ย้อนหลังไปช่วงต้นปีที่ผ่านมามี​การประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่​ที่จังหวัดอุดรธานี​ ​เมื่อวันที่​ 4​ มกราคม​ 2565​ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบอนุมัติกรอบงบประมาณวงเงิน 2,500 ล้านบาท ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอให้มีการ จัดงานมหกรรมพืชสวนโลกที่จังหวัดอุดรธานีในปี​ พ.ศ.2569 ระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2569-14 มีนาคม 2570 รวมระยะเวลา 134 วัน พื่อเป็นการแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของการเกษตรด้านพืชสวนในประเทศไทย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและพัฒนาธุรกิจการนำเข้าและส่งออกของสินค้าเกษตร รวมถึงส่งเสริมการต่อยอดงานวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการเกษตร ตลอดจนส่งเสริมธุรกิจด้านการท่องเที่ยว ต่อมาเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2565 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ยื่นประมูลสิทธิเป็นเจ้าภาพจัดงานมหกรรมพืชสวนโลก​ (International Horticultural Expo)​ กับสมาคมพืชสวนระหว่างประเทศ (The International Association of Horticultural Producers-AIHP) ผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์การจัดงาน ซึ่งมีภาคีสมาชิกรวม 65 ประเทศ

ล่าสุดเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2565 นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ หัวหน้าคณะผู้แทนไทย พร้อมด้วยนายทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร นายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี และนายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดการประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) ซึ่งเป็น ทีมไทยแลนด์เข้าร่วมการประชุมสมาคมพืชสวนระหว่างประเทศ การประชุมครั้งนี้ เป็นการประชุมสามัญประจำปี 2565 ณ Crowne Plaza Dubai Marina นครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

ที่ประชุมสมาคมพืชสวนระหว่างประเทศมีมติตกลงตามข้อเสนอของประเทศไทยในการ จัดงานมหกรรมพืชสวนโลกที่จังหวัดอุดรธานี ในปี พ.ศ. 2569 (Udon Thani International Horticultural Expo 2026) ซึ่งเป็นการประกาศผลการคัดเลือกประเทศที่ได้รับลิขสิทธิ์ในการจัดงานพืชสวนโลกอย่างเป็นทางการ โดยให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกที่จังหวัดอุดรธานี นายทิม ไบรเออร์คลิฟฟ์ เลขาธิการสมาคมพืชสวนระหว่างประเทศ กล่าวว่า สมาคมพืชสวนระหว่างประเทศ มีความมุ่งหวังจะเห็นการจัดงานที่สามารถตอบโจทย์วาระการพัฒนาโลกในด้านต่างๆ ตลอดจนการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นและอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงโดยรวม

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ หัวหน้าคณะผู้แทนไทย กล่าวต่อสมาชิกสมาคมพืชสวนระหว่างประเทศว่า ในนามของรัฐบาลไทยขอขอบคุณสำหรับความไว้วางใจและการสนับสนุนที่มอบให้แก่ประเทศไทย โดยความสำเร็จครั้งนี้ เป็นผลจากความร่วมมือระหว่างหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งนำโดยสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นอกจากนี้ยังได้กล่าวถึงความมุ่งมั่นของประเทศไทยต่อการมีส่วนร่วมด้านความมั่นคงทางอาหารโลกตามนโยบายเกษตรและอาหาร “3S” ที่เน้นด้านความปลอดภัยทางอาหาร (Safety) ความมั่นคงทางอาหาร (Security) ความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติและนิเวศการเกษตร (Sustainability) โดยเป็นการดำเนินงานที่สอดคล้องตามเป้าหมาย การพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals-SDGs) และยึดมั่นต่อเจตจำนงด้านสภาพภูมิอากาศตามความตกลงปารีส (Paris Agreement) อีกด้วย ซึ่งความมุ่งมั่นในเรื่องนี้สามารถผนวกใช้เป็นพื้นฐานของแนวคิดและการนำเสนอสาระของงาน และหวังว่าจะช่วยขับเคลื่อนประเด็นความยั่งยืนได้ชัดเจนขึ้น จนเป็นแรงผลักดันให้มีการขับเคลื่อนมาตรการแนวปฏิบัติที่ทำได้จริงในระดับสากล เพื่อความยั่งยืนที่ลดทอนผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ต่อไป

นายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า จังหวัดอุดรธานีได้เตรียมความพร้อมในการสร้างความมั่นใจต่อความสำเร็จของการจัดงานที่จะเกิดขึ้น โดยงานพืชสวนโลกที่อุดรธานี จะเป็นงานมหกรรมพืชสวนโลกครั้งแรก ที่จัดขึ้นในพื้นที่ชุ่มน้ำ (wetland)​ นอกจากนี้ ด้วยสถานะความเป็นประตูสู่อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง รวมถึงศูนย์กลางด้านการคมนาคมและเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคฯ ของจังหวัดอุดรธานี ทำให้มั่นใจได้ว่า การจัดงานครั้งนี้จะสามารถสะท้อนภาพแห่งความหลากหลายทางวัฒนธรรม ตลอดถึงพรรณไม้นานาชนิด ซึ่งเป็นไปตามแนวคิดของการจัดงานอีกด้วย

นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า ประเทศไทยได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลก 2569 ที่จังหวัดอุดรธานี จะเป็นจุดเด่นซึ่งเป็นที่หมายตา​ (landmark)​ ซึ่งเป็นงานสำคัญและยิ่งใหญ่ครั้งแรกในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง เป็นการตอกย้ำความพร้อมของจังหวัดอุดรธานี ในการจัดประชุมนานาชาติ การท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล การจัดงานแสดงสินค้าหรือบริการ​ (Meetings, Incentive Travel, Conventions, Exhibitions-MICE)​

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้แสดงความยินดีที่ไทยได้รับคัดเลือกอย่างเป็นทางการ ให้เป็นเจ้าภาพการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกที่จังหวัดอุดรธานี ปี​ พ.ศ. 2569 นายกรัฐมนตรีมีความเชื่อมั่นในความพร้อมของประเทศไทย ในการทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพจัดงาน ขอให้ใช้โอกาสนี้ในการนำเสนอนวัตกรรมและเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านพืชสวน และการดำรงอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างสมดุล งานดังกล่าวถือเป็นพื้นที่ในการแสดงผลงานที่ผลักดัน นโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ​ เศรษฐกิจหมุนเวียน​ เศรษฐกิจสีเขียว (Bio Economy, Circular Economy, Green Economy – BCG)​ ของรัฐบาลอย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงเป็นการสร้างความร่วมมือทั้งระดับชาติและระดับนานาชาติในการสร้างความมั่นคงทางอาหารในโลกอีกด้วย

การที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกของไทย นอกจากจะ แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในด้านการพัฒนาพืชสวนแล้ว ยังจะเป็นการประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ในด้านการเกษตร ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมทั้งยังเป็นโอกาสที่ดีในการเผยแพร่พระราชดำริด้านการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืนสู่ประชาคมโลกอีกด้วย อีกทั้งการจัดงานในครั้งนี้ ยังจะสามารถสร้างงาน และกระจายรายได้ให้กับคนในพื้นที่และจังหวัดข้างเคียง ได้รับประโยชน์จากการส่งเสริมองค์ความรู้ด้านพืชสวนและการเกษตรให้กับท้องถิ่น รวมถึงสามารถแสดงให้เห็นว่าประเทศไทย เป็นประเทศเกษตรกรรมและเป็นแหล่งผลิตอาหารที่มีคุณภาพ สามารถผลิตอาหารที่มีความปลอดภัยและได้มาตรฐานสากล

นายกรัฐมนตรี ยังได้ขอบคุณ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) สมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทย และพี่น้องชาวจังหวัดอุดรธานี ที่มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพในนามประเทศไทย

งานมหกรรมพืชสวนโลกจังหวัดอุดรธานี พ.ศ. 2569 จะจัดขึ้นภายใต้แนวคิดวิถีชีวิตสายน้ำและพืชพรรณ​ (Diversity of Life: Connecting people, water and plants for sustainable living) ระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2569-14 มีนาคม 2570 บริเวณพื้นที่ชุ่มน้ำหนองแด ตำบลกุดสระ อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี บนเนื้อที่ 1,030 ไร่ แบ่งเป็น พื้นน้ำ 400 ไร่ และพื้นดิน 630 ไร่ โดยคาดว่าจะมีผู้เข้าชมงานกว่า 3 ล้านคน สร้างงานได้กว่า 8 หมื่นอัตรา ให้แก่คนในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียง และสร้างรายได้แก่ประเทศหลายหมื่นล้านบาท

การที่ประเทศไทยได้รับการคัดเลือกจากที่ประชุมสมาคมพืชสวนระหว่างประเทศ เป็นเจ้าภาพจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกที่จังหวัดอุดรธานี ในปี พ.ศ. 2569 ปัจจัยซึ่งเป็นกุญแจแห่งความสำเร็จ (Key Success of Factor) เกิดจากความมุ่งมั่นและความร่วมมืออย่างจริงจังต่อเนื่องของภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาชน ทีมอุดรธานี ซึ่งนำโดย นายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี หัวหน้าทีมอุดรธานี พร้อมด้วยนายศักดา เกตุแก้ว รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานี ผู้ช่วยศาสตราจารย์พนา ดุลยพัชร์ คณบดีคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี นายสวาท ธีระรัตนนุกูลชัย ที่ปรึกษาอาวุโสหอการค้าจังหวัดอุดรธานี และพันโทวรายุต์ ตรีวัฒนสุวรรณ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี มีส่วนสำคัญในการรวบรวมจัดทำข้อมูลในรูปแบบสื่อดิจิทัล นำเสนอต่อที่ประชุมสมาคมพืชสวนระหว่างประเทศ ให้เห็นถึงศักยภาพ ความพร้อม และความเหมาะสมของจังหวัดอุดรธานี ซึ่งเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ศูนย์กลางเศรษฐกิจของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง โดยมีนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี รองรับในการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังมีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์ ตลอดจนเป็นดินแดนมรดกโลก ซึ่งมีแหล่งโบราณคดีบ้านเชียงอีกด้วย

ท่ามกลางวิกฤติการณ์โลก​ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (climate change)​ การระบาดใหญ่ของโควิด-19​ (pandemic)​ สงครามร้อนที่เกิดขึ้นจาการเผชิญหน้าของประเทศมหาอำนาจโลก 2 ขั้ว การรักษาความเป็นกลางของไทยมีความสำคัญยิ่งต่อการดำรงคงอยู่ของประเทศชาติ​ โดยไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ประเทศไทย มีศักยภาพในการเป็นมหาอำนาจโลกด้านการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารแก่ประชาคมโลก​ ภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมเกษตรเป็นภาคการผลิตที่แท้จริง (real sector) เป็นพื้นฐานสำคัญในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจระดับฐานรากที่จะสร้างความมั่นคงและยั่งยืนแก่สังคมไทยในทุกภาคส่วน

อ่านเพิ่มเติม :

ไทยจัดงานพืชสวนโลก ที่จังหวัดอุดรธานี พ.ศ. 2569

ความสำคัญของพื้นที่ชุ่มน้ำ กับงานพืชสวนโลกอุดรธานี

…………………………………..
คอลัมน์ : ว่ายทวนน้ำ
โดย “ทวีศักดิ์ อุ่นจิตติกุล”
อ่านเพิ่มเติมที่.. แฟนเพจ :
สาระจากพระธรรม