เมื่อวันที่  4 มกราคม 2565 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบอนุมัติกรอบวงเงิน 2,500  ล้านบาท ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอให้มีการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกที่จังหวัดอุดรธานีในปี พ.ศ. 2569 ระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2569 – 14 มีนาคม 2570 รวมระยะเวลา 134 วัน

เพื่อแสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการพัฒนาด้านพืชสวนของไทย เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจด้านธุรกิจการนำเข้าและส่งออกผลผลิตการเกษตร ส่งเสริมการต่อยอดงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมด้านการเกษตรตลอดส่งเสริมธุรกิจด้านการท่องเที่ยว

ต่อมาเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2565 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ยื่นประมูลสิทธิ์เป็นเจ้าภาพจัดงานมหกรรมพืชสวนโลก กับสมาคมพืชสวนระหว่างประเทศ (The International Association of Horticultural Producers – AIHP) ซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์มีภาคีสมาชิกรวม 65 ประเทศ โดยจะใช้พื้นที่สาธารณประโยชน์หนองแด อ.เมือง จ. อุดรธานี พื้นที่ 1,030 ไร่ : เพื่อเป็นพื้นที่จัดงานพืชสวนกลางแจ้ง

พื้นที่จัดงานส่วนที่ 1 นำเสนอเรื่อง “วิถีชีวิต” จัดพืชพรรณไม้พื้นถิ่นเพื่อให้เกิดความประทับใจตั้งแต่เดินเข้าสู่งาน เลือกใช้ซุ้มดอกกุหลาบ เดินผ่านกำแพงพวงแสด สองข้างทางซึ่งสีแสดเป็นสีสัญลักษณ์ของอุดรธานี และประดับด้วยพวงชมพู จันทร์กระจ่างฟ้า มาลัยทอง เป็นต้น แก่นหลักความคิด​ (theme)​ ในการจัดสวนจะนำเสนอด้วยต้นพุทธรักษา รวงผึ้ง บัวหลวง มะลิ ดาวเรือง ที่สื่อความหมายถึงพระราชาและความเป็นมงคล รูปแบบอาคารอำนวยการจะมีอัตลักษณ์ท้องถิ่นอีสาน แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตดั้งเดิมที่กินอยู่กับพืชผักพื้นบ้าน ได้แก่ผักชีลาว หนวดงิ้ว แคบ้าน หม่อน หอมเป ผักเสี้ยน ผักไผ่ อ่อมแซ่บ กะหล่ำปลี มะรุม เป็นต้น นอกจากนี้ยังจัดแสดงพืชสมุนไพร ฟ้าทะลายโจร สมอพิเภก ว่านเอ็นยึด สมอไทย เพกา โด่ไม่รู้ล้ม ยอ ต้นผ่าด้าม มะขามป้อม มะตูม กระชายดำ ส่วนพันธุ์ไม้น้ำจะนำเสนอพืชน้ำของท้องถิ่นอีสาน ได้แก่ ผักแขยง ผำ กระจับ มะแขว่น ตาลปัตรฤาษี คล้าน้ำ ปรือ ผักกระสัง ผักถ่อ

พื้นที่ส่วนที่ 2 นำเสนอเรื่อง “สายน้ำ” ออกแบบเป็นอาคารเฉลิมพระเกียรติอยู่กลางสวนโลก อุดรธานี โดยมีสายน้ำเป็นจุดสังเกตที่โดดเด่น​ (landmark)​ของงานมหกรรมพืชสวนโลก ช่วงสะพานกลางน้ำระหว่างเดินไปหาอาคารจัดแสดงพันธุ์บัวหลวง พืชพันธุ์บัวสาย บัวตัดดอก เมื่อเข้าไปภายในอาคารเฉลิมพระเกียรติ นำเสนอการเกษตรวิถีชนบท ​(urban farming)​ และการจัดสวนพืชแนวตั้งที่เปลี่ยนรูปแบบการทำสวนเกษตรในพื้นที่แคบ สามารถนำไปปรับใช้ทำสวนเกษตรบนตึกสูงได้ รอบอาคารประดับพันธุ์ไม้ด้วยเฟื่องฟ้า เดหลี ที่สำคัญคือการจำลองป่าคำชะโนด จากวิถีความเชื่อและวัฒนธรรมกับสายน้ำมาไว้ที่นี่

พื้นที่ส่วนที่ 3 นำเสนอเรื่อง “พืชพรรณ” ประกอบด้วยอาคารนิทรรศการเรือนกระจก สำหรับแสดงกล้วยไม้ ไม้ตระกูลปาล์ม หมากเขียว หมากเหลือง ฟิโลเดนดรอน พลูด่าง สับปะรดสี ภายนอกอาคารแสดงสวนไทยด้วยไม้ดอกไม้ประดับ ดอกเบญจมาศ ดอกคัตเตอร์ ดอกดาวเรือง เยอบีรา ผักเสี้ยนฝรั่ง ซึ่งเป็นไม้ดอกไม้ประดับที่สร้างรายได้ให้แก่ชุมชนบ้านห้วยสําราญ จนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรของจังหวัด ที่ขาดไม่ได้คือ จำลองทะเลบัวแดง​ เป็นสถานที่ที่มีความวิจิตรงดงามตามธรรมชาติที่ยากจะประสบพบเห็น (Unseen)​ อันดับ 2 ของโลกมาไว้ที่นี่

การจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกที่จังหวัดอุดรธานีในครั้งนี้ กำหนดจัดงานเป็นบริเวณพื้นที่ชุ่มน้ำ (wetland)​ หนองแด ตำบลกุดสระ อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี​ ดำเนินการภายใต้แนวคิด “วิถีชีวิต สายน้ำ และพืชพรรณ” (Harmony of Life) เป็นการจัดงานระดับ B ซึ่งจะมีประเทศต่างๆทั่วโลกกว่า 20 ประเทศเข้าร่วมแสดงงานพืชสวนโลกด้วย คาดว่าจะมีผู้เข้าชมงานมากกว่า 3.6 ล้านคน มีเงินสะพัดทั้งงานกว่า 32,000 ล้านบาท

ที่ผ่านมาประเทศไทยเคยจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกมาแล้ว 2 ครั้ง ทั้ง​ 2​ ครั้งจัดขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ครั้งที่ 1​ งานมหกรรมพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติฯ ราชพฤกษ์ 2549​(International Horticulture Exposition for His Majesty the King; Royal Flora Ratchapruek 2006) ระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2549 – 28 กุมภาพันธ์ 2550  รวมเวลา 120 วัน ณ ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ ตำบลแม่เหียะ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นการจัดงานระดับ A ในพื้นที่กลางแจ้ง​ การจัดงานของประเทศไทยในครั้งนี้นับเป็นประเทศที่สามของทวีปเอเชียต่อจากจีน และญี่ปุ่น ครั้งที่ 2  งานมหกรรมพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติฯ ราชพฤกษ์ 2554 (The International Horticultural Exposition: Royal Flora Ratchaphruek 2011) ระหว่างวันที่  14 ธันวาคม  2554 – 14 มีนาคม  2555  รวมเวลา 92 วัน ณ อุทยานหลวงราชพฤกษ์ ตำบลแม่เหียะ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นการจัดงานระดับ A ในพื้นที่กลางแจ้ง​

สำหรับการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกของประเทศไทย​ที่จังหวัดอุดรธานีในปี 2569 ซึ่งจะมาถึงในอีก 4​ ปี​ ข้างหน้านี้ เป็การจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกครั้งที่ 3 ของประเทศไทย​และถัดจากนั้นอีก​ 3​ ปี​ จะมีการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกที่จังหวัดนครราชสีมาในปี 2572 ซึ่งเป็นการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกครั้งที่ 4 ของประเทศไทย​ จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 10 พฤศจิกายน 2572 – 28 กุมภาพันธ์ 2573 รวมเวลา 111 วัน ที่บริเวณพื้นที่ป่าสาธารณประโยชน์โคกหนองรังกา ตำบลเทพาลัย อำเภอคง จังหวัดนครราชสีมา เป็นการจัดงานระดับ A​ วงเงินงบประมาณจัดงาน  4,281 ล้านบาท  ซึ่งที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่​ 4​ มกราคม​ 2565​ มีมติเห็นชอบอนุมัติกรอบวงเงินตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ

ภาคเกษตรกรรมเป็นภาคการผลิตที่แท้จริง (real sector) ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของเศรษฐกิจไทยมาตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน แม้ว่าเกษตรกรซึ่งเป็นคนรุ่นเก่าจะลดน้อยลงไปเรื่อยๆ​จากการเป็นผู้สูงวัยและสภาพความเปลี่ยนแปลงทางสังคม​แต่การทำกินและมีรายได้จากการประกอบอาชีพเกษตรกรรมกลับเป็นเรื่องที่สำคัญและเป็นเรื่องที่ท้าทายต่อ​คนรุ่นใหม่ที่หางานไม่ได้และคนที่เคยมีงานทำแต่ก็ต้องตกงานจากภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา

รัฐบาลจึงควรให้การส่งเสริมและสนับสนุนให้คนในชาติทำงานในภาคเกษตรกรรมมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรหรือผู้ประกอบการด้านการเกษตรประเทศไทยจะได้เป็นแหล่งผลิตอาหารสำคัญของโลกและครัวโลกหากเป็นเช่นนี้แล้วย่อมจะส่งผลให้ประเทศไทยมีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Gross Domestic Product – GDPฃ) เพิ่มขึ้นซึ่งจะได้เสริมสร้างความแข็งแกร่งแก่เศรษฐกิจไทยอย่างมั่นคงและยั่งยืน

อ่านเพิ่มเติม :
อุดรธานี ศูนย์กลางเศรษฐกิจอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง
นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี โอกาสดีสำหรับนักลงทุน
60ปีงานทุ่งศรีเมืองอุดรธานี ตระการตากับขบวนแห่

…………………………………..
คอลัมน์ : ว่ายทวนน้ำ
โดย “ทวีศักดิ์ อุ่นจิตติกุล”
อ่านเพิ่มเติมที่.. แฟนเพจ :
สาระจากพระธรรม