“มันไม่มีต้นสนเหลืออยู่เลย คนเลี้ยงผึ้งจะเก็บน้ำผึ้งได้ใหม่ในอีก 30 ปี ถ้าไม่เกิดเหตุไฟไหม้ป่าซ้ำอีกครั้ง” อัลบานิส กล่าว

วิกฤติไฟป่าเกิดขึ้นทั่วทวีปยุโรปอีกครั้งในฤดูร้อนปีนี้ สภาพที่ยากลำบากของคนเลี้ยงผึ้งชาวกรีก เน้นย้ำถึงความเสียหายอันยาวนาน ที่เกิดขึ้นกับชีวิตความเป็นอยู่ประชากรจำนวนมาก ในภาคการเกษตรและการท่องเที่ยว เช่นเดียวกับความเสียหายทางเศรษฐกิจในวงกว้าง

ในช่วงเวลาที่งบประมาณและเศรษฐกิจทั่วโลกยังคงตึงตัว จากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เรื่องนี้เพิ่มแรงกดดันมหาศาลให้กับรัฐบาลหลายประเทศของยุโรป ในการจัดหาเงินทุนสำหรับอุปกรณ์ดับเพลิงที่สำคัญ

Reuters

ทั้งนี้ หลายประเทศในยุโรปได้เพิ่มการใช้จ่ายด้านการดับเพลิงแล้ว ยกตัวอย่างเช่น ฝรั่งเศส ซึ่งเกิดไฟป่าลุกลามพื้นที่ตั้งแคมป์ในภูมิภาคตะวันตกเฉียงใต้ กล่าวว่า ทางรัฐบาลจัดสรรเงินจำนวน 850 ล้านยูโร (ประมาณ 32,000 ล้านบาท) เพื่อยกระดับพัฒนาอากาศยานของประเทศ

ด้านนายยานนิส โออิโคโนมู โฆษกรัฐบาลเอเธนส์ กล่าวว่า กรีซ ซึ่งเพิ่งจะรับมือกับไฟป่า 50-70 ครั้งต่อวันในสัปดาห์นี้ มีเครื่องบินและนักผจญเพลิงมากขึ้น เมื่อเทียบกับช่วง 3 ปีก่อน และจัดสรรงบประมาณ 75 ล้านยูโร (ประมาณ 2,800 ล้านบาท) สำหรับมาตรการต่าง ๆ เช่น การทำแนวกันไฟ “จากเดิมที่ไม่เคยมีงบประมาณมาก่อนในอดีต”

อย่างไรก็ตาม สำหรับนักดับเพลิงภาคสนามที่เหนื่อยล้าของกรีซ ซึ่งมักจะพึ่งพาความช่วยเหลือจากอาสาสมัคร ต่างต้องการให้มีการจัดการปัญหาไฟป่าที่มากกว่านี้

“นักผจญเพลิงอาวุโสจะจำได้ว่า ประเทศเราเกิดไฟป่าใหญ่ทุก 10-15 ปี แต่ตอนนี้มันเกิดขึ้นทุก 3 ปี” นายดิมิทริส สตาโธพูลอส ประธานสหพันธ์นักดับเพลิงกรีซ กล่าวและเรียกร้องให้มีการจ้างงานเพิ่ม 4,000 อัตรา เพื่อรับมือกับปริมาณงานที่เพิ่มขึ้น

ขณะที่หน่วยงานสิ่งแวดล้อมอย่างองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (ดับเบิลยูดับเบิลยูเอฟ) กล่าวว่า จำเป็นต้องมีการใช้เงินเพื่อป้องกันไฟไหม้ มากกว่าการดับไฟ โดยในรายงานล่าสุดพบว่า กรีซ, สเปน, โปรตุเกส, อิตาลี และฝรั่งเศส ใช้เงินทุนที่มีในการดับเพลิงมากถึง 80% ส่วนการป้องกันอัคคีภัยมีเพียง 20% เท่านั้น

ทั้งนี้ทั้งนั้น แม้ยุโรปยังไม่เข้าสู่จุดสูงสุดของฤดูร้อน แต่มีการพยากรณ์ถึงสภาพอากาศที่รุนแรงมากขึ้นแล้ว

“สิ่งที่น่ากังวลอย่างแท้จริงคือ พวกเราเพิ่งจะเห็นแค่ตัวอย่างของสิ่งที่เกิดขึ้นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า” นายวิกเตอร์ เรสโก เด ดิออส ศาสตราจารย์ภาควิชาวิศวกรรมป่าไม้ ที่มหาวิทยาลัยเยย์ดาของสเปน กล่าว “สิ่งที่เรามองว่าเป็นความผิดปกติในปัจจุบัน จะกลายเป็นความปกติรูปแบบใหม่ภายในอีกไม่นาน”.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : REUTERS