เอเปค หรือ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation : APEC) ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2532 โดยมีเป้าหมายหลักคือ การส่งเสริมการเปิดเสรีการค้าการลงทุน รวมถึงความร่วมมือในด้านมิติสังคมและการพัฒนาด้านอื่น ๆ อาทิ ความร่วมมือด้านการเกษตร การส่งเสริมบทบาทสตรีในเศรษฐกิจ การลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ และการพัฒนาด้านสาธารณสุข เพื่อนำไปสู่การสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุม ยั่งยืน และความมั่งคั่งของประชาชนในภูมิภาค

ปัจจุบัน เอเปคมีสมาชิกจำนวน 21 เขตเศรษฐกิจ ประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น แคนาดา เกาหลีใต้ และรัสเซีย โดยไทยเป็น 1 ใน 12 เขตเศรษฐกิจผู้ร่วมก่อตั้ง ทั้งนี้ เอเปคมีประชากรรวมกว่า 2,900 ล้านคน หรือประมาณ 1 ใน 3 ของโลก โดยการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคครั้งนี้กำหนดหัวข้อหลัก “เปิดกว้าง สร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล”

จากการจัดเตรียมความพร้อมมีขึ้นในหลายด้าน เช่นเดียวกับ ของขวัญของที่ระลึก โดยที่ผ่านมารัฐบาลเปิดภาพของที่ระลึกสำหรับผู้นำและคู่สมรส และแขกพิเศษที่เข้าร่วมประชุมเอเปค นำเสนอเอกลักษณ์ความเป็นไทยทรงคุณค่า เพื่อสร้างความประทับใจในการต้อนรับของไทย 7 ชิ้น

ภาพดุนโลหะ ขนาด 30 x 60 ซม. หนา 5 ซม. ผลิตจากโลหะรีไซเคิล สะท้อนถึงตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมของ BCG ใช้เทคนิคดุนลายบนแผ่นโลหะรีไซเคิล โดยขึ้นเป็นรูปพระบรมมหาราชวัง มุมมองจากหอประชุมกองทัพเรือ ซึ่งเป็นสถานที่จัดงานเลี้ยงรับรองผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคและคู่สมรส ประดับพื้นหลังด้วยตราสัญลักษณ์การเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทย “ชะลอม” ที่จัดวางเป็นรูปทรงตราประจำยามของไทย ผลิตจากชุมชนคุณธรรมวัดศรีสุพรรณ (วัวลาย) จังหวัดเชียงใหม่ เป็นหนึ่งในของที่ระลึก

เช่นเดียวกับ กล่องเครื่องประดับดุนโลหะ (สำหรับคู่สมรส) ขนาด 13 x 20 ซม. หนา 5 ซม. ใช้เทคนิคดุนลายบนแผ่นโลหะรีไซเคิล เป็นลวดลายด้วย ตราสัญลักษณ์การเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทย “ชะลอม” ที่จัดวางเป็นรูปทรงตราประจำยามของไทย ผลิตจากชุมชนคุณธรรมวัดศรีสุพรรณ (วัวลาย) จังหวัดเชียงใหม่

มี ผลิตภัณฑ์ผ้าไหมทอมือย้อมสีธรรมชาติ จาก อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา พิมพ์ลายตราสัญลักษณ์ชะลอม ประกอบด้วย เนกไท ผ้าคลุมไหล่ ผ้าเช็ดหน้า หน้ากากผ้า ทั้งนี้ ของขวัญและของที่ระลึกทั้ง 3 รายการจะใช้บรรจุภัณฑ์ที่ผลิตจากไม้ยางพาราฆ่าเชื้อ ประดับตราสัญลักษณ์ APEC 2022 ด้านหน้าบรรจุภัณฑ์

ส่วนของขวัญที่ระลึกจากหน่วยงานของไทย ได้แก่ สมุดรายนามผู้ผลิตผ้าไหม และผู้ประกอบการทั่วประเทศฉบับพิเศษ โดยสำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เหรียญกษาปณ์ที่ระลึกการประชุมฯ โดยกรมธนารักษ์

นอกจากนี้มีของขวัญและของที่ระลึกจากสถาบันสิริกิติ์ มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จำนวน 2 รายการ ได้แก่ กรอบรูปถมเงิน ขนาด 5 x 7 นิ้ว พร้อมภาพพระราชทานของผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ในระหว่างการเข้าเฝ้าฯ กล่องลิเภาเลี่ยมขอบเงิน ตกแต่งเงินลงยาสี ซึ่งทั้งสองรายการนี้จะมอบให้ผู้นำเขตเศรษฐกิจ และแขกพิเศษของรัฐบาลในภายหลัง

สืบเนื่องจากของที่ระลึก ชวนมองบทบาทของที่ระลึก ความสำคัญของที่ระลึก โดย อาจารย์อครพล กฤตฤานนท์วงศ์ อาจารย์สาขาการออกแบบนิเทศศิลป์ รองคณบดีฝ่ายบริหาร วิทยาลัยการออกแบบ มหาวิทยาลัยรังสิต ให้มุมมองความรู้ว่า ถ้ามองคำว่าของที่ระลึก การตีความ การสร้างการจดจำ สร้างความประทับใจสิ่งเหล่านี้มีความสำคัญ โดยถ้ามองในมุมมองการสร้างแบรนด์ การแสดงอัตลักษณ์ ของที่ระลึกเป็นสื่อหนึ่งที่สะท้อนความคิดความตั้งใจ เป็นเครื่องมือที่ดี โดยวาระโอกาสนี้นานาประเทศที่เข้าร่วมประชุมเกิดมุมมองหรือเห็นแง่มุมของประเทศ

“จากของที่ระลึกการประชุมเอเปค หากดูจากรูปแบบการนำเสนอ เป็นมุมมองที่ทั่วโลกรู้จักประเทศไทย มองเห็นศักยภาพ งานคราฟต์ ศิลปวัฒนธรรมแขนงต่าง ๆ ที่สะท้อนวิถีชีวิต ภูมิปัญญา แง่มุมการประดิษฐ์สร้างสรรค์ งานศิลปะ งานฝีมืองานช่างแขนงต่าง ๆ ที่เป็นเอกลักษณ์ โดยถ้าต้องการให้เกิดการจดจำประเทศเราในมุมมองนี้ ทั้งในด้านฝีไม้ลายมือแง่มุมการสร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรมต่าง ๆ ก็มีความชัดเจน ตอบโจทย์”

แต่หากต้องการสื่อสารสะท้อนด้านอื่น ๆ จะเห็นว่าเรามีหลายหน่วยงานทั้งสถาบันการศึกษา มีนักออกแบบ สมาคมนักออกแบบ กราฟิกดีไซเนอร์ และนักออกแบบแถวหน้าระดับโลกหลายท่านการผสานความร่วมมือนำนักออกแบบเข้าร่วมสร้างสรรค์ส่วนต่าง ๆ การวางแผนในภาพรวมร่วมกันจะเพิ่มเสริมให้เห็นมุมมองของประเทศเราในหลายมิติ

“ประเทศไทยมีซอฟต์พาวเวอร์ เป็นครีเอทีฟอีโคโนมี หรือแม้แต่กรุงเทพมหานครก็ได้รับการยอมรับเป็นครีเอทีฟซิตี้เมืองหนึ่งของเอเชีย หรือแม้แต่จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดภูเก็ต และอีกหลากชุมชนก็เป็นจุดหมาย เป็นสถานที่ให้นักออกแบบหรือผู้ที่ต้องการความคิดสร้างสรรค์ ทั้งชาวไทยและต่างชาติแวะมาเยี่ยมเยือน

งานฝีมือ งานคราฟต์ที่เป็นเอกลักษณ์เป็นความงดงาม ควรแก่การสืบสานรักษา การทำงานร่วมกันของนักออกแบบและช่างฝีมือจะทำให้มีวิธีการเล่าที่ต่างออกไป แต่อย่างไรคงต้องดูส่วนต่าง ๆ ร่วมด้วย ทั้งนี้ของที่ระลึกอาจบอกเล่าเพียงเรื่องนี้ ขณะที่ซอฟต์
พาวเวอร์ อาจอยู่ในรูปแบบอาหารที่จัดเลี้ยง หรือการแสดงที่จัดโชว์ หรือมุมมองในเรื่องครีเอทีฟอีโคโนมี แสดงอยู่ในส่วนต่าง ๆ ของการจัดการประชุมฯ หรือไม่อย่างไร หรือมีบูธจัดแสดงให้ข้อมูลหรือไม่ ฯลฯ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้สามารถสื่อสารได้ทั้งหมด ต้องดูในภาพรวม”

รองคณบดีฝ่ายบริหาร วิทยาลัยการออกแบบ อาจารย์อครพลให้มุมมองเพิ่มอีกว่า ของที่ระลึกอาจซ่อนเพียงข้อความใดข้อความหนึ่ง คงไม่ใช่ทั้งหมด อย่างไรก็ตามหลังจากโควิด การจัดประชุมฯ ครั้งนี้เป็นโอกาสสำคัญที่จะแสดงศักยภาพ แสดงพลังสร้างสรรค์ฝีมือคนไทย

อาจารย์อครพล กล่าวอีกว่า งานหัตถกรรม งานฝีมือของไทยเป็นที่ยอมรับ เป็นที่ประจักษ์ชัด เรามีช่างฝีมือที่ดีเลิศ มีศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ จากที่กล่าวการทำงานควบคู่กัน ช่างฝีมือควบคู่กับการออกแบบ ภาพลักษณ์ใหม่ ๆ ก็เกิดขึ้นและ การทำงานที่ประสานกันจะยิ่งส่งเสริมคุณค่า ทั้งในด้านงานฝีมือ การดีไซน์ที่ซ่อน message ใหม่ ๆ เป็นอีกช่องทางส่งเสริมเศรษฐกิจ

“ผ้าไหมทอมือ หนึ่งในของที่ระลึก บอกเล่างานฝีมือ งานหัตถกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น จังหวัดนครราชสีมา หรือของที่ระลึกงานดุนโลหะ จากชุมชนวัดศรีสุพรรณ จังหวัดเชียงใหม่ ฯลฯ มีความเด่นชัดถึงความเป็นไทย เป็นภาพจำที่ชาวต่างชาติรู้จักประเทศไทย

การได้เห็นซึมซับสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรม ประเพณี งานฝีมือ สถานที่ท่องเที่ยวธรรมชาติ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้เป็นกลไกหนึ่งในการกระตุ้นเศรษฐกิจ”

ประเทศไทยเราก็มีจุดแข็งงานช่าง งานฝีมือ จากที่กล่าวถ้ามีการทำงานควบคู่กันระหว่างช่างฝีมือกับนักออกแบบไทย การควบคู่กันไปในมิตินี้ยิ่งบอกเล่าตอกยํ้าศักยภาพเด่นชัดเปิดมุมมอง มองโอกาสธุรกิจใหม่ ๆ ขึ้น อาจารย์ให้มุมมองเติมถึงกลยุทธ์การสื่อสารทิ้งท้ายอีกว่าทุก ๆ อย่างเป็นตัวแทนบางอย่างเสมอ ไม่ว่าจะเป็นการแต่งกาย อากัปกิริยา ท่าทางการต้อนรับ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้สื่อสารความหมายได้ดี

อีกทั้งศักยภาพของนักออกแบบไทยที่จะร่วมผลักดันธุรกิจสร้างสรรค์ในด้านต่าง ๆ การประชุมฯ ครั้งนี้หากนำเสนอแสดงศักยภาพความสามารถเหล่านี้ได้ก็เป็นเรื่องที่ดี รวมถึงการประสานความร่วมมือกันจากทุกภาคส่วนซึ่งเป็นอีกส่วนสำคัญ

อีกกลไกเชื่อมโยงร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สร้างความแข็งแกร่ง.

พงษ์พรรณ บุญเลิศ