ทีมการเมืองเดลินิวส์ จึงมาสนทนากับ “นิพนธ์ บุญญามณี” รมช.มหาดไทย และรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ถึงการเตรียมพร้อมรับมือกับการสู้ศึกซักฟอกที่ต้องจับตาครั้งนี้   

โดย “นิพนธ์ บุญญามณี” เปิดฉากด้วยการเก็งข้อสอบของฝ่ายค้านรอบนี้ ว่า หลังจากฝ่ายค้านเคยอภิปรายไม่ไว้วางใจผมครั้งที่แล้ว และได้ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรีของผม จากเรื่องคำสั่งกระทรวงมหาดไทยที่ให้พ้นจากตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สงขลา ที่เป็นผลจากกรณีไม่จ่ายค่ารถบำรุงอเนกประสงค์ซ่อมบำรุงทาง 2 คันให้แก่บริษัทเอกชน สมัยที่ผมเป็นนายก อบจ.สงขลา ซึ่งแม้ศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องแล้ว แต่บอกว่าไม่มีเหตุให้สั่งผมหยุดปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรี

ดังนั้นในครั้งนี้ ฝ่ายค้านอาจมีข้อสงสัยหรือมีข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้อีก จากการที่ผู้บริหารของบริษัทดังกล่าวเคยร้องเรียนต่อคณะกรรมาธิการของสภาฯ อย่างไรก็ตาม เรื่องการจัดซื้อรถดังกล่าว ผมเคยอธิบายแล้วว่า พบหลักฐานการฮั้วประมูล และมีการตั้งบริษัทผีในต่างประเทศแล้วถูกนำมาใช้เป็นคู่เทียบ อีกทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจได้สืบสวนสอบสวนคดีนี้จนกระทั่งเชื่อได้ว่าบริษัทผู้ชนะการประมูลและบริษัทคู่เทียบอยู่ในเครือเดียวกัน ตำรวจจึงสั่งฟ้อง แต่ผู้ต้องหาไม่มาตามหมายเรียก ทำให้ตำรวจร้องขอต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 9 ให้ออกหมายจับแล้ว และมีการจับผู้ต้องหาได้แล้ว

ขณะที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ยังมีมติให้แจ้งความดำเนินคดีกับพวกฮั้วประมูล ซึ่งบางคนถูกจับแล้ว และศาลฯ ยังไม่ให้ประกันตัว ก็แสดงให้เห็นว่า ป.ป.ช. ยังเชื่อว่ามีการฮั้วประมูล แล้วแบบนี้ผมผิดจริยธรรมตรงไหนจากการไม่เงินจ่ายค่ารถดังกล่าวในสมัยที่ผมเป็นนายก อบจ. ผมยืนยันว่า สามารถชี้แจงได้ทุกมุมของเรื่องนี้ว่าได้ทำเพื่อรักษาผลประโยชน์ของแผ่นดิน ของ อบจ.สงขลา และรักษาผลประโยชน์ของชาวบ้าน

 @ คิดว่ายังมีเรื่องใดอีกหรือไม่ที่ฝ่ายค้านน่าจะนำมาอภิปรายฯ

ในญัตติขอเปิดการอภิปรายฯ เขาระบุถึงผมว่าจงใจกลั่นแกล้ง ก็คงจะกล่าวหาผมในฐานะที่กำกับดูแลกรมที่ดิน โดยเขาคงนำกรณีที่กรมที่ดินไม่ได้เพิกถอนโฉนดที่ดินเขากระโดงใน จ.บุรีรัมย์ หรืออาจหยิบยกเรื่องที่ดินบริเวณอื่นๆที่มีปัญหาอยู่ มาเทียบเคียงกับการเพิกถอนเอกสารสิทธิที่ดินของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ (ประธานคณะก้าวหน้า) และของคนในครอบครัวเขา ซึ่งฝ่ายค้านอาจเข้าใจผมผิดหรือโกรธผมว่าทำไมให้กรมที่ดินเพิกถอนเอกสารสิทธิที่ดินดังกล่าว ผมจึงจะขอใช้เวทีนี้ชี้แจงว่าไม่ได้ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ทุกอย่างทำตามกฎหมาย ทำตามอำนาจหน้าที่ของหน่วยงาน ไม่ได้ใช้อำนาจไปรังแกหรือสร้างความเสียหายให้ใคร โดยเรื่องที่ดินของนายธนาธร มาจากกรมป่าไม้ร้องเรียนให้กรมที่ดินไปตรวจสอบ ซึ่งกรมที่ดินไม่มีทางเลือกเป็นอย่างอื่น ก็ต้องทำ โดยผมได้กำชับกับเจ้าหน้าที่แล้วว่าต้องให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย ถ้าตรวจสอบแล้วพบว่ามีที่ดินของเขาส่วนไหนไม่ได้รุกล้ำพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ก็ต้องไปแก้เอกสารสิทธิแก้โฉนด แล้วคืนในส่วนที่ไม่ได้อยู่ในเขตป่าสงวนให้เขาไป

@ ปชป.มีรัฐมนตรี 3 คนที่ถูกอภิปรายฯในครั้งนี้ ได้เตรียมความพร้อมอย่างไรบ้าง

การทำงานที่ผ่านมาของหัวหน้าพรรคฯ “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” ในฐานะ รมว.พาณิชย์ ทั้งท่าน “จุติ ไกรฤกษ์” รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และผม ไม่ได้ปล่อยปละละเลยให้ใครไปทำอะไรที่สร้างความเสื่อมเสีย และผมมั่นใจว่าพวกเราทั้ง 3 คนสามารถชี้แจงข้อเท็จจริงและเหตุผลต่อทุกข้อกล่าวหาได้แน่นอน ทุกอย่างหนีความจริงไม่พ้น เมื่อตั้งอยู่บนข้อเท็จจริงแล้ว ไม่ว่าใครจะถามอย่างไร เราก็อธิบายได้ และประชาชนจะได้รู้ว่ารัฐมนตรีของพรรคฯ ได้ทำอะไรไปแล้ว แก้ปัญหาบ้านเมืองอย่างไรบ้าง

@ คาดว่าการอภิปรายฯ ครั้งนี้ที่จะเป็นครั้งสุดท้ายของสภาฯ ชุดนี้จะเข้มข้น ดุเดือดกว่าทุกครั้งหรือไม่

การอภิปรายไม่ไว้วางใจไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่เป็นเรื่องปกติในระบอบประชาธิปไตยที่ทำกันอยู่ทุกปีตามที่รัฐธรรมนูญให้อำนาจหน้าที่ไว้ เป็นการทำหน้าที่ถ่วงดุลกันระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายค้าน โดยฝ่ายค้านหน้าที่ตรวจสอบฝ่ายบริหารว่า ได้บริหารราชการแผ่นดินเป็นไปตามนโยบายหรือไม่ โปร่งใสหรือไม่ มีประสิทธิภาพหรือไม่ ซึ่งสมัยที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายค้าน ได้เปิดการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีมาตลอด ทั้งนี้เรื่องการอภิปรายไม่ไว้วางใจฯ ถ้ามองว่ามันเป็นวิกฤติ ถือเป็นการมองในแง่ลบเกินไป แต่ผมมองในแง่บวกว่าผู้ที่ถูกอภิปรายฯ จะได้มีโอกาสชี้แจงผลงานหรือสิ่งที่ตัวเองได้ทำ และจะได้นำข้อมูลมาทำความเข้าใจกับประชาชนทั้งประเทศด้วย เพราะมีการถ่ายทอดสดการอภิปรายฯ ดังนั้น ทางที่ดีที่สุดในตอนนี้ คือเราต้องทำการบ้านให้ดี เตรียมข้อมูลทุกประเด็น ทุกเรื่องไว้ให้พร้อมที่สุด เพื่อนำไปสู่การสร้างความเข้าใจกับประชาชน

@ นอกจากมีการจับตามองข้อมูลเนื้อหาการอภิปรายฯ แล้ว เรื่องเสียงโหวตของ ส.ส.ในรอบนี้ก็ถือว่าสำคัญเช่นกันปชป.มั่นใจหรือเสียงโหวตหรือไม่

ที่มีบางคนบอกว่ารัฐมนตรีที่ได้รับคะแนนเสียงไว้วางใจต่ำสุด ต้องพิจารณาตัวเองนั้น นั่นเป็นความรู้สึกส่วนตัวของผู้พูด แต่ไม่ใช่กติกาสำหรับการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งต้องดูที่คะแนนเสียงไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีคนนั้นๆ เป็นหลักว่ามีเกินกึ่งหนึ่งของจำนวน ส.ส.ที่มาลงมติทั้งหมดหรือไม่ ถ้าฝ่ายค้านสามารถระดมเสียงไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีได้เกินกึ่งหนึ่ง ก็แสดงให้เห็นว่าเขาสามารถสั่นคลอนเสถียรภาพของรัฐบาลได้ ดังนั้นพรรคแกนนำรัฐบาลจึงมีหน้าที่ที่ต้องดูแลเรื่องคะแนนเสียงดังกล่าว ขณะที่พรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรคก็คิดถึงความมั่นใจในคะแนนของตัวเอง และต้องช่วยดูแลเสียงโหวตด้วย 

สำหรับการโหวตของ ส.ส.ประชาธิปัตย์ เราพยายามดูแลให้ดีที่สุด ขณะเดียวกันเรามีมติพรรคฯอยู่แล้วว่าจะทำอย่างไร ขณะเดียวกัน เราต้องเชื่อใจ ส.ส.ของพรรคอยู่แล้วว่าทุกคนจะทำตามมติพรรคฯ ส่วนใครจะไม่ปฏิบัติตาม ก็ต้องมาชี้แจงว่าเขามีเหตุผลอย่างไร แต่โดยหลัก ส.ส.ใน ปชป.ทุกคนทำตามมติพรรคอยู่แล้ว.