ปัญหาทรัพยากรธรรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโลกถูกทำลายลงจนเสื่อมโทรม มีผลกระทบต่อระบบนิเวศของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างเร่งด่วนที่จะต้องสร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชนของแต่ละประเทศในทุกทวีป โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ชุ่มน้ำ (Wetlands) เกือบร้อยละ 90 เสื่อมโทรมลง ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1700 (พ.ศ. 2243) ซึ่งเป็นการสูญเสียพื้นที่ชุ่มน้ำเร็วกว่าพื้นที่ป่าไม้ถึง 3 เท่า ทั้ง ๆ ที่พื้นที่ชุ่มน้ำมีความสำคัญต่อระบบนิเวศอย่างยิ่งยวด เพื่อเป็นการยับยั้งการสูญเสียพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศ จึงเป็นหน้าที่ของประชากรโลกจะได้ร่วมกันอนุรักษ์และฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำกันอย่างเร่งด่วนและจริงจัง

ความสำคัญของพื้นที่ชุ่มน้ำ คือ เป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพของระบบนิเวศ มากที่สุดในโลก เนื่องจากมีความอุดมสมบูรณ์ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานต่อการดํารงชีวิตของมนุษย์ กล่าวคือ เป็นแหล่งความหลากหลายของพืชและสัตว์นานาชนิด เป็นแหล่งที่อยู่ของ “นกน้ำ” พื้นที่ชุ่มน้ำเป็นแหล่งกักเก็บน้ำและป้องกันน้ำท่วม ลดการพังทลายของหน้าดิน ช่วยควบคุมการไหลเวียนของน้ำไปยังแหล่งน้ำใต้ดินและรักษาความสมดุลทางธรรมชาติ เป็นแหล่งสำรองน้ำจืด และยังส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจโลกอีกด้วย

เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1971 (พ.ศ. 2514) นานาชาติได้ร่วมกันยกร่างอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ เรียกว่า “อนุสัญญาแรมซาร์” ซึ่งมีการลงนามการรับรองอนุสัญญาฉบับนี้ ณ เมือง แรมซาริค (Ramsarik) ประเทศอิหร่าน ต่อมาสำนักเลขาธิการอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ ได้จัดงานเฉลิมฉลอง วันพื้นที่ชุ่มน้ำโลก (Wetlands Day) มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1997 (พ.ศ. 2540)

สำหรับการจัดงานวันพื้นที่ชุ่มน้ำโลก เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2565 มีการดำเนินการภายใต้แก่นความคิด (Theme) “รณรงค์ให้มีการลงมือดูแลอนุรักษ์ ฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำ เพื่อผู้คนและธรรมชาติ” (Wetlands Action for People and Nature) โดยเน้นให้ผู้คนเห็นความสำคัญของการดำเนินการด้านต่าง ๆ เพื่อให้แน่ใจว่ามีการอนุรักษ์และใช้พื้นที่ชุ่มน้ำอย่างยั่งยืนสำหรับมนุษย์ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมทั่วโลก

ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำเป็นลำดับที่ 110 ของโลก ในวันที่ 13 พฤษภาคม 2514 และได้เสนอพื้นที่ชุ่มน้ำพรุควนขี้เสี้ยน ในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย ตอนเหนือของทะเลสาบสงขลา ในเขตอำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง, อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา, อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช ขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศแห่งแรกของประเทศไทย เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำลำดับที่ 948 ของโลก ปัจจุบันมีการมีขึ้นทะเบียนพื้นที่ชุ่มน้ำในประเทศไทย จำนวน 14 แห่ง ได้แก่

  1. 1.พื้นที่ชุ่มน้ำพรุควนขี้เสี้ยน ในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย ตอนเหนือของทะเลสาบสงขลา ในเขตอำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช
  2. 2.พื้นที่ชุ่มน้ำเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงโขงหลง อ.บึงโขงหลง จังหวัดบึงกาฬ
  3. 3.พื้นที่ชุ่มน้ำดอนหอยหลอด อำเภอเมืองสมุทรสงคราม จังหวัดสมุทรสงคราม
  4. 4.พื้นที่ชุ่มน้ำปากแม่น้ำกระบี่ อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่
  5. 5.พื้นที่ชุ่มน้ำเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหนองบงคาย อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย
  6. 6.พื้นที่ชุ่มน้ำเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพฯ (พรุโต๊ะแดง) อำเภอตากใบ อำเภอสุไหงโก-ลก และ อำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส
  7. 7.พื้นที่ชุ่มน้ำอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม-หมู่เกาะลิบง-ปากน้ำตรัง อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง
  8. 8.พื้นที่ชุ่มน้ำอุทยานแห่งชาติแหลมสน-ปากคลองกะเปอร์-ปากแม่น้ำกระบุรี อำเภอกะเปอร์ จังหวัดระนอง และอำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา
  9. 9.พื้นที่ชุ่มน้ำอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี จ.สุราษฎร์ธานี
  10. 10.พื้นที่ชุ่มน้ำอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา อำเภอเมืองพังงา จังหวัดพังงา
  11. 11.พื้นที่ชุ่มน้ำอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด อำเภอสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
  12. 12.พื้นที่ชุ่มน้ำกุดทิง อำเภอเมืองบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ
  13. 13.พื้นที่ชุ่มน้ำเกาะกระ อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช
  14. 14.พื้นที่ชุ่มน้ำเกาะระ เกาะพระทอง อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา

ประเทศไทยจะมีการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกที่จังหวัดอุดรธานี ในปี พ.ศ. 2569 หรืออีก 4 ปีข้างหน้า กำหนดจัดงานเป็นบริเวณพื้นที่ชุ่มน้ำหนองแด ตำบลกุดสระ อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี​ เนื้อที่ 1,030 ไร่ ดำเนินการภายใต้แนวคิด “วิถีชีวิต สายน้ำ และพืชพรรณ” (Harmony of Life) ซึ่งจะมีประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกกว่า 20 ประเทศ เข้าร่วมแสดงงานพืชสวนโลกด้วย คาดว่าจะมีผู้เข้าชมงานมากกว่า 3.6 ล้านคน มีเงินสะพัดทั้งงานกว่า 32,000 ล้านบาท

พื้นที่จัดงานส่วนที่ 1 นำเสนอเรื่อง “วิถีชีวิต” จัดพืชพรรณไม้พื้นถิ่นเพื่อให้เกิดความประทับใจตั้งแต่เดินเข้าสู่งาน เลือกใช้ซุ้มดอกกุหลาบ เดินผ่านกำแพงพวงแสดสองข้างทาง ซึ่งสีแสดเป็นสีสัญลักษณ์ของอุดรธานี และประดับด้วยพวงชมพู จันทร์กระจ่างฟ้า มาลัยทอง เป็นต้น แก่นหลักความคิด​ (theme)​ ในการจัดสวนจะนำเสนอด้วยต้นพุทธรักษา รวงผึ้ง บัวหลวง มะลิ ดาวเรือง ที่สื่อความหมายถึงพระราชาและความเป็นมงคล รูปแบบอาคารอำนวยการจะมีอัตลักษณ์ท้องถิ่นอีสาน แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตดั้งเดิมที่กินอยู่กับพืชผักพื้นบ้าน ได้แก่ ผักชีลาว หนวดงิ้ว แคบ้าน หม่อน หอมเป ผักเสี้ยน ผักไผ่ อ่อมแซ่บ กะหล่ำปลี มะรุม เป็นต้น นอกจากนี้ยังจัดแสดงพืชสมุนไพร ฟ้าทะลายโจร สมอพิเภก ว่านเอ็นยึด สมอไทย เพกา โด่ไม่รู้ล้ม ยอ ต้นผ่าด้าม มะขามป้อม มะตูม กระชายดำ ส่วนพันธุ์ไม้น้ำจะนำเสนอพืชน้ำของท้องถิ่นอีสาน ได้แก่ ผักแขยง ผำ กระจับ มะแข่น ตาลปัตรฤาษี คล้าน้ำ ปรือ ผักกระสัง ผักถ่อ

พื้นที่ส่วนที่ 2 นำเสนอเรื่อง “สายน้ำ” ออกแบบเป็นอาคารเฉลิมพระเกียรติอยู่กลางสวนโลก อุดรธานี โดยมีสายน้ำเป็นจุดสังเกตที่โดดเด่น​ (land ​mark) ​ของงานมหกรรมพืชสวนโลก ช่วงสะพานกลางน้ำระหว่างเดินไปหาอาคารจัดแสดงพันธุ์บัวหลวง พืชพันธุ์บัวสาย บัวตัดดอก เมื่อเข้าไปภายในอาคารเฉลิมพระเกียรติ นำเสนอการเกษตรวิถีชนบท ​(urban farming)​ และการจัดสวนพืชแนวตั้งที่เปลี่ยนรูปแบบการทำสวนเกษตรในพื้นที่แคบ สามารถนำไปปรับใช้ทำสวนเกษตรบนตึกสูงได้ รอบอาคารประดับพันธุ์ไม้ด้วยเฟื่องฟ้า เดหลี ที่สำคัญคือการจำลองป่าคำชะโนด จากวิถีความเชื่อและวัฒนธรรมกับสายน้ำมาไว้ที่นี่

พื้นที่ส่วนที่ 3 นำเสนอเรื่อง “พืชพรรณ” ประกอบด้วยอาคารนิทรรศการเรือนกระจก สำหรับแสดงกล้วยไม้ ไม้ตระกูลปาล์ม หมากเขียว หมากเหลือง ฟิโลเดนดรอน พลูด่าง สับปะรดสี ภายนอกอาคารแสดงสวนไทยด้วยไม้ดอกไม้ประดับ ดอกเบญจมาศ ดอกคัตเตอร์ ดอกดาวเรือง เยอบีร่า ผักเสี้ยนฝรั่ง ซึ่งเป็นไม้ดอกไม้ประดับที่สร้างรายได้ให้แก่ชุมชนบ้านห้วยสําราญ จนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรของจังหวัด ที่ขาดไม่ได้คือ จำลองทะเลบัวแดง​ เป็นสถานที่ที่มีความวิจิตรงดงามตามธรรมชาติที่ยากจะประสบพบเห็น (Unseen)​ อันดับ 2 ของโลกมาไว้ที่นี่

การจัดงานพืชสวนโลกอุดรธานีในครั้งนี้จะมีส่วนสำคัญในการสร้างความตื่นตัวและความตื่นรู้แก่ทุกภาคส่วนของสังคมที่จะได้เล็งเห็นถึงคุณค่าและคุณประโยชน์ของระบบนิเวศที่มีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอุดมสมบูรณ์ ไม่ว่าจะเป็นป่าไม้พื้นที่ชุ่มน้ำ ป่าชายเลน ฯลฯ รวมถึงการฟื้นฟูระบบนิเวศที่ถูกทำลายให้กลับมามีสภาพที่ดีขึ้นซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่คนไทยทั้งในปัจจุบันและในอนาคต

อ่านเพิ่มเติม :
อุดรธานี ศูนย์กลางเศรษฐกิจอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง
นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี โอกาสดีสำหรับนักลงทุน
60ปีงานทุ่งศรีเมืองอุดรธานี ตระการตากับขบวนแห่
ไทยจัดงานพืชสวนโลก ที่จังหวัดอุดรธานี พ.ศ. 2569

…………………………………..
คอลัมน์ : ว่ายทวนน้ำ
โดย “ทวีศักดิ์ อุ่นจิตติกุล”
อ่านเพิ่มเติมที่.. แฟนเพจ :
สาระจากพระธรรม