สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาคุณภาพชีวิต เริ่มตั้งแต่การทำกินด้านการเกษตร การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศ การพัฒนาอาชีพ การศึกษา พระองค์ทรงเสด็จพระราชดำเนินเคียงข้าง พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จฯ ไปเยี่ยมเยียนประชาชนทุกหนแห่งทั่วแผ่นดินไทย พระองค์ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเพื่อประโยชน์สุขแก่ประชาชนในทุกด้าน

การทำกินด้านการเกษตร พระองค์ทรงเน้นในเรื่องของการค้นคว้า ทดลอง และวิจัยหาพันธุ์พืชใหม่ๆ ทั้งพืชเศรษฐกิจ พืชสมุนไพร และพันธุ์สัตว์ต่างๆ ที่เหมาะสมกับสภาพท้องถิ่นนั้นๆ รวมถึงการศึกษาเกี่ยวกับแมลงศัตรูพืช ซึ่งแต่ละโครงการเน้นให้สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง ใช้เทคโนโลยีอย่างง่ายๆ ไม่สลับซับซ้อน มีราคาถูก เกษตรกรสามารถดำเนินการเองได้ นอกจากนี้ยังทรงพยายามไม่ให้เกษตรกรยึดติดกับพืชผลทางการเกษตรเพียงอย่างเดียว เพราะอาจเกิดปัญหาจากความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ หรือความแปรปรวนด้านราคาของผลผลิต ซึ่งเกษตรกรควรจะมีรายได้เสริมจากทางอื่นนอกเหนือไปจากด้านการเกษตรเพียงอย่างเดียว

การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศ พระองค์ทรงให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ เช่น โครงการป่ารักน้ำ การฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ถูกทำลายลงจนเสื่อมโทรม ให้คืนกลับมามีความอุดมสมบูรณ์และมีความหลากหลายทางชีวภาพดังเดิม ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการอยู่อาศัยและการทำกิน ลดผลกระทบจากภัยธรรมชาติต่างๆ โดยเฉพาะน้ำท่วมและน้ำแล้ง เพราะทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นฐานการดำรงชีวิตของประชาชนในแต่ละภูมิภาคของประเทศ

การพัฒนาอาชีพ โครงการส่งเสริมศิลปาชีพ เป็นโครงการหนึ่งที่มีสาขาขยายกว้างขวางไปทั่วประเทศ ซึ่งในภายหลังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ก่อตั้งเป็นมูลนิธิ พระราชทานนามว่า มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพพิเศษ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2519 และต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2528 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ การดำเนินกิจกรรมของมูลนิธิฯ มีความสำคัญต่อการแก้ปัญหาความยากจนด้วยการส่งเสริมอาชีพแก่ประชาชนให้มีงานในครัวเรือนและในชุมชน เพื่อให้ได้มีรายได้เพิ่มขึ้น และขณะเดียวกันยังเป็นการอนุรักษ์และส่งเสริมงานศิลปะพื้นบ้านในแต่ละท้องถิ่นที่มีความวิจิตรงดงามในหลายสาขา อาทิ การปั้น การทอ การจักสาน ฯลฯ

การศึกษา พระองค์ทรงให้ความสำคัญกับการสนับสนุนและส่งเสริมให้เด็กมีโอกาสได้เรียนหนังสือ เมื่อทรงทราบว่าครอบครัวใดในชนบทที่ไม่มีเงินให้เด็กเรียน ก็จะพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นทุนการศึกษาแก่ครอบครัวที่มีบุตรยังอยู่ในวัยศึกษาเล่าเรียนแต่ไม่สามารถส่งบุตรให้ศึกษาต่อจากภาคบังคับได้ โดยพิจารณาเด็กที่มีความสามารถพอจะศึกษาให้จบอย่างน้อยหลักสูตรใดหลักสูตรหนึ่งเป็นเกณฑ์ เพื่อที่จะกลับมาเป็นที่พึ่งของครอบครัวในการทำมาเลี้ยงชีพ รวมทั้งยังทรงรับไว้เป็นนักเรียนในพระบรมราชานุเคราะห์ ส่วนบิดามารดา พี่น้องของเด็ก ก็โปรดเกล้าฯ ให้เข้ารับการฝึกอบรม พระราชทานความช่วยเหลือให้ปรับปรุงการประกอบอาชีพ มีความรู้เป็นอาชีพเสริมเพื่อจะได้มีรายเพิ่มขึ้น โดยใช้วัตถุดิบพื้นบ้านมาทำประโยชน์ เช่น หัตถกรรมจักสานของโครงการหุบกะพง โครงการจักสานย่านลิเภาและทำเครื่องปั้นดินเผาในภาคใต้

พระองค์ทรงเป็นผู้วางรากฐานการศึกษาและส่งเสริมการศึกษา การพัฒนาความรู้ในด้านต่างๆ และให้ความสำคัญกับการศึกษาประวัติศาสตร์ชาติไทย อีกทั้งยังโปรดเกล้าฯ ให้สอดแทรกเรื่องความรักชาติ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมการรักษาศิลปวัฒนธรรมในท้องถิ่น การรู้จักรักษาสุขภาพอนามัย การรู้จักพัฒนาตนเอง การเห็นความสำคัญของการศึกษาและการช่วยเหลือร่วมมือกับส่วนรวม พร้อมทั้งให้ทุกคนตระหนักว่า ตนเป็นส่วนหนึ่งของส่วนรวม ต้องบำเพ็ญตนเป็นประโยชน์เพื่อความเจริญพัฒนาของภูมิภาค เหนือสิ่งอื่นใดทรงมีพระเมตตาสอนหนังสือแก่เด็กและเยาวชนด้วยพระองค์เอง

นอกจากปวงชนชาวไทยแล้ว ประชาชนของประเทศเพื่อนบ้านที่ต้องลี้ภัยอพยพเข้าสู่แผ่นดินไทยก็ยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระองค์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สภากาชาดไทยให้ความร่วมมือกับ กาชาดสากล ในการช่วยเหลือผู้อพยพ อีกทั้งยังพระราชทานครูให้การสอนวิชาชีพแก่ผู้อพยพ การช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อพยพซึ่งหนีร้อนมาพึ่งเย็น มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องในเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นหลายครั้งหลายคราว จนองค์กรระหว่างประเทศต่างพากันสดุดีในพระมหากรุณาธิคุณเพื่อมนุษยธรรม ได้ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลและปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์แด่พระองค์ อาทิ

อ่านเพิ่มเติมที่นี่ : พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ผู้ทรงพัฒนาไหมไทยสู่สากล

…………………………………..
คอลัมน์ : ว่ายทวนน้ำ
โดย “ทวีศักดิ์ อุ่นจิตติกุล”
แฟนเพจ : สาระจากพระธรรม