ดร.สาธิต ปรัชญาอริยะกุล เลขาธิการและผู้อำนวยการสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) ได้แสดงความคิดเห็นโดยส่วนตัวว่า สำหรับกรณีดังกล่าวนั้น ก็ได้ติดตามตามหน้าสื่อต่าง ๆ และมีโอกาสได้ติดต่อประสานงานกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง แต่ยังไม่สามารถเข้าไปในพื้นที่เพื่อดูสภาพข้อเท็จจริงด้วยตนเอง แต่ก็รู้สึกเป็นห่วงช้างทั้ง 4 เชือก และรู้สึกขอบคุณสำหรับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคนทุกภาคส่วน ในการช่วยเหลือรักษาชีวิตช้างเหล่านั้นไว้ และส่วนคิดว่าควรมีการพิสูจน์ข้อเท็จจริงเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมสำหรับทุกฝ่าย เพราะก่อนหน้านี้เท่าที่ทราบก็มีการร้องเรียนทำนองลักษณะเช่นนี้มาแล้วหลายครั้ง และพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมาย ก็ได้เข้าไปตรวจสอบและให้ความเห็นพร้อมกับข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะในด้านการจัดสวัสดิภาพสัตว์ ครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน โดยส่วนตัวขอตั้งข้อสังเกตดังนี้ ด้านการจัดสวัสดิภาพสัตว์ ตามพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 ในหมวด 6 มาตรา 22 ได้กำหนดให้เจ้าของสัตว์ต้องดำเนินการจัดสวัสดิภาพสัตว์ให้แก่สัตว์ของตนให้เหมาะสม ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด และประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่องการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2561 ข้อ 4 ได้กำหนดให้สัตว์ที่มีเจ้าของหรือผู้ครอบครองให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองต้องดำเนินการจัดสวัสดิภาพสัตว์ของตนให้เหมาะสม สำหรับข้อหาความผิดที่มีอัตราโทษปรับสถานเดียว ตาม พ.ร.บ.ป้องกันฯ นั้น ในฐานความผิดเรื่องการจัดสวัสดิภาพสัตว์ เช่น มาตรา 22 อัตราปรับกำหนดเปรียบเทียบในการกระทำครั้งที่ 1 ปรับ 10,000 บาท ครั้งที่ 2 ปรับ 20,000 บาท ครั้งที่ 3 ปรับ 30,000 บาท ครั้งที่ 4 และครั้งต่อไป ปรับ 40,000 บาท เป็นต้น

สำหรับด้านการทารุณกรรมสัตว์ จากกรณีดังกล่าว ถ้าปรากฏข้อเท็จจริงและมีการพิสูจน์ได้ว่า การกระทำของเจ้าของหรือผู้เกี่ยวข้องมีเจตนากระทำการหรืองดเว้นการกระทำใด ๆ ที่ทำให้ช้างได้รับความทุกข์ทรมานไม่ว่าร่างกายหรือจิตใจ เช่น การล่ามโซ่สั้น ๆ เป็นเวลานานแรมปี ทำให้ช้างได้รับความเจ็บปวด ความเจ็บป่วยทุพพลภาพ หรืออาจมีผลทำให้ช้างนั้นตายได้ ลักษณะอย่างนี้อาจจะเข้าข่ายการทารุณกรรมสัตว์โดยไม่มีเหตุอันสมควรระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตาม พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 มาตรา 3 ประกอบมาตรา 20 และมาตรา 31 และสำหรับ พ.ร.บ.สงวนและคุ้ครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ก็ได้มีการกำหนดในมาตรการเกี่ยวกับสวนสัตว์ตั้งแต่มาตรา 33 ถึงมาตรา 38 ไว้ ซึ่งเนื้อหาสาระสำคัญส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับขั้นตอนการดำเนินการและการขออนุญาตรวมทั้งมาตรฐานการจัดการสวนสัตว์ และในขณะนี้มีการจัดทำร่างประกาศกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ว่าด้วยการกำหนดมาตรฐานการจัดการสวนสัตว์ พ.ศ. …. ซึ่งในอนาคตก็น่าจะเป็นแนวทางที่ดีสำหรับผู้ขอรับใบอนุญาตสวนสัตว์ต่อไป.