วันนี้ 2 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นวันสำคัญของประชาคมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เนื่องในวาระ 80 ปีแห่งการสถาปนามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  ซึ่งกำลังก้าวย่างสู่ทศวรรษที่ 9 อย่างมั่นคง กำหนดการงานวันสถาปนามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ครบรอบ 80 ปี ณ อนุเสาวรีย์สามบูรพาจารย์ มีดังนี้

เวลา  06.45 น. มีพิธีวางพวงมาลาคารวะอนุสาวรีย์สามบูรพาจารย์ ณ อนุสาวรีย์สามบูรพาจารย์ ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กล่าวคำประกาศสดุดี ต่อจากนั้นมีหน่วยงาน องค์กร คณะบุคคล วางพวงมาลาตามลำดับ คณะกรรมการสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อธิการบดี/ผู้บริหาร สถาบันคู่สัญญาความร่วมมือทางวิชาการจากต่างประเทศ คณะครอบครัวของสามบูรพาจารย์ ชมรม มก. อาวุโส มูลนิธิมหาวิทยาสัยเกษตรศาสตร์ สมาคมนิสิตเก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ องค์การบริหาร องค์การนิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สภาผู้แทนนิสิต องค์การบริหารองค์การนิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  บัณฑิตวิทยาลัย โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษา คณะ สำนัก สถาบัน กอง วิทยาเขต นิสิตเก่ารุ่นต่าง ๆ นิสิตปัจจุบัน หน่วยงาน สมาคม และคณะบุคคลต่าง ๆ

เวลา 08.30 น. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จฯ ไปอนุสาวรีย์สามบูรพาจารย์ ทรงวางพวงมาลา

สามบูรพาจารย์  หรือ สามเสือแห่งเกษตร  เป็นฉายาที่เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) ใช้เรียกแทนบุคคลสามคน อนุสาวรีย์สามบูรพาจารย์ เป็นรูปเหมือนของสามบูรพาจารย์ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มสถาปนาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คือ หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ (ทองดี เรศานนท์) อดีตอธิบดีกรมเกษตรและกรมประมง พ.ศ. 2477 – 2479 และอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ. 2489-2501  พระช่วงเกษตรศิลปการ (ช่วง โลจายะ) อดีตรัฐมนตรีกระทรวงเกษตราธิการ ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม  และศาสตราจารย์พิเศษ อินทรี จันทรสถิตย์  (หลวงอิงคศรีกสิการ)  อดีตอธิบดีกรมเกษตร   อดีตอธิการบดีและอดีตนายกสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์   อดีตรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในสมัยรัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร

ชื่อของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คำว่า เกษตร  หมายถึง   เขตหรือแผ่นดิน  ศาสตร์  หมายถึง ความรู้ หรือ การศึกษา  ทั้งสองคำเมื่อรวมกันแล้วหมายถึง การศึกษาเกี่ยวกับเขตและแผ่นดิน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีการบูรณาการศาสตร์แห่งแผ่นดินที่มีความสำคัญอยู่ 3 ศาสตร์ ซึ่งเป็นหลักอันมั่นคงสำหรับการดำรงชีวิตและการดำเนินชีวิตของคนในชาติ  ศาสตร์ที่ 1  คือ ศาสตร์ของพระราชา ครอบคลุมถึงศาสตร์ที่ว่าด้วยโครงการตามพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรซึ่งมีกว่า 4,000 โครงการ  ศาสตร์ที่  2 คือ ศาสตร์ของชุมชน เป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยความรู้ในอดีตที่มีมานับพันปี  ศาสตร์ที่ 3 คือ ศาสตร์สากล   ว่าด้วยการสอนวิชาการเพื่อความเป็นเลิศในการสร้างองค์ความรู้ใหม่ เพื่อพัฒนาชุมชน สังคม และประเทศชาติ ทั้ง 3 ศาสตร์นี้มีการดำเนินไปด้วยความสอดคล้องและความกลมกลืนเพื่อความกินดีอยู่ดีของคนในชาติ  

ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีการจัดการเรียนการสอนใน 5 วิทยาเขต ได้แก่ วิทยาเขตบางเขน วิทยาเขตกำแพงแสน วิทยาเขตศรีราชา วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร และโครงการจัดตั้งวิทยาเขตสุพรรณบุรี นอกจากนี้สภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้มีมติให้ตั้งวิทยาเขตลพบุรี เป็น สถานีวิจัยในสังกัดสถาบันอินทรีจันทรสถิตย์ มีการจัดการเรียนการสอนเป็นการจัดการเรียนการสอนนอกสถานที่ภายในจังหวัดลพบุรี และโครงการจัดตั้งวิทยาเขตกระบี่ ให้ตั้งเป็นศูนย์วิทยบริการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อให้บริการในลักษณะการต่อยอดด้านวิชาการต่าง ๆ ข้อมูลด้านการเรียนการสอนของวิทยาเขต มีดังนี้

1. วิทยาเขตบางเขน ประกอบด้วย 16 คณะ 2 วิทยาลัย และ 1 โครงการจัดตั้ง ประกอบด้วย คณะเกษตร คณะเทคนิคการสัตวแพทย์ คณะบริหารธุรกิจ คณะประมง คณะแพทยศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ คณะวนศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะศึกษาศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ คณะสิ่งแวดล้อม คณะอุตสาหกรรมเกษตร บัณฑิตวิทยาลัย วิทยาลัยบูรณาการศาสตร์ และโครงการจัดตั้งวิทยาลัยนานาชาติ

2. วิทยาเขตกำแพงแสน ประกอบด้วย 6 คณะ ได้แก่ คณะเกษตร กำแพงแสน คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา คณะวิศวกรรมศาสตร์ กำแพงแสน คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ คณะศึกษาศาสตร์และพัฒนศาสตร์ คณะอุตสาหกรรมบริการ  3 คณะ และ 1 วิทยาลัยที่เป็นส่วนงานของมหาวิทยาลัย อันมีที่ตั้งอยู่ในวิทยาเขตบางเขน ที่ดำเนินการจัดการเรียนการสอน 2 วิทยาเขต ประกอบด้วย คณะประมง (โดยนำหลักสูตรมาเปิดในวิทยาเขตกำแพงแสน เริ่มปีการศึกษา 2554) คณะสิ่งแวดล้อม คณะสัตวแพทยศาสตร์ (นิสิตศึกษาที่เกษตรกลาง บางเขน ปี 1-3 และวิทยาเขตกำแพงแสน ปี 4-6) บัณฑิตวิทยาลัย

3. วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร ประกอบด้วย 4 คณะ ได้แก่ คณะทรัพยากรธรรมชาติและอุตสาหกรรมเกษตร คณะวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์และวิทยาการจัดการ คณะสาธารณสุขศาสตร์

4.วิทยาเขตศรีราชา ประกอบด้วย 5 คณะ ได้แก่คณะพาณิชยนาวีนานาชาติ คณะวิทยาการจัดการ คณะวิทยาศาสตร์ ศรีราชา คณะวิศวกรรมศาสตร์ ศรีราชา คณะเศรษฐศาสตร์ ศรีราชา

5. โครงการจัดตั้งวิทยาเขตสุพรรณบุรี ในปัจจุบัน ยังไม่มีการจัดตั้งคณะอย่างเป็นทางการในโครงการจัดตั้งวิทยาเขตสุพรรณบุรี ซึ่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มอบหมายให้คณะในบางเขนและวิทยาเขตกำแพงแสนรับผิดชอบ ปัจจุบันได้มีการเปิดสอนในบางหลักสูตรแล้ว คือหลักสูตรบริหารธุรกิจสาขาการจัดการโรงแรมและท่องเที่ยว (4 ปี) (ภาคพิเศษ) อยู่ในความดูแลของคณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์

หลักสูตรสาธารณสุขศาสตรบัณฑิต (ต่อเนื่อง) (ภาคพิเศษ) หลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต (ภาคพิเศษ)

หลักสูตรรัฐศาสตรมหาบัณฑิต สาขารัฐศาสตร์ (ภาคพิเศษ) อยู่ในความดูแลของคณะสังคมศาสตร์

6.สถาบันสมทบ  ได้แก่  วิทยาลัยการชลประทาน    วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี นพรัตน์วชิระ

ปัจจุบันบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีจำนวนกว่า 300,000 คน ซึ่งจะเป็นฐานกำลังสำคัญในการสนับสนุนกิจการมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ให้มีความเจริญก้าวหน้าในทุกด้าน สมาคมนิสิตเก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์เป็นกลไกสำคัญในการเชื่อมโยงระหว่างนิสิตเก่ากับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สมาคมฯ มีศักยภาพทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์อย่างเคียงบ่าเคียงไหล่ ก้าวไปข้างหน้าด้วยกันทีละก้าวอย่างมั่นคงสู่ทศวรรษที่ 9 ในปี 2576 และครบรอบศตวรรษในปี 2586

…………………………
คอลัมน์ : ว่ายทวนน้ำ
โดย “ทวีศักดิ์ อุ่นจิตติกุล”
แฟนเพจ : สาระจากพระธรรม

อ่านเพิ่มเติม : ปฏิรูป ส.มก.รอช้ามิได้ ไปใช้สิทธิ์กาบัตร 2 ก.พ. 66