ขึ้นชื่อว่าเรื่อง “ฟัน” แล้ว.. อาจเป็นเรื่องที่หลายคนมองข้าม ในเมื่อยังทานข้าวอร่อยเป็นปกติ แต่ทราบหรือไม่? ว่าเมื่อเกิดปัญหาภายในช่องปากแล้ว กลับกลายเป็นทุกข์อย่างยิ่งยวด! ซึ่งหนึ่งในนั้นคือปัญหาเรื่องของ “ฟันคุด” ที่สร้างความทรมาน จนหลายๆ คนถึงขั้นต้องผ่าฟันคุดกันเลยทีเดียว..

วันนี้ Healthy Clean จึงขอพาทุกท่านมาพูดคุยกับ ทันตแพทย์อำนาจ ลิขิตกุลธนพร ผอ.สถาบันทันตกรรม ให้ข้อมูลว่า ฟันคุดคือฟันที่ไม่สามารถขึ้นในช่องปากได้ตามปกติ โดยมักจะเกิดกับฟันกรามล่างซี่ที่ 3 ซึ่งอยู่ด้านในสุด ซึ่งจะขึ้นในช่วงอายุระหว่าง 18-25 ปี ขณะที่สาเหตุของฟันคุดอาจเกิดจากการมีพื้นที่ความยาวของขากรรไกรไม่เพียงพอ ฟันมีขนาดใหญ่ ตำแหน่งหรือทิศทางการขึ้นของฟันผิดปกติ มีรอยโรคที่เป็นเนื้องอกหรือถุงน้ำ ทำให้ฟันไม่สามารถขึ้นได้
 
ส่วนใครที่มีอายุในช่วงการขึ้นของฟันแท้ แต่กลับไม่พบว่ามีฟันโผล่ขึ้นมาในช่องปาก ควรไปพบทันตแพทย์เพื่อตรวจและเอกซเรย์ว่ามี“ฟันคุด” อยู่หรือไม่ เนื่องจากตำแหน่งของฟันคุดอยู่ด้านในสุด จึงมักเกิดปัญหามีกลิ่นปาก ฟันผุ และโรคปริทันต์อักเสบของฟันคุดหรือฟันซี่ข้างเคียง เพราะเป็นตำแหน่งที่ทำความสะอาดได้ยากและไม่ทั่วถึง

“การผ่าตัดฟันคุดส่วนใหญ่ไม่ได้มีความยุ่งยากซับซ้อน ภายหลังผ่าตัดอาจปวดบวมในช่วง 3-4 วันแรก หลังจากนั้นอาการก็จะค่อย ๆ ดีขึ้น และหายเป็นปกติใน 2 สัปดาห์”

ส่วนทางด้าน นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ได้ให้ความรู้เพิ่มเติมเอาไว้ว่า “การผ่าตัดฟันคุด” คือ การผ่าตัดทางทันตกรรม เพื่อนำฟันที่ไม่สามารถขึ้นได้ตามปกติออก ซึ่งช่วงที่ฟันคุดกำลังจะขึ้นผู้ป่วยอาจจะมีอาการปวด และควรไปพบทันตแพทย์เพื่อเอกซเรย์และผ่าเอาฟันคุดออก ซึ่งในกรณีที่ฟันคุดขึ้นมาได้เพียงบางส่วนและมีเหงือกปกคลุมอยู่ มักจะทำให้มีเศษอาหารเข้าไปอยู่ใต้เหงือก กลายเป็นสาเหตุของการอักเสบเป็นหนองติดเชื้อ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดมากขึ้น และอ้าปากได้น้อยลง

สำหรับข้อดีของการผ่าตัดฟันคุดออกในช่วงที่อายุยังน้อย จะสามารถทำได้ง่ายกว่าและแผลจะหายเร็วกว่าการผ่าตัดในตอนอายุมาก ส่วนข้อเสีย ที่จะเกิดขึ้นได้หากคุณปล่อยฟันคุดทิ้งไว้ อาจส่งผลให้ฟันข้างเคียงผุ หรือเป็นโรคเหงือก และปริทันต์อักเสบตามมาได้
 
อย่างไรก็ตาม คำแนะนำสำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวานที่ควบคุมไม่ได้ โรคตับอักเสบ หรือเคยผ่านการฉายรังสีบริเวณใบหน้าและลำคอ ควรที่จะปรึกษาทันตแพทย์ก่อนผ่าตัดฟันคุด เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่จะเกิดขึ้นอีกด้วย…

………………………………
คอลัมน์ : Healthy Clean
โดย “พรรณรวี พิศาภาคย์”