สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกกรุงอิสลามาบัด ประเทศปากีสถาน เมื่อวันที่ 5 ก.พ. ว่า กองทัพปากีสถานออกแถลงการณ์ว่าพล.อ.เปอร์เวซ มูชาร์ราฟ อดีตผู้บัญชาการกองทัพ อดีตประธานคณะเสนาธิการทหาร อดีต รมว.กระทรวงกลาโหม และอดีตประธานาธิบดีของปากีสถานระหว่างปี 2544-2551 ถึงแก่อสัญกรรมที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ในนครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ( ยูเออี ) หลังรักษาตัวมานานจากอาการป่วยเรื้อรัง รวมอายุได้ 79 ปี


พล.อ.มูชาร์ราฟ เกิดเมื่อวันที่ 11 ส.ค. 2486 ที่กรุงนิวเดลี หลังจากนั้นย้ายตามครอบครัวมาตั้งรกรากที่ปากีสถาน เมื่ออายุได้เพียง 4 ปี พล.อ.มูชาร์ราฟ เข้าสู่เส้นทางทหาร เริ่มจากการเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนนายร้อยปากีสถาน เมื่ออายุ 18 ปี ผ่านการฝึกฝนและอยู่ในสังกัดของหน่วยงานหลายแห่งในกองทัพ ก่อนได้รับการประดับยศนายพล และขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บัญชาการกองทัพ เมื่อปี 2541


หลังจากนั้นเพียงปีเดียว พล.อ.มูชาร์ราฟ ทำรัฐประหาร ยึดอำนาจจากรัฐบาลในเวลานั้นของนายกรัฐมนตรีนาวาซ ชารีฟ จากความขัดแย้งที่ชารีฟต้องการปลด พล.อ.มูชาร์ราฟ ซึ่งสั่งการให้กองทัพปากีสถานปฏิบัติการในเขตอิทธิพลของอินเดีย ที่ภูมิภาคแคชเมียร์ จนเกือบบานปลายเป็นสงคราม


เมื่อขึ้นสู่อำนาจในช่วงแรก รัฐบาลของ พล.อ.มูชาร์ราฟ ได้รับเสียงชื่นชมจากตะวันตกไม่น้อย จากการขับเคลื่อนนโยบายปฏิรูปอย่างต่อเนื่อง และปากีสถานกลายเป็นหนึ่งในพันธมิตรสำคัญของสหรัฐ หลังเหตุวินาศกรรม 9/11 จนสามารถวิ่งเต้นให้รัฐบาลของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช มอบความสนับสนุนมหาศาลให้แก่กองทัพปากีสถาน

พล.อ.เปอร์เวซ มูชาร์ราฟ และประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช ที่ทำเนียบขาว เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 2547

ขณะที่เศรษฐกิจของปากีสถานในภาพรวมยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง และความสัมพันธ์ระหว่างปากีสถานกับอินเดียมีแนวโน้มดีขึ้นเป็นลำดับในเวลานั้น


อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การเมืองของปากีสถานทวีความตึงเครียด นับตั้งแต่เกิดเหตุลอบสังหารนางเบนาซีร์ บุตโต อดีตนายกรัฐมนตรี เมื่อปี 2550 แม้มีการเลือกตั้งในอีก 1 ปีต่อมา แต่พรรคการเมืองของ ล.อ.มูชาร์ราฟ พ่ายแพ้ ส่งผลให้ พล.อ.มูชาร์ราฟลา ออกท่ามกลางแรงกดดันอย่างหนักจากญัตติถอดถอนของฝ่ายค้าน

พล.อ.เปอร์เวซ มูชาร์ราฟ แถลงลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีปากีสถาน เมื่อวันที่ 18 ส.ค. 2551


พล.อ.มูชาร์ราฟ ลี้ภัยอยู่ที่กรุงลอนดอนอยู่ระยะหนึ่ง แล้วกลับมาเมื่อปี 2556 เพื่อพยายามสมัครรับเลือกตั้งอีกครั้ง แต่ไม่สำเร็จ จึงเดินทางไปลี้ภัยอยู่ที่นครดูไบ ตั้งแต่ปี 2559 โดยในระหว่างนั้น ศาลปากีสถานพิพากษาลับหลัง ให้ พล.อ.มูชาร์ราฟ รับโทษประหารชีวิต จากการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เมื่อปี 2550 แต่มีการกลับคำตัดสินในเวลาต่อมา.

เครดิตภาพ : REUTERS