ช่วงตอนต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ราษฎรมีการ ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม เป็นอาชีพรองหลังว่างจากการทำนา ซึ่งมีการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมกันมากในบริเวณแถบลุ่มแม่น้ำโขงที่มณฑลอิสานและมณฑลอุดร ส่วนมณฑลนครราชสีมาและมณฑลอื่นๆ มีการผลิตไหมดิบ แล้วทอเป็นผ้าม่วงใช้ในครัวเรือน (ข้อมูลจาก วงศานุประพันธ์ พ.ศ. 2484 )

ต่อมาในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งอยู่ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2411–2453 เป็นยุคแห่งการฟื้นฟู ส่งเสริมและพัฒนา ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม สาวไหมและทอผ้าไหม โดยพระองค์ทรงเล็งเห็นถึงความสำคัญในการส่งเสริมให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นหลังการทำนา ประการสำคัญยังเป็นการสงวนเงินตราไม่ให้รั่วไหลไปสู่ต่างประเทศจากการนำเข้าผ้าไหมซึ่งมีมูลค่าสูงมากในแต่ละปี เช่นปี พ.ศ. 2440 สั่งซื้อผ้าไหมมูลค่า 4,886,821 บาท ปี พ.ศ. 2444 สั่งซื้อผ้าไหมมูลค่า 7,209,010 บาท

เมื่อปี พ.ศ.2446 กระทรวงเกษตราธิการ ใช้ที่ดินเนื้อที่ 23,716 ตารางเมตร ตั้งอยู่ที่ตำบลศาลาแดง กรุงเทพฯ (ถนนหลังสวนในปัจจุบัน) เป็นพื้นที่ทำการทดลองของแผนกไหม เพื่อเตรียมไว้สอนนักเรียนช่างไหม ต่อมาในปี พ.ศ. 2447 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพัฒนากระบวนการผลิตไหมไทยให้มีความเจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น จึงทรงให้แยกที่ทำการแผนกไหมออกเป็นกรมช่างไหม และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม (เมื่อครั้งยังดำรงตำแหน่งพระยศเป็นพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงษ์) เป็นอธิบดีกรมช่างไหมพระองค์แรก ในปี พ.ศ. 2448 จัดตั้งให้มีโรงเรียนช่างไหมเพื่อสอนวิชาการทำไหม หลักสูตร 2 ปี ส่วนแผนกสาวไหมมีการจ้างพนักงานญี่ปุ่นมาสอน หลักสูตร 2 ปี ต่อมาได้ยุบโรงเรียนช่างไหมไปรวมกับโรงเรียนเกษตรที่ตั้งขึ้นใหม่

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2449-2495 กรมช่างไหมได้ถูกเปลี่ยนชื่อมาเป็นกรมเพาะปลูก กรมตรวจกสิกรรม กรมเกษตร กรมเกษตรและการประมง กรมกสิกรรม ตามลำดับ ต่อมาปี พ.ศ. 2515 มีการปรับเปลี่ยนองค์กรโดยรวมกรมกสิกรรมและกรมการข้าวเข้าไว้ด้วยกันเป็นกรมวิชาการเกษตร

ปี พ.ศ. 2525 กองการไหมซึ่งสังกัดอยู่กับกรมวิชาการเกษตร ได้รับการปรับเปลี่ยนองค์กรจากกองการไหมเป็น สถาบันวิจัยหม่อนไหม ซึ่งมีหน่วยงานประกอบด้วย ศูนย์วิจัย 3 แห่ง และสถานีทดลอง 15 แห่ง 

ต่อมาเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2552 สถาบันวิจัยหม่อนไหมได้รับการปรับเปลี่ยนองค์กร จากสถาบันวิจัยหม่อนไหมเป็นกรมหม่อนไหม ซึ่งเป็นกรมลำดับที่ 14 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับการจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านต่างๆ ได้แก่ งานวิจัย งานส่งเสริม งานอนุรักษ์คุ้มครอง รวมทั้งธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับหม่อนไหมอย่างครบวงจร

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จฯ เปิดอาคารที่ทำการกรมหม่อนไหม เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2554 พระองค์ทรงเล็งเห็นว่า “ไหมคือศรีแห่งแผ่นดิน” ซึ่งส่งผลก่อให้เกิดการอนุรักษ์ ส่งเสริมและพัฒนางานด้านหม่อนไหมมาอย่างต่อเนื่องจวบจนปัจจุบัน

พระองค์เสด็จฯ ไปโครงการฟาร์มตัวอย่างตามพระราชดำริบ้านแม่ตุงติง ตำบลแม่สาป อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2542 พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสความว่า “…การเลี้ยงไหมนอกจากจะเป็นการเสริมรายได้แก่เกษตรกรแล้ว ยังเป็นวัฒนธรรมอันเก่าแก่และดีงามของชาติไทยที่สืบต่อกันมานานอีกด้วย ไม่ว่าเศรษฐกิจของประเทศจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร การพัฒนาการเลี้ยงไหมก็ต้องดำเนินต่อไป…”

พระองค์ทรงมีพระราชดำริ 3 ประการ ในการส่งเสริมเกี่ยวกับกิจการหม่อนไหม โดยมีการผลิตผ้าไหมตรานกยูงพระราชทาน กิจกรรมส่งเสริม พัฒนากลุ่มผู้ผลิตผ้าไหมตรานกยูงพระราชทาน ตามข้อบังคับกรมหม่อนไหม และหมู่บ้านอนุรักษ์ผ้าพื้นถิ่นที่ตำบลเนินขาม อำเภอเนินขาม จังหวัดชัยนาท ซึ่งเป็นแหล่งผลิตผ้าไหมขึ้นชื่อ โดยเฉพาะ “ลายช่อมะขาม” อันเป็นลวดลายเอกลักษณ์ของบ้านเนินขามที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน โดยศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ สระบุรี ได้เข้ามาช่วยพัฒนากลุ่มทอผ้าในพื้นที่จำนวน 10 กลุ่ม จนสามารถยกระดับการผลิตและผ่านการตรวจรับรอง ได้รับเครื่องหมายรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทยสัญลักษณ์นกยูงไทย ในระดับนกยูงสีเงิน หรือ Classic Thai Silk

โครงการส่งเสริมหัตถกรรมที่พระองค์ทรงอำนวยการอยู่ได้ซึ่งมีการขยายตัวออกไปอย่างกว้างขวาง โดยทรงใช้จ่ายพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นจำนวนมาก ข้าราชบริพารและผู้มีจิตศรัทธาจึงได้รวบรวมเงินจำนวนหนึ่งขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระองค์เพื่อทรงใช้จ่ายในโครงการ และกราบบังคมทูลขอให้ทรงจัดตั้งเป็นมูลนิธิ

ต่อมาพระองค์ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ก่อตั้งมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพพิเศษ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2519 โดยพระราชทานทุนเริ่มแรก และทรงรับเป็นประธานกรรมการบริหารมูลนิธิฯ ด้วยพระองค์เอง พระองค์มีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปิดสอนหัตถกรรมแทบทุกประเภทแก่บุตรหลานของราษฎรผู้ยากไร้ ณ บริเวณสวนจิตรลดา และเปิดสอนสมาชิกในต่างจังหวัดในบริเวณพระราชนิเวศน์ทุกภาค ในเวลาที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานไปประทับแรมเพื่อทรงเยี่ยมราษฎร ทรงรับเด็กยากจนที่มีการศึกษาน้อย รวมทั้งผู้ไม่เคยมีประสบการณ์ด้านการช่างใด ๆ เข้าเป็นนักเรียนศิลปาชีพ ทรงเสาะหาครูผู้มีฝีมือที่ยังหลงเหลืออยู่มาถ่ายทอดผลงาน ทรงติดตามผลงานทุกชิ้น พระราชทานกำลังใจแก่สมาชิกทุกคนและโปรดที่จะทรงใช้สอยผลิตภัณฑ์ศิลปาชีพทุกชนิด เพื่อเป็นแบบอย่างแก่ประชาชนทั่วไปด้วย

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงมีพระราชปณิธานส่งเสริมอาชีพทอผ้าและอนุรักษ์ผ้าพื้นถิ่น ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นในแต่ละพื้นที่ พระองค์ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจและทรงอุทิศพระองค์ ด้วยพระวิริยอุตสาหะ ส่งผลให้ผ้าไทยเป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมจากทั้งภายในประเทศและต่างประเทศอย่างกว้างขวาง ตลอดระยะเวลา 70 ปี ที่ทรง เป็นคู่พระบารมีแห่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงฉลองพระองค์ตัดด้วยผ้าไทย ผ้าชาวเขา ในการเสด็จฯ ปฏิบัติพระราชกรณียกิจต่างๆ

เนื่องในโอกาสวันนี้เป็นวันมหามงคล วันเฉลิมพระชนมพรรษา 89 พรรษา 12 สิงหาคม 2564 ที่ได้เวียนมาบรรจบครบรอบอีกวาระหนึ่งในปีนี้ จึงขอเชิญชวนคนในชาติได้ร่วมกันน้อมระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่มีต่อประชาชนทุกหมู่เหล่าตลอดมา

เพื่อแสดงความจงรักภักดีของประชาชน ขอเชิญชวนร่วมลงนามถวายพระพรผ่านระบบออนไลน์ ที่เว็บไซต์หน่วยราชการในพระองค์ www.royaloffice.th ที่เริ่มมาตั้งแต่วันที่ 7 สิงหาคม จนถึงวันพรุ่งนี้ 13 สิงหาคม 2564 และขอเชิญชวนร่วมบริจาคโลหิตเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สภานายิกาสภากาชาดไทย ที่ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย และศูนย์บริจาคโลหิตทั่วประเทศ ตลอดเดือนสิงหาคม 2564 นี้

…………………………………..
คอลัมน์ : ว่ายทวนน้ำ
โดย “ทวีศักดิ์ อุ่นจิตติกุล”