สถานการณ์บ้านเมืองภายใต้การกุมบังเหียนของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เวลานี้เข้าขั้นบอบช้ำหนักหนา มีปัญหารุมเร้ามาทุกทาง ทั้ง เศรษฐกิจปากท้อง โรคโควิด-19 กระหน่ำรายวัน และ การชิงไหวชิงพริบทางการเมือง จากซีกฝ่ายค้านใน ศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ ขณะที่ มวลชนนอกสภา เร่งรุกไล่ผู้นำให้ลุกจากตำแหน่ง “ทีมการเมืองเดลินิวส์” มีโอกาสสนทนากับผู้มากประสบการณ์ทางการเมืองอย่าง “นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ” อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ถึงมุมมองต่อปัญหาและทางออกในสถานการณ์การเมืองที่เป็นอยู่

อดีต ส.ส.หลายสมัยผู้นี้มองว่าบรรยากาศบ้านเมืองปัจจุบันคล้ายกับยุคที่ “พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์” ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพราะท่านอยู่ในตำแหน่งมานาน 8 ปี ทำให้คนรู้สึกเบื่อ แต่บรรยากาศตอนนี้ต่างจากตอนนั้น เพราะประชาชนแบ่งข้างชัดเจน สุดโต่ง ฝ่ายผู้มีอำนาจยังเหนือกว่า เพราะอำนาจรัฐกับกองทัพยังไม่แตกกัน รัฐบาลยังมีข้าราชการสนับสนุน มีเสียง ส.ส. เหลือเฟือ พร้อมด้วยเสียง สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) แต่ถ้าเรามองอนาคต อยากให้มองไปถึง 6 ปีข้างหน้า เพราะรัฐบาลคงอยู่ต่อไปได้อีก 2 ปี แล้วจะมีการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งในตอนนั้น ฝ่ายผู้มีอำนาจอาจยังชนะได้กลับมาเป็นรัฐบาลอีก และมีเสียง ส.ว.สนับสนุน แต่ในรัฐบาลสมัยหน้าจะเริ่มพ่ายแพ้ ขณะที่อีกปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในอนาคต คือ ส.ว.ใกล้จะหมดอำนาจ เมื่อไปถึงตอนนั้น ก็ต้องมี การเลือกตั้ง ส.ว. ถ้าบังเอิญ ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้ง มีแนวคิดเดียวกับฝ่ายตรงข้ามผู้มีอำนาจ ก็จะทำให้การเมืองเปลี่ยน

ส่วนสถานการณ์ของรัฐบาลนั้น แม้การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลจะเข้มข้นขึ้น แต่ก็ยังไม่มีผลที่จะทำให้รัฐบาลถูกล้มในสภา เพราะฝ่ายค้านไม่ได้อภิปรายฯ รัฐมนตรีหลายคนที่มาจากพรรคเดียว แต่เป็นรัฐมนตรีที่มาจากพรรคต่างๆที่ร่วมรัฐบาล ดังนั้น เสียงลงมติในสภาฯ ไว้วางใจรัฐมนตรียังมีอยู่ แต่ข้อมูลต่างๆที่ฝ่ายค้านเอามาใช้ในการอภิปรายฯ จะถูกนำไปขยายผลข้างนอกสภา ส่วนฝ่ายค้านคงได้แนวร่วมเพิ่ม ดังนั้น ผมอยากให้รอดูสิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจฯ โดยปัญหาของผู้นำและรัฐบาล คือสิ่งที่อยู่นอกสภา และถ้าถึงตอนนั้น การระบาดของโรคโควิด-19 ลดลงมาก คนที่ได้วัคซีนมีมากขึ้น จำนวนผู้ติดเชื้อลดจากหลักหมื่นเป็นหลักพันได้เมื่อไหร่ คนคงออกมาร่วมชุมนุมเต็มถนน ขณะเดียวกัน อีก 4-5 เดือนจากนี้ ประชาชนจะจนเพิ่ม ลำบากขึ้น ก็จะทำให้รัฐบาลยิ่งถูกกดดันและอยู่ยากขึ้น แม้รัฐบาลจะปลดล็อกให้ทำกิจการต่างๆ การจ้างงานเริ่มกลับมาได้ เตรียมเปิดประเทศ แต่มันไม่ทันกับอารมณ์ของคน ไม่สามารถแก้ปัญหาเงินในกระเป๋าของคนได้ทัน และเศรษฐกิจของไทยจะยังฟื้นตัวช้ากว่าประเทศอื่นๆ

@มองอย่างไรต่อการชุมนุมของกลุ่มต่างๆในขณะนี้ และยังมีภาพการใช้ความรุนแรงในระหว่างการประท้วง

ในประวัติศาสตร์ ไม่มีประเทศใดที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ด้วยการชุมนุมที่มีการกดดันกันไปมา ใช้ความรุนแรง ปาระเบิดหรือทำอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วรัฐบาลจะพ่ายแพ้ นายกฯจะหนีไป มีเปลี่ยนได้เพียงกรณีเดียว คือ อำนาจรัฐเปลี่ยนขั้ว เช่น ทหารไม่เอาด้วยกับรัฐบาล แต่ถ้าทหารและตำรวจยังอยู่กับรัฐบาล และมีแค่ประชาชนมาประท้วงขับไล่ ก็เปลี่ยนรัฐบาลไม่ได้ ยกเว้นรัฐบาลลาออกเอง ผมจึงบอกว่าการเปลี่ยนแปลงในระบอบประชาธิปไตยจะเกิดได้เมื่อถึง 6 ปีข้างหน้า หลังจากมี การเลือกตั้ง ส.ว.

@คิดว่าพรรคต่างๆได้เริ่มเตรียมการสำหรับเรื่องการเลือกตั้ง ส.ว.ด้วยหรือไม่

เขายังไม่คิด เขาคงมองเรื่องการเลือกตั้ง ส.ส.ในอีก 2 ปีข้างหน้า เพราะการเลือกตั้ง ส.ว.จะมาทีหลังเลือกตั้ง ส.ส. และอารมณ์คนในการเลือกตั้ง ส.ส.กับเลือก ส.ว.ก็อารมณ์เดียวกัน คนเลือก ส.ส.ของพรรคไหนเข้ามาก เขาก็เลือก ส.ว.ที่มาจากฐานพรรคนั้น และ ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้งก็จะไปสนับสนุนรัฐบาล เพราะ ส.ว.ต้องพึ่งรัฐบาลอยู่แล้ว

@ท่ามกลางปัญหามากมายที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ตอนนี้ ประเทศเราจะพบทางออกได้หรือไม่ และรัฐบาลยังมีทางรอดอยู่หรือไม่

ประเทศยังเดินได้ มี ทางออก อยู่แล้ว แต่ขอให้เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย อาทิ นายกฯลาออก หรือรัฐบาลยุบสภาแล้วไปเลือกตั้งก็ได้ แต่เราต้องรอดู สถานการณ์หลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจฯ ถ้าตอนนั้นปัญหาโรคโควิดจะลดลง แม้รัฐบาลจะคลายล็อก แต่เงินในกระเป๋าของประชาชนคงยังไม่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่คนบางส่วนจะลำบากมากขึ้น รัฐบาลจะถูกกดดันมากขึ้น แต่จะไม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไร

ส่วน ทางรอดของรัฐบาล ในตอนนี้ นายกฯคงอยู่ต่อไปจนครบวาระ หรืออยู่จนกระทั่งเขาเห็นว่าปัญหาคลี่คลาย ประชาชนมีเงินใช้สอย ลืมความทุกข์ไปบ้าง เศรษฐกิจดีขึ้น รัฐบาลเริ่มทำประชานิยมแล้วได้คะแนนเสียง มีโอกาสชนะแน่ เขาก็อาจ ยุบสภา เพื่อให้เลือกตั้งใหม่ หรือถ้าสถานการณ์บ้านเมืองมันไปไม่ได้จริงๆ นายกฯเห็นว่ามีคนมาประท้วงเยอะมาก ท่านอาจตัดสินใจว่าไปพิสูจน์กันด้วยการ ยุบสภา แล้วเลือกตั้งใหม่  และถ้าเลือกใหม่แล้ว ฝ่ายผู้มีอำนาจชนะการเลือกตั้ง ได้กลับมาอีก ความชอบธรรมในการประท้วงจะน้อยลง ผมจึงคิดว่าท่านน่าจะเลือกการยุบสภา มันง่ายกว่าการลาออก  แต่ถ้าท่าน ลาออก ก็ต้องไปเลือก นายกฯใหม่ ซึ่งมี 2 ทางเลือก ทางแรก ตามรัฐธรรมนูญ คือนำรายชื่อผู้เสนอตัวเป็นนายกฯ จากแต่ละพรรคมาใส่ตะกร้าแล้วร่อนออกมาชื่อเดียว แต่มันยากที่คนของพรรคต่างๆ จะไว้ใจซึ่งกันและกัน เลือกคนที่ไม่ใช่คนของพรรคตัวเองหรือฝ่ายเดียวกัน

และถ้าเลือกนายกฯจากตรงนั้นไม่ได้ ก็ต้องไปอีกทาง คือ เอาคนนอกมาเป็นนายกฯ วิธีนี้ต้องใช้เสียง 2 ใน 3 ที่ต้องมี เสียงเอกฉันท์จาก ส.ว. และต้องมีกระบวนการที่ทำให้ พรรคร่วมรัฐบาล หาคนภายนอกมาเป็นนายกฯ ซึ่งมันเกิดขึ้นยาก และอาจมีคนออกมาชุมนุมขับไล่อีก เพราะคิดว่านายกฯคนใหม่เป็นพวกเดียวกับคนเก่า และ การนำคนนอกมาเป็นนายกฯ อาจเกิดข้อครหาว่านี่คือ “นายกฯพระราชทาน” ใช่หรือไม่ ซึ่งอาจทำให้ไม่มีใครกล้ามารับตำแหน่งนี้เช่นกัน