ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ที่หนักหน่วง สถานการณ์ทางการเมืองที่ร้อนแรง จนเกิดคำถามขึ้นในสังคมว่า…เราจะอยู่กันอย่างไร? ในวันนี้ “ทีมการเมืองเดลินิวส์” จึงมาสนทนากับ ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก กรรมการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง เพื่อวิเคราะห์ทิศทางการเมืองหลังจากนี้ เมื่อประชาชนออกมาชุมนุมขับไล่รัฐบาลมากขึ้น สถานการณ์ทางการเมืองจะเป็นอย่างไร

โดย อาจารย์เจษฎ์ เปิดฉากกล่าวว่า  สถานการณ์ทางการเมืองจะไม่มีความสงบสุขไปเรื่อยๆ จะมีการกระทบกระทั่งระหว่างรัฐบาลกับประชาชนที่ไม่ประสงค์ที่จะให้รัฐบาลบริหารราชการแผ่นดินต่อ รวมไปถึงการชุมนุมในลักษณะที่เป็นรูปแบบใหม่ๆ มีการสร้างนวตกรรมการชุมนุมไม่ว่าจะเป็นคาร์ม็อบ หรือรูปแบบวิธีอื่นใด และจะมีการนำเสนอในมุมมองเรื่องต่างๆ นอกจากเรื่องวัคซีน เรื่องการจัดการสภาวการณ์เกี่ยวกับโรคระบบ รวมถึงเรื่องการบริหารราชการแผ่นดิน การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ การแก้ปัญหาสังคมและปากท้องพี่น้องประชาชน จะถูกหยิบยกขึ้นมาและจะมีคนเห็นด้วยและเห็นต่างอยู่ตลอดเวลา แต่ตนคิดว่าคนจะเห็นด้วยมากขึ้นเรื่อยๆ

ถ้ามองในมุมของรัฐบาลวิธีคิดและวิถีทางของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รวมถึงอดีต คสช.ที่ยังร่วมเป็นรัฐบาลกันอยู่ไม่แตกต่างจาก พล.อ.สุจินดา คราประยูร เมื่อครั้งปี 2535 เพราะฉะนั้นยกเว้นแต่เกิดกรณีประชาชนบาดเจ็บล้มตาย เขาถึงจะยอมไป แต่ถ้าไม่อย่างนั้นไม่มีวันยอมไป เพราะฉะนั้นสถานการณ์การเมืองจะเป็นการเอาล่อ เอาเถิด ประชาชนลุกขึ้นมาประท้วง แต่จะถูกตรึงโดยสภาวการณ์โรคระบาดของโควิด-19 ที่จะยังไม่หายไปไหนในช่วงเวลาประมาณ 1 ปีหลังจากนี้ ซึ่งก็จะเกือบครบเทอมของรัฐบาล เพราะฉะนั้นรัฐบาลก็สามารถที่จะยื้อไปจนครบเทอมก็ได้

“หรือพอถึงวันที่ครบ 8 ปี นับจากวันที่ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตั้งแต่คราวแรก อาจจะมีคนไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า 8 ปีที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญนั้นนับตั้งแต่เมื่อไหร่ หากศาลรัฐธรรมนูญ บอกว่าครบ 8 ปี นับตั้งแต่เริ่มเป็นนายกฯตอนปี 2557 ก็จะเป็นจุดเปลี่ยน”

พล.อ.ประยุทธ์ และรัฐบาล ยังจะสามารถเรียกแรงศรัทธากลับมาได้หรือไม่

               การกู้วิกฤติศรัทธาไม่มีทาง ไม่มีทางที่คนจะศรัทธา พล.อ.ประยุทธ์ ได้เพิ่มขึ้นอีกเลย และไม่คิดว่าวันนี้หรือพรุ่งนี้จะเกิดการแก้ไขปัญหา เรื่องของสถานการณ์โควิดได้อย่างดีเลิศ วัคซีนมีปริมาณเพียงพอกับประชาชนทุกคน การจัดการกับสภาวการณ์เศรษฐกิจปากท้องประชาชน และปัญหาทางสังคมมากมาย ต่อให้รัฐบาลทำได้ในวันนี้พรุ่งนี้ ก็จะไม่ได้รับศรัทธาไม่ได้รับแรงหนุนมาอีกเลย เพราะคนคิดว่ามันคือหน้าที่ มันคือสิ่งที่คุณต้องทำ และในสภาพความเป็นจริงไม่มีทางเลยที่จะแก้ปัญหาโควิดได้ภายในวันนี้พรุ่งนี้ อาจจะใช้เวลาเป็นปี

เพราะฉะนั้นจะไม่มีสิ่งที่ที่จะพลิกศรัทธากลับมาได้อีกแน่นอน เพียงแต่ว่าโดยสภาวการณ์โควิด โดยความดื้อ และโดย ส.ว.ที่ยังมีผลอยู่ ก็สามารถจะยื้อไปเรื่อยๆ และถ้าพรรคร่วมรัฐบาลยังติดกรอบ ส.ว. 250 คน เขาก็ไม่พลิกไปร่วมกับอีกฝั่ง

@ ถ้ากู้วิกฤติศรัทธาไม่ได้ รัฐบาลจะลงจากหลังเสืออย่างไร

               วิธีที่จะลงให้เจ็บตัวน้อยที่สุดคือ 1.แก้ปัญหาสิ่งที่หมักหมมมา ตั้งแต่ที่เคยกล่าวอ้างว่ามีเรื่องทุจริต ประพฤติมิชอบ เรื่องความไม่ชอบมาพากลในการบริหารราชการแผ่นดิน ท่านว่าคนอื่นโกงแต่ก็ยังไม่มีใครเชื่อว่าท่านไม่โกง ซึ่งไม่รู้ว่าโกงหรือไม่โกงแต่ไม่มีใครเชื่อว่าไม่โกง  2.สภาวะการณ์เฉพาะหน้าเรื่องโควิด-19 ต้องจัดการให้เห็นภาพที่คลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น มีความชัดเจนเรื่องวัคซีน การออกประกาศต่างๆ นำมาซึ่งผลลัพธ์ที่ดีขึ้นได้อย่างไร ลดการแพร่ระบาดของโรคได้อย่างไร

3.เรื่องเศรษฐกิจปากท้องของประชาชน ท่านต้องทำให้เห็นภาพว่าจะทำอย่างไรในช่วงที่สถานการณ์โควิดระบาด เพราะช่วงนี้คนจะเจ็บป่วยล้มตามจากโควิดมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ยังเจ็บป่วยล้มตายด้วยการไม่มีจะกิน ด้วยภาวะดิ้นรน ตรงนั้นรัฐบาลต้องแก้ให้ได้ และ 4.การจัดการเรื่องสภาพสังคมโดยทั่วไป การกินดีอยู่ดี และคลี่คลายสิ่งที่ถูกกล่าวอ้างว่ามีคนจำนวนหนึ่งได้รับสิทธิพิเศษ ในขณะที่ทีมีคนอีกจำนวนมากไม่ได้รับอะไรเลย

“หากรัฐบาลทำ 3-4 ข้อนี้ได้ ยังจะพอลงได้อย่างไม่เจ็บตัว แต่ก็ไม่ได้หมายถึงลงแบบคนศรัทธา เพราะวันนี้ไม่มีการที่ท่านสมัครใจลงแบบสวยๆ จะมีแต่การลงตามวาระกับถูกไล่ลง เพราะฉะนั้นท่านก็ต้องทำ 3-4ข้อ ก็พอจะรอดตัวไปได้แบบไม่เจ็บตัว แต่ก็ไม่ได้แปลว่าดูดี”

หากเกิดการเปลี่ยนตัวนายกฯขึ้นตอนนี้ สถานการณ์ทางการเมืองจะเปลี่ยนไปอย่างไร

               คิดว่าสถานการณ์การเมืองก็ไม่ได้จะเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้นเท่าไหร่ เพราะมีเงื่อนไขการเปลี่ยนตัวนายกฯ จะต้องมีตัวบุคคล หรือใครก็แล้วแต่ที่เสนอตัวเข้ามา จะต้องมีแผนรับมือกับ 2-3 เรื่อง คือ 1.เรื่องโควิด 2. เรื่องเศรษฐกิจ และ3. เรื่องสังคม ถ้าบุคคลนั้นๆ มีแผนรับมือ สามารถพูดได้เลยว่าแต่ละเรื่องจะแก้ปัญหาอย่างไร จะทำให้เกิดอะไร หากแบบนี้ก็จะมีผล

แต่ถ้าหากยังลับๆล่อๆ ไม่รู้ว่าใครจะมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ยังติดกรอบมาตรา 88 ที่จะต้องเอาบรรดา คนที่ถูกเสนอชื่อโดยพรรคการเมือง ซึ่งตอนนี้ก็จะมีชื่อ นายอนุทิน ชาญวีรกูล ซึ่งคนก็ด่าเรื่องการจัดการโควิดอยู่แล้ว นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็ไม่ได้มีบทบาททางการเมืองอะไร เนื่องจากลาออกจากหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์แล้ว  ส่วน คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ , นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์นายชัยเกษม นิติสิริ เราก็ไม่ได้เห็นเลยว่าทำอะไรบ้าง ดังนั้นหากติดกรอบมาตรา 88 ก็จะลำบาก และหากสมมุติว่าไปเอาคนนอกที่ไม่อยู่ในการเสนอชื่อของพรรคการเมือง และยังไม่มีการเผยตัวตน คนก็จะไปนั่งคิดว่าอาจจะเป็น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่งก็จะยิ่งแย่ไปกว่า พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งก็จะไม่ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น

“สิ่งที่ควรจะทำ คือ ปูทาง อธิบายว่า จะเกิดอะไรขึ้นในเส้นทางทางการเมือง มีโรดแม็ปที่ชัดเจน แล้วไปยุบสภา จัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ที่สามารถทำได้ในสภาวการณ์โควิดนี้ อันนี้ประชาชนจะเป็นคนเปลี่ยน ไม่ใช่สภาเป็นคนเปลี่ยน”

สถานการณ์การเมืองขณะนี้จะนำไปสู่การทำรัฐประหารอีกครั้งได้หรือไม่

            คิดว่าไม่ เพราะรัฐประหารโดยทั่วไปจะเกิดขึ้นโดยเหตุ คือ 1.รัฐบาลไม่สามารถบริหารราชการแผ่นดินได้โดยที่ไม่มีกลไกในการควบคุมสถานการณ์บ้านเมือง 2.รัฐบาลกับทหารไม่ถูกกัน แต่นี่เป็นรัฐบาลทหาร และ 3.ภาวะสุกงอมที่ประชาชนไม่เอารัฐบาลอย่างแท้จริง ซึ่งอันนี้แม้จะเกิดขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็ไปติดสถานการณ์โควิด การชุมนุมยืดเยื้อ การชุมนุมที่จะเกิดผลในลักษณะมีแรงที่มากพอจะผลักรัฐบาลยังไม่มี ดังนั้นเมื่อ 2-3 ข้อนี้ไม่เกิด รัฐประหารก็จะไม่เกิด