อาการปวดตามร่างกายมีหลายรูปแบบ แต่ปวดแบบไหนที่ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษานั้น เรื่องนี้ นพ.ธีรฉัตต์ ธนะสารสมบูรณ์ ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ โรงพยาบาลนครธน บอกว่า ปวดหลัง อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุไม่ว่าจะเป็นกล้ามเนื้อ, เส้นเอ็น, หมอนรองกระดูกสันหลังหรือกระดูกสันหลัง หลายอาการสามารถหายเองได้ หรือรักษาได้ด้วยวิธีการอื่นที่ไม่ใช่การผ่าตัด เช่น การใช้ยา หรือการทำกายภาพบำบัด เป็นต้น

สำหรับสัญญาณเตือนที่บอกว่าต้องไปพบแพทย์ คือ

1. ปวดหลังและหรือปวดร้าวลงขาจนไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ เช่น ลุกยืน นั่ง หรือเดิน และปวดมากขึ้นเมื่อขยับยืนหรือเดิน

2. ปวดร้าวตามเส้นประสาทจากหลังลงไปถึงขา โดยการปวดอาจมีลักษณะคล้ายไฟฟ้าช็อต

3. มีอาการชาและ/หรืออ่อนแรงแขนหรือขาร่วมด้วย

4. กลั้นปัสสาวะหรืออุจจาระไม่อยู่ร่วมกับอาการปวดหลัง

5. ปวดตามแนวกระดูกกลางหลัง ที่ไม่ได้ปวดเยื้องไปด้านซ้ายหรือขวา

6. ปวดต่อเนื่องนานเกิน 4 สัปดาห์

7. ปวดหลังและ/หรือร้าวลงขาลักษณะปวดแบบเฉียบพลัน ที่ไม่ได้เกิดจากการยกของหนัก ออกกำลังกาย หรือขยับตัวผิดท่า หรืออุบัติเหตุ

อาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าเกิดความผิดปกติเกี่ยวกับกระดูกสันหลัง เช่น หมอนรองกระดูกเคลื่อนไปกดทับเส้นประสาท หรือมีโพรงกระดูกสันหลังตีบที่เกิดจากความเสื่อมของร่างกาย กระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาท หรือกระดูกสันหลังส่วนคอเสื่อม

การรักษาอาการดังกล่าวจะใช้การผ่าตัดส่องกล้อง ทำให้มีแผลเล็กเพียง 8 มิลลิเมตรหรือเพียงปลายนิ้วก้อย ใช้เวลาผ่าตัดและรอให้ผู้ป่วยฟื้นจากยาสลบเพียงแค่ 2 ชั่วโมง ก็กลับไปพักฟื้นที่ห้องผู้ป่วย และสามารถกลับบ้านได้ เดินได้ด้วยตนเอง

ดังนั้น ถ้าปวดหลังและมีสัญญาณเตือนเหล่านี้ รีบมาพบแพทย์ทันที ไม่จำเป็นต้องทนปวด อย่ารีรอ ไม่มีอะไรต้องกังวลเมื่อถึงมือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ที่สามารถให้ last opinion และแก้ไขปัญหาสุขภาพให้ได้อย่างตรงจุด.

คอลัมน์ : คุณหมอขอบอก

เขียนโดย : อภิวรรณ เสาเวียง