรคเล็กมีโอกาสสูญพันธุ์ได้เลย

ต่อจากนั้น ราววันที่ 18 ก.ค. ก็จะมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลต่อ ซึ่งฝ่ายค้านล็อคเป้าไว้แล้วคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม และรัฐมนตรีอีก 10 คน โจทย์ที่ชัดเจนที่สุดคือเรื่องกรณีบริษัทอีสต์วอเตอร์ ( ที่การประปาภูมิภาคถือหุ้นจำนวนมาก ) ไม่ได้สัมปทานทำท่อส่งน้ำโครงการอีอีซี กลับไปประมูลใหม่ได้บริษัทวงษ์สยาม ซึ่งนายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร หัวหมู่ทะลวงฟันของพรรคเพื่อไทย  บอกว่า“เรื่องนี้มีเงื่อนงำ” อภิปรายนายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ( พปชร.) แน่นอน

คนที่น่าสนใจคือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ซึ่งไม่รู้จะโดนอะไรเพราะฝ่ายค้านบางคนก็ยังยอมรับว่า ไม่มีหน่วยงานที่รับผิดชอบชัดเจน แต่เหมือนรับผิดชอบเชิงนโยบาย เช่น การแก้ไขหนี้นอกระบบ การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ แต่เห็น“หมอเก่ง”น.พ.วาโย อัศวรุ่งเรือง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ออกมาพูดเรื่องการจัดสรรงบประมาณของกรมทรัพยากรน้ำ มีเงินจำนวนมากที่โอนไปให้ทหารจัดการโดยอ้างว่า มีความพร้อมเรื่องเครื่องมือและอัตรากำลังพลมากกว่า แต่กลายเป็นว่า ไปดำเนินการในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ส่วนหนึ่ง ซึ่งไม่ใช้วิธีจัดซื้อจัดจ้างตามปกติ แถมไม่สามารถทำงานได้ครบตามสัญญา

ตรงนี้มีการชี้แจงมาว่า การส่งมอบงานต่อมีปัญหาล่าช้าเพราะส่งมอบในช่วงปี 63 ที่ไทยประสบปัญหาวิกฤตโควิดพอดี มันก็ติดขัดกันไปหมด ไม่ใช่ทำงานได้ไม่ครบแต่มันล่าช้า ..เรื่องบริหารจัดการน้ำนี่ไม่คิดว่าเป็นโจทย์ที่ตอบยากสำหรับ พล.อ.ประวิตร เพราะรัฐมนตรีอื่นที่เกี่ยวข้องอาจใช้สิทธิถูกพาดพิงชี้แจงแทนได้ แต่ที่น่าสนใจคือ พล.อ.ประวิตรจะโดนเรื่องใหม่ๆ อะไรบ้างเพื่อทุบกล่องดวงใจพรรค พปชร. เพราะที่ผ่านมาพรรคก้าวไกลจ้องเล่นตลอด อภิปรายตั้งแต่เรื่องตั๋วช้าง เรื่องเหตุเกิดในบ้านป่ารอยต่อ จนล่าสุดอภิปรายไม่ลงมติ โดนพาดพิงเรื่องโยกย้ายตำรวจทำคดีค้ามนุษย์โรฮิงญา

อย่างไรก็ตาม ไอ้ที่เข้มข้นไม่น่าจะใช่เรื่องของเนื้อหาอภิปราย  เพราะน่าจะน้ำเยอะเนื่องจากหวังผลเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในปีหน้า ( จะเอาความเข้มข้นก็ต้องดูว่ามีประเด็นไหนยื่น ป.ป.ช.ฟันทุจริตรัฐมนตรีได้บ้าง ไม่ใช่แค่ข้อหาบกพร่อง ปล่อยปละละเลยในการปฏิบัติหน้าที่ ) แต่เป็นเรื่องการโหวต

ก็เป็นที่เห็นๆ กันถึงท่าทีของกลุ่มพรรคเล็กกับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า หัวหน้าพรรคเศรษฐกิจไทย ที่ดูแลพรรคเล็กมาตลอด ซึ่งในสถานะที่รัฐบาลเสียงปริ่มขนาดนี้ เสียงพวกนี้มีมากพอที่จะสวิงผลโหวตคว่ำรัฐมนตรีบางคนได้ หรือถึงคว่ำนายกฯ ได้ ..บางคนอาจคิดว่า “รัฐบาลก็เลี้ยงงูเห่าไว้ในพรรคฝ่ายค้าน” แต่เอาจริงโอกาสที่งูเห่าในรัฐบาลเองก็มีเหมือนกัน อาจเป็น “กลุ่มฝากเลี้ยง”ของ ร.อ.ธรรมนัสที่หยั่งท่าทีอยู่ไม่ตามออกไปเศรษฐกิจไทยทันที หรือกลุ่มในพรรคร่วมรัฐบาลที่อยากไปร่วมฝ่ายค้านหรือพรรคใหม่ เพราะภาพลักษณ์ของพรรค พปชร. ในการเลือกตั้งเที่ยวหน้ากลับมาตั้งรัฐบาลดูจะยาก …การโหวตเป็นเอกสิทธิ์ของ ส.ส. ไม่เช่นนั้นกฎหมายสุราก้าวหน้ากับกฎหมายสมรสเท่าเทียมจะมีการแหกมติวิปรัฐบาลจนกฎหมายของฝ่ายค้านผ่านวาระแรกหรือ

ที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งในการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ คือ “ท่าทีของกลุ่มทุน” ..ซึ่งในวงการการเมือง ทุนกับอำนาจมันจะเกื้อหนุนกันอยู่ ถ้ากลุ่มทุนเห็นว่า “กระแสรัฐบาลนี้ไม่ดีจนสมัยหน้าไม่ได้กลับมาแล้ว” ก็อาจเปลี่ยนไปเข้าหาพรรคหรือฝ่ายที่มีโอกาสจะเป็นรัฐบาลในปีหน้าได้ ..ลอยแพการช่วยเหลือหรือสนับสนุนรัฐบาลนี้…ถามว่า กลุ่มทุนจะเข้ามาช่วยอย่างไร ? เว้ากันซื่อๆ คือ “เป็นไปได้หรือไม่ ? ที่ถ้าช่วย คือการต่อรองผลประโยชน์  หาวิธีเพิ่มเสียงไว้วางใจให้รัฐบาล”  ทำอย่างไรก็แล้วแต่ …แต่เอาเป็นว่า ภาวะตอนนี้ภาพของพรรค พปชร.ไม่ได้ดีเท่าไรนัก

ทุนพลังงานเป็นกลุ่มที่ถูกจับตาที่สุดว่า “กำลังจะลอยแพรัฐบาลบิ๊กตู่หรือไม่ ? ” เนื่องจากปรากฏการณ์แรกที่คนสงสัยกันไปหมดคือการไม่อภิปรายนายสุพัฒนพงษ์ พันธุ์มีเชาว์ รองนายกฯ และ รมว.พลังงาน ทำงานในวงการพลังงานมาก่อน ซึ่งเป็นโควตาที่ไม่แน่ใจว่ามาในส่วนของ คสช.หรือพรรค พปชร. พรรคฝ่ายค้านโดยเฉพาะทางเพื่อไทยก็แบ่งรับแบ่งสู้บอกว่า “เรื่องพลังงานแพงจนเดือดร้อนกันทั้งแผ่นดิน ต้องอภิปรายนายกฯ ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ และจะต้องมีการพาดพิงนายสุพัฒนพงษ์แน่นอน” ซึ่ง“บิ๊กตู่”ก็ต้องโดนไป เพราะเอาสภาความมั่นคงแห่งชาติ ( สมช.) มาช่วยดูพลังงาน ..แบบเหมือนไม่รู้จะสั่งใคร ตอนโควิดก็เอา สมช.มาช่วยดู

แต่ตัว รมว.พลังงานไม่มีอำนาจและไม่มีการต่อรองอะไรได้เลยหรือเกี่ยวกับราคาพลังงาน ? แม้กระทั่งคนในฝ่ายรัฐบาลอย่างนายอัครเดช พรพิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี พรรคประชาธิปัตย์ ก็ยังเรียกร้องให้ฝ่ายค้านรื้อญัตติ แล้วใส่ชื่อนายสุพัฒนพงษ์แทนนายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน โดยบอกว่ามีหลักฐานชี้ให้เห็นความไม่ชอบธรรมในการทำงาน ..ขณะที่นายสุชาตินั้น มีผลงานเรื่องการดูแลแรงงานในช่วงโควิด การพัฒนาฝีมือแรงงาน และกำลังจะมีบทบาทในการจัดส่งแรงงานไปซาอุดิอาระเบีย หลังจากที่ถูกลดระดับความสัมพันธ์มานาน

แม้แต่คนในพรรคร่วมรัฐบาล หรือนายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า ก็ยังโจมตีเรื่องราคาค่ากลั่นแพงไปหรือไม่ เช่นนี้เอื้อประโยชน์ต่อโรงกลั่นหรือไม่ ( ซึ่งนายกรณ์พาดพิงมาถึงนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ด้วยที่คุมราคาน้ำมันไม่ได้ ) และเรื่องราคาน้ำมันแพงมีผลให้รถทัวร์หยุดวิ่ง ค่าครองชีพสูงขึ้นตามมา ทำให้ดูเหมือนจะกลายเป็นเรื่องใหญ่ที่สุดที่ควรจะอภิปราย  เพราะกระทบปากท้องประชาชน แต่นายสุพัฒนพงษ์รอด

คนที่ถูกมองว่าใกล้ชิดกับกลุ่มทุนพลังงาน คือนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดีอีเอส ที่ในระยะหลังมีภาพการทำงานที่ใกล้ชิดกับนายกฯ อย่างมาก ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจด้วย  อีกคนหนึ่งที่เกี่ยวกับเรื่องพลังงานแม้ไม่ใช่กระทรวงพลังงานโดยตรง คือ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ก็โดนอภิปรายไม่ไว้วางใจ ..“ความเกี่ยวพัน”ที่ว่าคือกระทรวงมหาดไทยกำกับดูแลการไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าภูมิภาค ซึ่งญัตติของ พล.อ.อนุพงษ์ก็ไม่ชัดว่าจะอภิปรายเจาะจงประเด็นไหน พอเป็นภาพกว้างก็คาดเดากันไปได้หลากหลาย ก็รอดูว่าเกี่ยวกับเรื่องค่าไฟฟ้าหรือไม่  

จึงเป็นที่น่าสงสัยว่า เบื้องหลังกลุ่มทุนพลังงานทิ้งเครือข่าย พล.อ.ประยุทธ์หรือไม่ แต่อุ้มนายสุพัฒนพงษ์ไว้เพราะยังใช้ได้ …ทิ้งคนสนิท พล.อ.ประยุทธ์เพื่อให้ฝ่ายที่เขา“จะสนับสนุน”เห็นว่า ไม่เอาแล้วกับรัฐบาลนี้ ..การเป็นกลุ่มทุนขนาดใหญ่นั้น ไม่เล่นการเมืองแบบขั้วเดียวแน่ๆ เราก็คงจะเห็นบริษัทยักษ์ใหญ่ของเจ้าสัวไทยว่า “อยู่ขั้วไหนก็ได้” ยิ่งเรื่องพลังงานเป็นเรื่องสำคัญที่มีลักษณะแทบจะกึ่งผูกขาด ก็คือกลุ่มทุนใหญ่นั่นแหละที่เขาก็ต้องการจะอยู่ขั้วไหนก็ได้เหมือนกัน เพื่อรักษาการผูกขาด ซึ่งต้องใช้อำนาจในทางการเมืองเข้ามาช่วย  

ทุนกับการเมืองมีความเกี่ยวพันกันเสมอ นักการเมืองก็ต้องการทุน เครือข่ายธุรกิจใหญ่ก็ต้องการนโยบายที่เอื้อประโยชน์ สัญญาณการอภิปรายคนใกล้ชิดบิ๊กตู่ แต่ไม่อภิปรายคนที่ดูแลด้านพลังงานโดยตรง น่าจะทำให้ต่างก็ประเมินอนาคตของรัฐบาลแล้ว ..พรรคที่ไม่มีทุนก็ขับเคลื่อนไม่ได้  เป็นเรื่องที่ท่าทางบิ๊กตู่น่าจะหืดขึ้นคออยู่ไม่ใช่น้อยที่จะประคองรัฐนาวาผ่านศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ และจะยิ่งหืดขึ้นคอหนักในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ถ้าพรรค พปชร.ยังจะชูบิ๊กตู่เป็นแคนดิเดตนายกฯ ตามสัญญาใจที่ พี่ป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคมีให้น้องเล็ก 3 ป.

เหลี่ยมแต้มคูทางการเมืองมีเยอะ ทุนกับอำนาจเขาต่อรองกันอย่างไรมันมีตัวแปรให้พลิกได้ตลอดเวลา แต่ตอนนี้รอดูเถอะว่า “ที่สุดแล้วสรุปได้ว่ากลุ่มทุนพลังงานตีจาก พปชร.”หรือไม่.

………………………………………………………
คอลัมน์ : ที่เห็นและเป็นอยู่
โดย “บุหงาตันหยง”