“กล้วยทอด” หรือ “กล้วยแขก” เป็นเมนูทานเล่นยอดนิยมของคนไทย มีการขายอยู่ทั่วไป และเป็นอีกอาชีพหนึ่งที่มีผู้ถามไถ่เข้ามามากพอสมควร อาจเป็นเพราะอาชีพนี้ลงทุนน้อย ขั้นตอนการทำไม่ยุ่งยากมาก ผลกำไรดี และยังมีอีกหลายย่านที่ยังไม่มีผู้ทำขาย วันนี้คอลัมน์ “ช่องทางทำกิน” จะนำเสนอตามคำขอ โดยจะว่ากันด้วย “กล้วยทอด-มันทอดสูตรโบราณ” เพื่อเป็นแนวทางให้กับผู้ที่กำลังมองหาอาชีพอิสระ

ผู้ที่จะมาให้ข้อมูลในเรื่องนี้ คือ สุดารัตน์ พฤกษชาติถาวร หรือ “เจ้สุดารัตน์” อายุ 62 ปี เจ้าของร้านกล้วยทอด-มันทอด สูตรโบราณเจ้าดังย่านบางบัว ซึ่งเล่าให้ฟังถึงที่มาของอาชีพขายกล้วยทอด-มันทอดว่า เดิมนั้นเธอมีอาชีพเป็นแม่บ้าน สามีเป็นพนักงานแบงก์ มีลูก 3 คน เงินเดือนแต่ละเดือนไม่พอกับค่าใช้จ่ายในครอบครัว แม่สามีแนะนำให้ไปขายของในโรงเรียนจักรพงษ์เพราะยังมีที่ว่างอยู่ เธอจึงขายผลไม้เพราะยังไม่มีคนขาย ซึ่งกำไรก็พอจะได้เป็นค่ากับข้าวในแต่ละวัน แต่ช่วงปิดเทอมจะไม่มีรายได้เลย จึงไปรับขนมปังเจ้าดังมาขายกินเปอร์เซ็นต์ ก็ขายดีมาก จากนั้นมาเธอจึงขายทั้งผลไม้และขนมปังจนมีเงินเก็บส่วนหนึ่ง

“ต่อมาย้ายบ้านมาอยู่ย่านสายไหม ถ้าขายของในโรงเรียนต่อคงไม่ไหวเพราะมันไกลไม่คุ้มค่ารถ พอดีคุณแม่เอาสูตรกล้วยทอดของเพื่อนที่สนิทมาให้ พร้อมแนะนำทำเลที่ขายให้ด้วยว่าซอยบางบัว มีพนักงานหลายบริษัทมาซื้อหาของกินในซอยนี้กันเยอะ ที่สำคัญยังไม่มีคนทอดกล้วยขายด้วย จากนั้นก็ฝึกทอดกล้วย-ทอดมัน ประมาณ 5 วัน ก็มาเปิดร้านขาย แรก ๆ ขายไม่ค่อยได้ ต้องทำใจอดทนนานเป็นปีกว่าจนมีลูกค้าขาประจำ บอกกันปากต่อปากจนขายดิบขายดีจนสามีต้องลาออกจากงานมาช่วยกันขายส่งลูก ๆ เรียนจนจบและทำงานกันหมดแล้ว จากชิ้นละ 1 บาท ปัจจุบัน 8 ชิ้น 20 บาท และจากค่าเช่าที่เดือนละ 600 เดี๋ยวนี้เป็น 5,000 บาท จากลูกค้าเพิ่งเริ่มทำงานตอนนี้เป็นใหญ่เป็นโตหมดแล้ว แต่ก็แวะเวียนมาซื้อกันตลอด จนถึงวันนี้ 25 ปีแล้ว”

จุดเด่นผลิตภัณฑ์ของที่ร้าน สุดารัตน์ บอกว่า กรอบนอก นุ่มใน และชิ้นโต มีเมนูให้ลูกค้าได้เลือกสรรตามชอบ 4 อย่าง คือ กล้วยทอด, มันม่วงทอด, เผือกทอด และฟักทองทอด เทคนิคความอร่อยอยู่ที่วัตถุดิบแต่ละชนิดอยู่แล้ว เมื่อคัดสรรของดีมีคุณภาพมาผสมแป้งลงทอดจะยิ่งเพิ่มความอร่อย

อุปกรณ์ หลัก ๆ ที่ต้องใช้ก็มี เตาแก๊ส, กระทะขนาดใหญ่, ทัพพีด้ามยาว, ตะแกรง, ไม้ปลายแหลม, มีด, ถาดสเตนเลส, กะละมัง, หม้อขนาดใหญ่, กระด้ง, พัดลม เครื่องใช้เบ็ดเตล็ดอื่น ก็หยิบยืมเอาจากในครัว

วัตถุดิบ ที่ใช้ในการทำ มี กล้วยนํ้าว้าสุกกำลังดี ไม่สุกเกินไป ไม่ห่ามจนเกินพอดี (มันม่วง-เผือก-ฟักทอง), แป้งข้าวเจ้า 1 กก., แป้งข้าวโพด 2 ขีด (200 กรัม), มะพร้าวขูดขาว 4 กก., นํ้าปูนใส 1 ถ้วยตวง, ไข่ไก่ 3 ฟอง, นํ้าตาลทราย 1 กก., งาขาว, นํ้ามันปาล์ม, เกลือ และนํ้าสะอาด

ขั้นตอนการทำ “กล้วยทอด-มันทอด”
อันดับแรก เริ่มจากนำมะพร้าวขูดขาวมาแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนที่ 1 นำไปคั้นเป็นนํ้าหัวกะทิให้ได้ 2 ถ้วยตวง ส่วนที่ 2 พักเอาไว้ก่อน เพื่อที่จะใช้เป็นส่วนผสมตัวแป้งชุบกล้วย นำแป้งข้าวเจ้า และแป้งข้าวโพด มาร่อนผสมรวมกันในอ่างผสม ใส่นํ้าตาลทราย เกลือ ไข่ไก่ นํ้าหัวกะทิ ตามลงไป และนํ้าปูนใสใส่ตามลงไป (สังเกตดู ถ้าตัวแป้งแข็งเกินไป เติมนํ้าสะอาดลงไปเพิ่มนิดหน่อย) แล้วทำการนวดส่วนผสมแป้งให้เข้ากันดีใส่มะพร้าวขูดขาวที่เตรียมไว้ลงไป นวดเคล้าให้เนื้อมะพร้าวกับส่วนผสมแป้งเข้ากันดี จึงใส่งาขาวลงไปเคล้าให้ทั่ว พักแป้งไว้สักครู่
ระหว่างรอแป้งขึ้นตัว ตั้งกระทะบนเตาไฟ ใส่นํ้ามันให้ท่วม ใช้มีดปอกกล้วยผ่าลูกตามยาวลูก 3-4 ชิ้น ใส่ลงไปชุบในส่วนผสมแป้งให้ทั่วชิ้นกล้วย (ขั้นตอนนี้จะใช้เป็นมันม่วง, เผือก และฟักทอง ปอกเปลือกและล้างให้สะอาด พักให้สะเด็ดนํ้า หั่นเป็นชิ้นตามชอบ ตั้งพักไว้รอชุบแป้งลงทอดเหมือนกับกล้วย) พอนํ้ามันร้อนเอาของลงทอดในกระทะ ทำการเร่งไฟแรง (ถ้าไฟไม่แรงจะอมนํ้ามัน) ใช้ทัพพีคอยคนเป็นช่วง ๆ และกลับด้าน 2-3 ครั้ง สังเกตเห็นแป้งเหลืองกรอบ ตักขึ้นวางบนตะแกรงให้สะเด็ดนํ้ามัน แล้วเปิดพัดลมเบอร์แรงสุดเป่าให้กล้วยทอดคลายความร้อนสักครู่ (ขั้นตอนนี้จะทำให้กล้วยทอดมีความกรอบนอก นุ่มใน) ก่อนจะนำไปเทลงบนถาดที่รองกระดาษซับมันไว้ เพียงเท่านี้ก็เสร็จเรียบร้อย

ราคาขาย “กล้วยทอด-มันทอด-เผือกทอด-ฟักทองทอด” เจ้านี้ ขาย 8 ชิ้น 20 บาท!!!

ใครสนใจผลไม้ทอด ซึ่งเป็นขนมโบราณที่ทำจากภูมิปัญญาชาวบ้าน อย่าง “กล้วยทอด-มันทอด-เผือกทอด-ฟักทองทอด” ก็ลองฝึกลองทำดู หรืออยากจะซื้อหามาลองชิมดูว่าเจ้านี้อร่อยแตกต่างจากเจ้าอื่นยังไง ร้านอยู่ตรงสามแยกกลางซอยเคหะบางบัว ซอยพหลโยธิน 49/1หรือจะเข้าทางถนนวิภาวดี 60 ก็ได้ เปิดร้าน 06.30-14.30น. ทุกวัน ต้องการสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ เจ้สุดารัตน์ เจ้าของกรณีศึกษา “ช่องทางทำกิน” ได้ที่โทร. 06-3329-6340..นี่ก็เป็นอีกหนึ่งภูมิปัญญาพื้นบ้านที่สามารถนำมา สร้างอาชีพได้อย่างน่าทึ่ง!!….

เชาวลี ชุมขำ : เรื่อง