อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทเป็นพื้นที่ที่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ซึ่งพบว่าผู้คนที่อาศัยอยู่ในบริเวณนี้ได้ใช้ประโยชน์กับพื้นที่มาต่อเนื่องยาวนานกว่า 3,000 ปี เช่น ภาพเขียนสีตามเพิงหินในยุคก่อนประวัติศาสตร์ มีวัฒนธรรม “สีมา”หรือการปักเสาหินล้อมรอบเพิงหินเพื่อเป็นลานประกอบพิธีกรรมทางศาสนา นอกจากนี้ยังมีหลักฐานพบร่องรอยกิจกรรมมนุษย์มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ มีภาพเขียนสีมากกว่า 30 แห่ง การดัดแปลงของโขดหินและเพิงผาธรรมชาติให้เป็นศาสนสถานของผู้คนในยุคทวารวดี และลพบุรี สืบต่อกันมาจนถึงวัฒนธรรมล้านช้าง ตามลำดับ ร่องรอยหลักฐานทางโบราณคดีเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการทางสังคมของผู้คนในยุคนั้น วิถีชีวิตของผู้คนในสมัยนั้นดำรงชีวิตด้วยการเก็บของป่า และล่าสัตว์เป็นอาหาร เมื่อขึ้นมาพักค้างแรม อยู่บนโขดหินและเพิงผาธรรมชาติเหล่านี้ก็ได้ใช้เวลาว่างขีดเขียนภาพต่าง ๆ เช่น ภาพคน ภาพสัตว์ ภาพฝ่ามือ ตลอดจนภาพลายเส้นสัญลักษณ์ต่าง ๆ ไว้บนผนังเพิงผาที่ใช้พักอาศัย ปรากฏอยู่ในบริเวณอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทเป็นจำนวนมาก เป็นพื้นที่ทางประวัติศาสตร์แห่งเดียวที่ตั้งอยู่บนภูเขา โดยคงสภาพสมบูรณ์ที่สุดในแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

สถานที่สำคัญในอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ได้แก่ หอนางอุสา ถ้ำพระ ถ้ำวัว-ถ้ำคน ภาพเขียนสีโนนสาวเอ้ หีบศพนางอุสา วัดลูกเขย วัดพ่อตา ถ้ำช้าง กู่นางอุสา ผาเสด็จ คอกม้าท้าวบารส คอกม้าน้อย บ่อน้ำนางอุษา เพิงหินนกกระทา ฉางข้าวนายพราน อูปโมงค์ ถ้ำฤๅษี ถ้ำปู่เจ

อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ตั้งอยู่บริเวณเชิงเขาภูพาน ครอบคลุมพื้นที่ 3,430 ไร่ ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเขือน้ำ บ้านติ้ว ตำบลเมืองพาน อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี ซึ่งอยู่ห่างจากตัวจังหวัดระยะทาง 67 กิโลเมตร

สภาพทางกายภาพของอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทมีลักษณะเป็นโขดหินและเพิงผาที่กระจัดกระจายอยู่เป็นจำนวนมาก เกิดจากการผุพังและสลายตัวของหินทราย ซึ่งมีเนื้อหินที่แข็งแกร่งแตกต่างกัน ระหว่างชั้นของหินที่เป็นทรายแท้ ๆ กับชั้นที่เป็นทรายปนปูน นาน ๆ ไปจึงเกิดเป็นโขดหินและเพิงผารูปร่างแปลก ๆ

ด้วยเหตุนี้กรมศิลปากรจึงได้ดำเนินการขอใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติขนาดพื้นที่ 3,430 ไร่ โดยได้ประกาศขึ้นทะเบียนเขตโบราณสถานไว้ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2524 จากนั้นจึงได้พัฒนาเป็นอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท และได้มีพิธีเปิดอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทอย่างเป็นทางการ โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงพระกรุณาเสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในพิธีเปิด เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2535

ต่อมาเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2547 อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทได้รับการขึ้นบัญชีรายชื่อเบื้องต้นเพื่อพิจารณาขึ้นเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม และในปี 2559 สภานานาชาติว่าด้วยการดูแลอนุสรณ์สถานและแหล่งโบราณคดี (International Council on Monuments and Sites – ICOMOS) ได้แจ้งให้ทางการไทยทราบเกี่ยวกับการเสนออุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกของทางการไทย โดยมีข้อเสนอแนะให้ดำเนินการศึกษาในเชิงลึกเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของวัฒนธรรมของเสมาหินกับพุทธศาสนา เพื่อนำไปสู่ศักยภาพที่โดดเด่นของอุทยานฯ รวมทั้งหากเป็นไปได้ เสนอให้พิจารณาเกณฑ์และขอบเขตการขึ้นทะเบียนอุทยานฯ ที่ทางการไทยเสนอ

เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2566 รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ให้ความห็นชอบให้กระทรวงวัฒนธรรมนำเสนออุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทเพื่อขอรับการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมจากองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization – UNESCO)

การขึ้นทะเบียนอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทเป็นมรดกโลกในครั้งนี้จะช่วยให้อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทได้รับการดูแลอย่างรอบด้านทั้งการอนุรักษ์และการพัฒนา อีกทั้งเป็นการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันทางวัฒนธรรมของไทยกับประเทศอื่นๆ อีกด้วย

ระหว่างวันที่ 22-24 กุมภาพันธ์ 2566 กระทรวงวัฒนธรรม จะจัดโครงการวัฒนธรรมสัญจรสำหรับคณะทูตานุทูต ณ จังหวัดอุดรธานีและจังหวัดหนองบัวลำภู เพื่อเผยแพร่แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง ซึ่งได้รับการขึ้นบัญชีมรดกโลกเมื่อปี พ.ศ. 2535 และอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ซึ่งกำลังนำเสนอขอขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกแห่งที่ 2 ในจังหวัดอุดรธานี

กิจกรรมดังกล่าวจะมีการเยี่ยมชมสถานที่สำคัญในจังหวัดอุดรธานี อาทิ พิพิธภัณฑ์เมืองอุดรธานี อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม บ้านเชียง อำเภอหนองหาน ได้แก่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเชียง พิพิธภัณฑ์ไทพวนบ้านเชียง และสถานที่จัดกิจกรรม อาทิ กลุ่มปั้นหม้อเขียนสี แหล่งศึกษาประวัติศาสตร์จากแหล่งโบราณคดีวัดโพธิ์ศรีใน กลุ่มทอผ้าย้อมครามธรรมชาติลายก้นหอย ผ้าย้อมโคลน และกลุ่มจักสาน และจังหวัดหนองบัวลำภู อาทิ กลุ่มทอผ้าโบราณบ้านโนนกอก ชุมชนบ้านโนนกอก ศูนย์เรียนรู้และออกแบบขวัญตา เป็นต้น

จังหวัดอุดรธานีเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจสำคัญของภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง อีกทั้งกำลังจะเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ที่ก้าวหน้าทันสมัยของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และปัจจุบันมีนิคมอุตสาหกรรม BCG ซึ่งจังหวัดอุดรธานีจะเป็นเจ้าภาพจัดงานพืชสวนโลกในปี 2569 การมีแหล่งโบราณคดีบ้านเชียงซึ่งเป็นมรดกโลกแห่งแรก และกำลังจะมีอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทเป็นมรดกโลกแห่งที่ 2 จะส่งผลให้จังหวัดอุดรธานีเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ​ทั้งด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวอย่างแท้จริง ซึ่งจะเป็นพลังในการดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติ เดินทางมาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากขึ้น ชาวเมืองอุดรธานีจึงควรมีความภาคภูมิ​ใจและทำหน้าที่ในการเป็นเจ้าบ้านที่ดีเพื่อการพัฒนาเศรฐกิจอย่างยั่งยืน

…………………………
คอลัมน์ : ว่ายทวนน้ำ
โดย “ทวีศักดิ์ อุ่นจิตติกุล”
แฟนเพจ : สาระจากพระธรรม

อ่านบทความเพิ่มเติม :
นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี โอกาสดีสำหรับนักลงทุน
อุดรธานี ศูนย์กลางเศรษฐกิจอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง
ไทยจัดงานพืชสวนโลก ที่จังหวัดอุดรธานี พ.ศ. 2569
ความสำคัญของพื้นที่ชุ่มน้ำ กับงานพืชสวนโลกอุดรธานี
สมาคมพืชสวนโลก เลือกไทยจัดงานที่อุดรธานี ปี 2569