ใครที่เคยถอนผมเล่นจนเป็นนิสัย จนผมแหว่งบ้าง? หรือใครที่ชอบทำผมบ่อยๆ ทั้งม้วน ย้อมสี ดัด หนีบผมให้ตรง จนมารู้อีกทีในภายหลังว่า “กระหม่อมบางลง” ผมที่เคยดกหนากลับร่วงจนน่าวิตกกังวล ฉะนั้นสาระความรู้ที่จะนำมาบอกทุกๆ คนวันนี้ หากผมร่วงต่อเนื่อง ย้ำนะว่าต้อง “ต่อเนื่อง” โดยหมั่นสังเกตสักนิด…

หากผมร่วงเกินวันละ 50-60 เส้น ควรหาสาเหตุที่แท้จริง เพราะอาจเป็นสัญญาณเตือนที่เกิดจากโรค หรือความผิดปกติของร่างกาย เช่น โรคเอสแอลอี ไทรอยด์ ซิฟิลิส โรคตับ โรคไต

แต่โดยปกติผมของคนเรา จะมีประมาณ 80,000 – 1,200,000 เส้น งอกยาวขึ้นประมาณวันละ 0.35 มม. และมีอายุนาน 2-6 ปี ซึ่งปกติจะมี “ผมร่วง” เป็นประจำทุกวัน แต่ไม่เกินวันละ 30-50 เส้น ดังนั้น “ผมร่วง” ผิดปกติอาจเกิดจากสาเหตุ เช่น ผมร่วงจากกรรมพันธุ์ พบได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย

นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ อธิยายขยายความชัดเจนว่า ส่วนใหญ่แล้ว “ผมร่วง” มักเกิดกับผู้ชาย เนื่องจากรากผมมีความไวต่อ “ฮอร์โมนแอนโดรเจน” ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศชาย ทำให้เส้นผมมีอายุสั้นกว่าปกติ และเส้นผมที่เกิดใหม่มีขนาดเล็กและบางลง ส่วนมากจะเป็นบริเวณกลางศีรษะและหน้าผาก เริ่มสังเกตได้เมื่อมีอายุ 20 ปี ขึ้นไป ส่วนผู้หญิงมักแสดงอาการหลังวัยหมดประจำเดือน

“ผมร่วง” เนื่องจากผมหยุดเจริญชั่วคราว ในแต่ละวันจะมีเส้นผมประมาณ 10-15 % ที่หยุดเจริญและหลุดร่วงไป แต่ในบางภาวะเส้นผมที่กำลังเจริญอาจหยุดการเจริญในทันที ทำให้มีเส้นผมเสื่อมและหลุดร่วงเพิ่มขึ้น เช่น หลังคลอดเสียเลือด หลังเป็นไข้สูง ผู้ที่ผ่านการผ่าตัดใหญ่ เจ็บป่วยเรื้อรัง การใช้ยาบางชนิด และภาวะเครียดทางจิตใจ “ผมร่วง” ชนิดนี้มักจะเกิดขึ้นใน 1-3 เดือน หลังจากนั้นจะหยุดร่วงและงอกขึ้นใหม่ตามปกติ

“ผมร่วงเป็นหย่อม” เกิดขึ้นไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด ตรงกลางศีรษะไม่มีเส้นผม หนังศีรษะในบริเวณนั้นไม่แดง ไม่เจ็บและคัน ไม่เป็นสะเก็ดหรือเป็นขุย เป็นมากๆ ลุกลามจนทั่วศีรษะ ขนตาและขนคิ้วร่วง บางคนอาจหายเองตามธรรมชาติ แต่กินเวลาเป็นปี รักษาหายแล้วอาจกำเริบเป็นๆ หายๆ ซึ่งอาจเป็นร่วมกับโรคต่อมไทรอยด์และโรคด่างขาว

“ผมร่วงจากการถอนผม” พบได้บ่อยในเด็กที่มีปัญหากดดันทางจิตใจด้วยสาเหตุต่างๆ เช่น ปัญหาทางครอบครัว ปัญหาการเรียน เด็กบางคนถอนผมเล่นจนเป็นนิสัย จนผมแหว่ง หนังศีรษะบริเวณที่ “ผมร่วง” จะไม่มีผื่นคัน หรือเป็นขุย และจะพบเส้นผมที่เป็นตอสั้นๆ อยู่มาก เนื่องจากผู้ป่วยถอนออกไม่ถนัด

“ผมร่วงจากเชื้อรา” โรคเชื้อราที่ศีรษะ (กลากที่ศีรษะ) อาจพบได้บ่อยในเด็ก เกิดจากการติดเชื้อรา โรคนี้ผมร่วงเป็นหย่อมๆ เป็นผื่นแดงคันและเป็นขุยหรือสะเก็ด นอกจากนี้มักจะพบร่องรอยของโรค เชื้อรา (กลาก) ที่มือ เท้า ลำตัวหรือในบริเวณร่มผ้าร่วมด้วย

“ผมร่วงจากการทำผม” การทำผมด้วยการม้วนผม ย้อมสีผม ดัดผม เป่าผม หรือวิธีอื่นๆ อาจทำให้ผมร่วงได้ เพราะหนังศีรษะอักเสบ เส้นผมจะเปราะหักได้ง่ายกว่าปกติ หรือที่หลายคนมักชอบพูดว่า “ผมเสีย” เพราะทำบ่อยเกินไปก็ใช่ว่าจะดี

“ผมร่วงจากยาและการฉายรังสี” ยาที่ใช้อาจทำให้เกิดอาการผมร่วง ซึ่งมีอยู่หลายชนิด เช่น ยารักษามะเร็ง การฉายรังสีรักษามะเร็ง ยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด ยารักษาคอพอกเป็นพิษ ยาคุมกำเนิด ยาใช้ป้องกันโรคเกาต์

ส่วน “ผมร่วง” จากโรคอื่นๆ ผู้ป่วยที่เป็นโรคบางอย่าง เช่น โรคเอสแอลอี อาจมีอาการ ผมร่วง ผมบาง ร่วมกับอาการไข้เรื้อรัง ปวดตามข้อ มีผื่นปีกผีเสื้อขึ้นที่หน้า โรคเรื้อรังบางอย่าง ก็ทำให้ผมร่วงได้ เช่น ไทรอยด์ ซิฟิลิส โรคตับ โรคไต

คำแนะนำข้อควรปฏิบัติสำหรับผู้ที่มีปัญหา “ผมร่วง” ควรสระผมทำความสะอาดเส้นผมและผิวหนังของศีรษะอย่างสม่ำเสมอ ไม่ควรเกาหรือขยี้หนังศีรษะแรงจนเกินไป หลีกเลี่ยงการดึงหรือถอนผมเล่น และหลีกเลี่ยงความเครียด เพราะจะกระตุ้นให้อาการ “ผมร่วง” มากขึ้น

เมื่อไหร่ที่เรียกว่าผมร่วง? ให้ลองนับจำนวนเส้นผมที่หล่นรวมกันในแต่ละวัน หากต่ำกว่าวันละ 100 เส้น ก็สบายใจได้ เพราะนั้นยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่เฉลี่ยแล้วเกินวันละ 100 เส้น ให้สงสัยก่อนเลยว่าผิดปกติ

มาเริ่มลองนับเส้นผมกันดีกว่า “ผมร่วง” อยู่ในเกณฑ์ปกติหรือไม่ ผู้ชายให้ประมาณ 50-60 เส้นต่อวัน ส่วนผู้หญิงให้ 100-120 เส้นต่อวัน ถ้ามากกว่าและต่อเนื่องกันหลายๆ วันมักผิดปกติแน่นอน!!

…………………………………
คอลัมน์ : Healthy Clean
โดย “ทวีลาภ บวกทอง”