หลังจากช่วง เม.ย. ไทยถูกเชื้อ สายพันธุ์แอลฟา (อังกฤษ B117) เล่นงานอย่างหนัก หลังจากนั้นยังมาพบ สายพันธุ์เดลตา (อินเดีย B.1.617.2) จากแคมป์คนงานก่อสร้าง ปัจจุบันกำลังขยายวงจนน่าเป็นห่วง ล่าสุดก็พบด้วยว่า สายพันธุ์เบตา (แอฟริกาใต้ B.1.351) ตรวจเจอในกรุงเทพฯแล้ว

กระทั่งวันที่ 28 มิ.ย. จึงมีการยกระดับคุมเข้ม “พื้นที่กลุ่มเสี่ยง 10 จังหวัด” เพื่อใช้มาตรการควบคุมและสกัดกั้นการระบาดของเชื้ออย่างเร่งด่วนในพื้นที่ กรุงเทพมหานคร-ปริมณฑล (จ.นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ นครปฐม และสมุทรสาคร) รวมถึงพื้นที่ 4 จว.ชายแดนภาคใต้ (จ.ยะลา นราธิวาส ปัตตานี และสงขลา) เป็นการชั่วคราว 30 วัน

จี้ตรวจเชิงรุก-สายพันธุ์ “เดลตา” ขยายวง
ยอดตัวเลขผู้ป่วย ณ วันที่ 28 มิ.ย. ผู้ติดเชื้อรายใหม่ทุบสถิติ พุ่งพรวดสูงถึง 5,406 ราย เสียชีวิต 22 ราย (ยอดติดเชื้อสะสม 220,990 ราย ยอดผู้เสียชีวิต 1,934 ราย ) สะท้อนให้เห็นความร้ายแรงของเชื้อโควิดกลายพันธุ์ ถึง 3 สายพันธุ์ที่เข้ามาแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานครและจังหวัดปริมณฑล ขณะที่ยอดการฉีดวัคซีน 77 จังหวัดทั่วประเทศ ณ วันที่ 27 มิ.ย. จำนวน 8,981,478 โด๊ส แยกเป็น เข็มแรก 6,435,308 โด๊ส (9.7%) เข็มสอง 2,546,170 โด๊ส (3.8%)

ทีมข่าว 1/4 Special Report ได้สัมภาษณ์มุมมองความเห็นเรื่องนี้กับทาง ผศ.ดร.นพ.ปกรัฐ หังสสูต หัวหน้าสาขาไวรัสวิทยา ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโควิดในไทยตอนนี้ ในพื้นที่กรุงเทพฯมีการติดเชื้อสายพันธุ์เดลตา มากขึ้นเรื่อย ๆ ส่วนทางจังหวัดชายแดนภาคใต้มีการแพร่ระบาดของสายพันธุ์เบตาแม้จะติดเชื้อได้ยากกว่า แต่มีความร้ายแรงค่อนข้างมาก และด้วยความที่มีการแพร่กระจายอยู่หลายสายพันธุ์ สิ่งที่จำเป็นมากตอนนี้คือ การตรวจหาสายพันธุ์ที่ทำให้ติดเชื้อแบบเรียลไทม์ ซึ่งไทยตรวจได้ช้า เพราะถ้าหากเรารู้ถึงชนิดของสายพันธุ์ที่แพร่กระจายในพื้นที่นั้นได้เร็ว จะทำให้บุคลากรทางการแพทย์รับมือได้ทัน

ภาวะของในกรุงเทพฯ ตอนนี้คล้าย ๆ ประเทศอังกฤษ ที่ก่อนหน้านั้นมีการระบาดของสายพันธุ์อัลฟา แต่พอมีสายพันธุ์เดลตาหลุดเข้าไปได้ ทำให้ตอนนี้ประชากรอังกฤษ 60-70 % ติดเชื้อ สายพันธุ์นี้มากขึ้น สิ่งนี้เป็นเรื่องที่น่าห่วงสำหรับไทย เพราะจากการแพร่กระจายของสายพันธุ์อัลฟาตั้งแต่เดือนเมษายน ปริมาณผู้ติดเชื้อก็ไม่ได้ลดลง ตอนนี้ยอดผู้ป่วยในโรงพยาบาลของเชื้อเดลตาค่อย ๆ เพิ่มมากขึ้นเนื่องจากแพร่กระจายเชื้อได้เร็วกว่า

การแพร่กระจายของสายพันธุ์เดลตาในอังกฤษ ที่มีปริมาณประชากรใกล้เคียงกับไทย เพียงแต่อังกฤษมีวัคซีนที่หลากหลายกว่าในการฉีดให้กับประชากร โดยใช้แอสตราเซเนกา เป็นวัคซีนหลัก มีวัคซีนไฟเซอร์ และโมเดอร์นา มาเสริม ยิ่งพอมาวิเคราะห์อัตราการฉีดวัคซีนของประชากรอังกฤษ ที่ฉีดวัคซีนเข็มแรกไปแล้ว 43.4 ล้าน/คน ส่วนเข็มสองฉีดไปแล้ว 31.7 ล้าน/คน จะเห็นว่ามีประชากรจำนวนมากที่มีภูมิต้านทานจากวัคซีน แต่พอมีการระบาดของสายพันธุ์เดลตา ทำให้มีประชากรอังกฤษที่ติดเชื้อเพิ่มขึ้นวันละหลายหมื่นคน แต่ที่น่าสนใจคือ อัตราการเสียชีวิตไม่มากน่าจะมาจากวัคซีน 

“วัคซีน” หลากหลายช่วยตอบโจทย์ได้
ผศ.ดร.นพ.ปกรัฐ กล่าวต่อว่า ถ้ามองกลับมายังไทย อัตราการฉีดวัคซีนให้ประชากรยังมีไม่มากเท่าอังกฤษ เช่นเดียวกับวัคซีนที่อังกฤษมียี่ห้อที่หลากหลายกว่า แต่พอมีการแพร่ระบาดของสายพันธุ์เดลตาเข้าไปยังมีผู้ติดเชื้อหนักขนาดนี้ นี่จึงเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงมาก สำหรับการแพร่ระบาดภายในประเทศไทยต่อจากนี้ หลายโรงพยาบาลในกรุงเทพฯ ตอนนี้ปริมาณผู้ป่วยโควิดที่มีอาการหนักค่อนข้างมาก ถ้าปล่อยให้มีการแพร่ระบาดเพิ่มขึ้นมากกว่านี้ ห้องไอซียูจะไม่เพียงพอกับคนไข้ และมีปริมาณผู้ที่เสียชีวิตมากขึ้น หากมองในเรื่องของประสิทธิภาพของวัคซีนในการต่อต้านเชื้อโควิดกลายพันธุ์ โดยเฉพาะประเทศในแอฟริกาใต้ ที่ใช้วัคซีนซิโนแวคเป็นวัคซีนหลักเหมือนไทย แต่ก็พบว่า มีอัตราการติดเชื้อเพิ่มมาก

โดยปกติไวรัสที่กลายพันธุ์ ตำแหน่งโปรตีนบนไวรัสจะมีลักษณะเปลี่ยนไป ทำให้ดื้อวัคซีน เช่น สายพันธุ์เดลตา ที่เมื่อมีการแพร่กระจายมาก ๆ จะกลายพันธุ์ได้อีก จนเกิดสายพันธุ์ ’เดลตา พลัส“ ที่โปรตีนบนไวรัสมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม 1 ตำแหน่ง และมีโอกาสทำให้ดื้อวัคซีนมากขึ้น ดังนั้นความร้ายแรงของไวรัส อาจไม่จำเป็นว่าต้องพัฒนาจนเป็นสายพันธุ์ใหม่ แต่การเปลี่ยนแปลงแค่ตำแหน่งเดียว ก็ส่งผลให้เกิดความร้ายแรงเพิ่มขึ้นได้

สำหรับการเปรียบเทียบประสิทธิภาพวัคซีนที่มีในไทย ตอนนี้ ไม่สามารถนำประสิทธิภาพของซิโนแวค ไปเปรียบเทียบกับวัคซีนอื่น ๆ ได้เลย เนื่องจากข้อมูลตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์มีน้อยมาก ซึ่งประสิทธิภาพที่เราได้ยินส่วนใหญ่มาจากการแถลงข่าว หรือการอ้างของบริษัทผู้ผลิต และประเทศที่นำซิโนแวคไปฉีดให้กับประชากร ตามหลักความเป็นจริงซิโนแวคอาจดีตามที่มีการบอกกล่าว แต่สิ่งที่น่าสงสัยคือ ในเมื่อมีการใช้อย่างแพร่หลาย แต่ทำไมวารสารทางการแพทย์ไม่มีการตีพิมพ์ข้อมูลวัคซีนตัวนี้ ทั้งที่วัคซีนตัวอื่น แค่มีการทดลองในกลุ่มตัวอย่าง 30,000- 40,000 คน ก็มีการตีพิมพ์ผลวิจัยออกมาแล้ว ส่วนแอสตราเซเนกามีผลวิจัยในอังกฤษระบุว่า เมื่อฉีดเข็มแรกมีการกระตุ้นภูมิเทียบเท่ากับคนที่ฉีดไฟเซอร์ ส่วนเข็มสองผลวิจัยในการฉีดแอสตราเซเนกา ข้อมูลการวิจัยที่ออกมายังมีน้อย

แนวทางการแก้ปัญหาและป้องกันการระบาดต่อจากนี้ ถ้ามองประเทศที่ตอนนี้สามารถควบคุมสถานการณ์ได้เช่น อเมริกา ใช้วัคซีนของไฟเซอร์, โมเดอร์นา ดังนั้นจะเห็นว่าเขาใช้วัคซีนที่ฉีดให้กับประชากรคนละยี่ห้อกับไทย ซึ่งถ้ามองในมุมกลับกัน ประเทศในแถบแอฟริกาใต้ ที่ฉีดวัคซีนเชื้อตายเป็นหลักเหมือนกับไทย การแพร่ระบาดยังมีสูง สิ่งนี้จึงคาดเดาได้ว่า ประสิทธิภาพของวัคซีนที่ไทยกำลังใช้อยู่มีประสิทธิภาพด้อยกว่า

ดังนั้นแนวโน้มประชากรในไทยจึงควรมีการฉีดกระตุ้นใน “เข็มที่ 3” และควรเป็นยี่ห้ออื่นที่ไม่ใช่ซิโนแวค และควรเป็นวัคซีนที่มีการผลิตโดยไม่ได้ใช้เชื้อตาย เพื่อให้เกิดการกระตุ้นภูมิคุ้มกันอย่างแท้จริง!!.

จำเป็นแน่วัคซีน ‘เข็ม3’ กระตุ้นภูมิ
ผศ.ดร.นพ.ปกรัฐ หังสสูต หัวหน้าสาขาไวรัสวิทยา ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ยังมีมุมมองด้วยว่า หากมองไทม์ไลน์การระดมฉีดวัคซีนตอนนี้ในไทย ยังไม่ทั่วถึง คาดว่า ปลายปี 64 ก็ยังไม่ได้ฉีด วัคซีนเข็ม 3 เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ในการฉีดเข็ม 3 เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน รัฐบาลจึงควรมีการวางแผนในการฉีดวัคซีน โดยระยะแรกอาจมุ่งเน้นฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์ที่อยู่ในแนวหน้าให้เร็วที่สุด เพราะบุคลากรเหล่านี้ ส่วนใหญ่เข็มแรกและเข็มที่สองจะฉีดซิโนแวค  สถานการณ์ปัจจุบันปัญหา การกลายพันธุ์ ของเชื้อไวรัสที่เปลี่ยนไปวัคซีนจึงอาจไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอในการป้องกัน และหากบุคลากรล้มป่วยจำนวนมาก ย่อมส่งผลต่อระบบสาธารณสุขในการดูแลคนไข้ด้วย

การบริหารจัดการวัคซีนเข็มที่ 3 เป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องมีการวางแผน โดยจะต้องมีการนำเข้าวัคซีนอย่างน้อย 2 ยี่ห้อ เพื่อป้องกันการขาดแคลน และควรมีการวิจัยว่า ในประชากรที่ฉีดวัคซีนหลักในเข็มที่ 1 และ 2 แล้ว หากฉีดเข็มที่ 3 ควรใช้เทคโนโลยีอะไร เพื่อให้มีประสิทธิภาพการป้องกันมากที่สุด ขณะเดียวกันถ้าหันมามองวัคซีนที่มีการวิจัยของไทย เช่น “วัคซีนจุฬาคอฟ 19” (ChulaCov19) ที่ตอนนี้เริ่มทดลองในมนุษย์ และมีการวิจัยประสิทธิภาพในเข็มที่ 3 ควบคู่กันไปด้วย คาดว่าจะนำออกมาใช้ได้ในช่วงเดือนเมษายน ปี 2565 ตอนนี้เราอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่สามารถหาวัคซีนมาใช้ได้ ซึ่งวัคซีนที่เราใช้ป้องกันได้บางส่วน แต่ถึงอย่างไรก็ต้องฉีดเพื่อป้องกันตัวเองไม่ให้ป่วยหนัก.