…เป็น “ความสำคัญ” ที่ได้มีนักวิชาการระบุไว้ถึง “มิติของอาหาร” ที่ยึดโยงกับมิติอื่นหลาย ๆ เรื่อง จึงจำเป็นที่ประเทศไทยต้องกำหนด “ทิศทาง-แนวทาง” ให้ “ชัดเจน-เหมาะสม” เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งถึงแม้ เรื่องของอาหารได้ถูกบรรจุเอาไว้ในแผนแม่บทชาติ ด้วยเช่นกัน…

แต่ “ยังขับเคลื่อนได้ไม่มากเท่าที่ควร”

จำเป็น “ต้องมีแนวทางที่ชัดเจนยิ่งขึ้น”

ทั้งนี้ กรณี “อาหาร” ที่ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูลในวันนี้…เป็นข้อมูลที่สะท้อนไว้โดย ดร.สรัญญา สุจริตพงศ์ นักวิชาการสถาบันวิจัยประชากรและสังคม ผ่านทาง เวทีเสวนาใต้ชายคาประชากร หัวข้อ “แผนระดับชาติของไทยปักธงไว้ตรงไหนให้คนไทยมีอาหารที่ดีต่อสุขภาพอย่างยั่งยืน” ที่จัดขึ้นโดย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ช่วงปลายเดือน ก.พ. 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งได้มีการชี้เรื่องนี้ไว้ว่า เรื่องของอาหารนั้นส่งผลไปได้ไกลเกินกว่าเรื่องของสุขภาพ โดยในเวทีเสวนาได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลและมีมุมมองเชิงตั้งคำถามต่อกรณี “อาหารที่ดีต่อสุขภาพคนไทย” ไว้ว่า… “ไทยมีโอกาสบรรลุเป้าหมายในการที่จะช่วยทำให้คนไทยเข้าถึงอาหารที่ดีมากน้อยแค่ไหน??”

อนึ่งในเวทีเสวนา ดร.สรัญญา สะท้อนมุมมองที่มีต่อเรื่อง “อาหารที่ดีของคนไทย” ไว้ว่า… ประเทศไทยมีแผนระดับชาติมากมายที่เกี่ยวข้องกับอาหาร ทั้งทางตรงและทางอ้อมในมิติต่าง ๆ แต่ปัญหาก็คือ…เมื่อวิเคราะห์และพิจารณาแผนยุทธศาสตร์ชาติของไทย พบว่า… ไทยยังไม่มีเป้าหมายชัดเจนที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายในการทำให้คนไทยสามารถเข้าถึงอาหารที่ดีได้อย่างยั่งยืน!! ซึ่งเมื่อกล่าวถึง “อาหารในมิติยั่งยืน” กรณีนี้ก็มีความสัมพันธ์กับมิติต่าง ๆ ดังนี้…

“มิติด้านสิ่งแวดล้อม” จากวิธีการกินของคนเรา ที่การกินอาหารสามารถก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรืออาจส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางพันธุ์พืชและสัตว์ได้ โดยเฉพาะกระบวนการผลิตอาหาร อาจ “ก่อให้เกิดมลพิษรูปแบบต่าง ๆ” จากการผลิตอาหาร รองรับความต้องการของผู้คน เช่น เกิดมลพิษทางน้ำ จากอุตสาหกรรมการเลี้ยงและการเพาะปลูก ซึ่งอาจก่อให้เกิดการปนเปื้อนของสารพิษสู่สิ่งแวดล้อม นอกจากนั้นการผลิตอาหารยังเป็นหนึ่งในกิจกรรมของมนุษย์ที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกจากอุตสาหกรรมเลี้ยงสัตว์และขนส่ง ซึ่งยังไม่รวมผลกระทบจากกิจกรรมเกี่ยวเนื่อง ที่…

เกิด “ขยะที่ไม่ย่อยสลาย” เช่น ภาชนะ

ขณะที่ “มิติทางสังคม-วัฒนธรรม” ในมิตินี้เรื่องของอาหารก็ ทำให้ “เกิดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ” ของครัวเรือนเกษตรกร อีกด้วย โดยเฉพาะทางด้าน “รายได้” และ “ฐานะทางสังคม” ตลอดจนเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้วิถีชีวิตและวัฒนธรรมผู้คนเปลี่ยนไปจากเดิม รวมถึงอาจก่อให้เกิดการสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้ภูมิปัญญาที่เกี่ยวกับอาหารค่อย ๆ สูญหายไปเรื่อย ๆ ซึ่งถ้าไม่มีมาตรการหรือแนวทางรับมือเพื่อป้องกันปัญหา ก็ อาจ “ทำให้ความมั่นคงทางด้านอาหารลดน้อยลง” ไปเรื่อย ๆ…

ส่วนในแง่ของ “คำนิยาม” เกี่ยวกับ “อาหารที่ดีและยั่งยืน” นั้น นักวิชาการท่านเดิมระบุไว้ว่า…ถ้ายึดตามคำจำกัดความของ องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) และ องค์การอนามัยโลก (WHO) กับเรื่องของอาหารที่ดีและยั่งยืน จะหมายถึง “รูปแบบอาหารที่ส่งเสริมสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีได้ในทุกมิติ” อาทิ ต้องเป็นอาหารที่ลดแรงกดดันและส่งผลกระทบสิ่งแวดล้อมในระดับต่ำ, ต้องง่าย สะดวก ผู้คนสามารถเข้าถึงการซื้อหามาบริโภคได้, ต้องมีความปลอดภัยจากสารเคมี-การปนเปื้อน และสุดท้าย ต้องเป็นรูปแบบอาหารที่ทำให้เกิดความ “เท่าเทียม”…

ทั้ง “มิติเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม”

นอกจากนั้น ดร.สรัญญา ยังสะท้อนไว้ถึง “เป้าหมายของไทย” ที่มีต่อเรื่อง “อาหารที่ดีและยั่งยืน” ว่า…หลังจากทำการวิเคราะห์ “แผนระดับชาติของไทย” เกี่ยวกับเป้าหมายของอาหารที่ดีต่อสุขภาพและยั่งยืนแล้ว พบว่า…ไทยก็มีแผนยุทธศาสตร์เกี่ยวกับเรื่องนี้เช่นกัน เช่น ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มีการกำหนดให้เรื่องนี้จะต้องดำเนินการให้ครอบคลุม 3 ด้านของหัวข้อความยั่งยืน รวมถึงจะต้องสอดคล้องกับแนวทางหลักในการขับเคลื่อนให้เกิดอาหารที่ดีและยั่งยืนด้วย

“ไทยมีแผนยุทธศาสตร์อาหารที่ครอบคลุม ทั้งระบบและห่วงโซ่การผลิต ที่แม้แต่อังกฤษและสหรัฐอเมริกา ก็ยังไม่มีแผนยุทธศาสตร์ระดับชาติเรื่องนี้เลย ซึ่งมุมนี้สะท้อนถึงความก้าวหน้ามากของไทยในแง่ของการมีกรอบยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนในเรื่องนี้ อย่างไรก็ตาม แต่ในแง่การปฏิบัตินั้น เรื่องนี้ไทยยังทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร”

ทั้งนี้ ดร.สรัญญา ยังชี้ไว้ถึง “ปัญหา-อุปสรรค” การปฏิบัติตามแผนยุทธศาสตร์ด้านอาหารว่า…ส่วนใหญ่เกิดจาก “ความทับซ้อนของแผนงาน” ที่จะนำไปปฏิบัติจริง รวมถึง “ช่องโหว่ในแผนย่อย” จนเกิดความไม่ชัดเจนในการนำไปปฏิบัติ ซึ่งกับแนวทางแก้ปัญหาก็มี “ข้อเสนอแนะ” ไว้ว่า…เพื่อไม่ให้เกิดการทับซ้อน หน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแลเรื่องนี้ต้องศึกษาแผนงานย่อยของหน่วยงานอื่น และต้องเร่งสร้างการมีส่วนร่วมเพิ่มขึ้น เพื่อให้ “แผนยุทธศาสตร์ชาติเรื่องอาหาร”…

ก้าวไปข้างหน้าโดย “ไม่สะดุดอุปสรรค”

เพื่อ “คนไทยเข้าถึงอาหารที่ดีได้ทั่วถึง”

แบบที่ “ไม่มีกลุ่มใดถูกทิ้งไว้ข้างหลัง”.