การอบรมเป็นแบบออนไลน์ที่มีทั้งการฟังบรรยาย ทำ workshop และการทำงานกลุ่ม เผอิญผมได้อยู่กลุ่มเดียวกับสองพี่น้อง “คุณคิม” กวิน นิทัศนจารุกุล และ “คุณเคน” กมล นิทัศนจารุกุล ผู้ก่อตั้ง บริษัท ชูมณี จำกัด เราได้พูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลกันหลายครั้ง ผมเห็นว่าบริษัทนี้น่าสนใจเพราะมีการจ้างงานผู้สูงอายุในชุมชนให้ทำงานพับผ้าที่ร้านสะดวกซัก

ถ้าพูดถึงบริษัทชูมณีหลายคนคงไม่รู้จัก แต่ถ้าพูดถึงร้านสะดวกซัก “อ๊อตเทริ” หลายคนเริ่มคุ้น ๆ เพราะเป็นร้านสะดวกซักที่มีแฟรนไชส์มากที่สุดในเมืองไทยถึง 500 สาขาทั่วประเทศ ล่าสุดเพิ่งได้รางวัล Best Service Franchise รางวัลแฟรนไชส์ไทยบริการยอดเยี่ยม จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้ามาด้วย

คุณคิมเล่าประวัติสั้น ๆ ให้ผมฟังว่าเขาเรียนด้านวิทยาศาสตร์อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ แต่พอเรียนจบ ไปช่วยงานคุณแม่ที่เป็นโรงงานทอผ้า เขาทำงานเป็นเซลขายผ้าให้กับโรงแรมและโรงพยาบาล คุณคิมมองว่าเมื่อขายผ้าได้แล้ว ก็น่าจะหาสินค้าในสายนี้มาขายด้วยกัน จึงไปประเทศจีนเพื่อดูเทคโนโลยีเกี่ยวกับเครื่องจักรและเครื่องซักผ้าแล้วนำมาขายที่เมืองไทย เขาคลุกคลีเกี่ยวกับวงการเครื่องซักผ้าอยู่ 3 ปี พยายามปฏิวัติตัวเองจากการขายแบบ B2B ให้เป็น B2C ในช่วงนั้นเทรนด์ร้านสะดวกซักเข้ามาในอาเซียน เริ่มจากสิงคโปร์ เข้ามาที่มาเลเซีย ไปที่อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ซึ่งภูมิภาคนี้มีภูมิอากาศใกล้เคียงกัน มีฝนตกชุก ผ้าไม่แห้งเหมือนกัน คุณคิมเชื่อว่าเทรนด์นี้ต้องเข้ามาที่ประเทศไทยในไม่ช้า เขาจึงเริ่มทำร้านสะดวกซักก่อนใคร ปัจจุบันมี “อ๊อตเทริ” ที่เป็นร้านของตัวเอง 87 ร้านและที่เหลือทั้งหมดกระจายเป็นแฟรนไชส์อยู่ทั่วประเทศ ส่วนน้องชาย (คุณเคน) เคยทำงานเป็นไกด์ ก็ออกมาช่วยพี่ชายขยายธุรกิจ โดยทำงานด้าน Operation และเป็น Area Manager ดูแลพื้นที่ภาคตะวันออกที่ชลบุรีและระยอง

ผมสนใจเรื่องชื่อร้านและโลโก้ว่าทำไมต้องเป็นตัวนาก คุณคิมบอกว่า ลูกค้าหลักของร้านเป็นผู้หญิง น่าจะชอบสัตว์ตัวเล็ก ๆ น่ารัก แต่สัตว์ที่น่ารักตัวอื่น ๆ ถูกเอาไปทำเป็นโลโก้หมดแล้ว เหลือตัวนากไม่มีใครใช้ จึงเลือกตัวนี้แล้วกัน ตัวนากภาษาอังกฤษคือ “Otter” ด้วยความที่เขาชอบอ่านการ์ตูนญี่ปุ่น ชอบความเป็นญี่ปุ่น จึงเติมตัว I หรือเสียง “อิ” ลงไปกลายเป็น “อ๊อตเทริ” คุณคิมเพิ่มเติมว่า ถ้านึกถึงความเป็นญี่ปุ่นก็จะนึกถึงร้านที่เล็ก เรียบง่าย เป็นระเบียบ และสะอาด เขาอยากให้ร้านของตัวเองเป็นแบบนั้น

ผมอยากรู้เรื่อง “ชูมณี” ที่เป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม เกิดขึ้นกับร้านสะดวกซักได้อย่างไร คุณคิมเล่าว่า เมื่อทำร้านสะดวกซักไปสักพัก เขาได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับการตลาดที่ยั่งยืน…ต่อไปจากนี้เราต้องคำนึงถึง 3Ps ได้แก่ Profit  People Planet คุณคิมจึงคุยกับทีมงานและประกาศกับแฟรนไชส์ว่า นับจากนี้เราไม่ควรคิดแต่เรื่อง Profit หรือการทำกำไรสูงสุดเพียงอย่างเดียว เราควรให้ความสำคัญกับเรื่องของผู้คนและสิ่งแวดล้อมด้วย

หลังจากนั้นคุณคิมกลับมาดูว่าองค์กรยังขาดส่วนไหนและลูกค้ายังไม่ได้รับความสะดวกสบายเรื่องใดบ้าง พบว่ามีคำขอร้องจากลูกค้าอยากให้ร้านมีบริการ “ซัก-อบ-พับ” ประกอบกับคุณคิมเห็นร้านอื่นเริ่มทำบ้างแล้ว แต่ใช้คนหนุ่มสาวมาพับผ้า เขาเสียดายทรัพยากรของคนวัยนี้ คนหนุ่มสาวน่าจะไปทำอะไรได้มากกว่านี้ คุณคิมเห็นว่าตอนนี้ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว จึงอยากให้โอกาสกับผู้สูงอายุที่มีการศึกษาไม่มากนัก เป็นแรงงานไร้ฝีมือและเมื่ออายุมากขึ้นท่านก็ถูกตัดออกจากสายการผลิตไม่มีใครจ้าง ทางคุณคิมมีมุมมองเรื่องนี้ว่า ผู้สูงอายุเปรียบเสมือนอัญมณีที่ผ่านการเจียระไน ถูกเผา ผ่านกาลเวลา และเต็มไปด้วยประสบการณ์ เขาอยากเชิดชูคุณค่าผู้สูงอายุเหล่านี้ให้เห็นว่าพวกท่านทำงานได้ ยังส่องประกายได้อีกครั้ง จึงเป็นที่มาของชื่อ “ชูมณี” (ช่างสมกับที่เรียนด้านอัญมณีจริง ๆ ครับ)

คุณคิมเล่าว่า เมื่อเริ่มทำโครงการนี้ ต้องเลือกกลุ่มลูกค้าก่อนว่ากลุ่มไหนมีกำลังซื้อแล้วจึงหาที่หมาย มีการทดสอบร้านนำร่อง ได้แก่ โรบินสันศรีสมานและตลาดต้นสัก (คอมมูนิตี้มอลล์) ซึ่งเป็นแหล่งที่น่าจะมีลูกค้าเป็นกลุ่มเป้าหมายได้ ทางร้านจ้างงานคุณป้าที่เป็นคนในชุมชนแถวนั้นให้มาพับผ้า ผ่านไป 2 เดือน เริ่มมีลูกค้าประจำ คือมาที่ห้างแล้วนำผ้ามาซัก ฝากคุณป้าเอาผ้าไปอบและพับให้เรียบร้อย ส่วนตัวลูกค้าก็ไปเดินช็อปปิ้ง กลับมารับผ้าที่ร้านแล้วกลับบ้านได้เลย ได้ประโยชน์กับทุกฝ่าย ห้างมีลูกค้า ร้านมีบริการพับผ้า คุณป้าได้รับการจ้างงาน และลูกค้าได้ผ้าที่พับเรียบร้อย ประหยัดเวลา และรู้สึกว่าได้ช่วยเหลือคนอื่นด้วย

ผมอยากทราบว่าการเข้าไปหา “ป้าชูมณี” ตามคอนเซ็ปท์ของร้านต้องอย่างไร คุณเคนบอกว่าทีมงานต้องเข้าไปในพื้นที่ ให้คนในชุมชนแนะนำว่าบ้านไหนมีคุณป้าอยากทำงาน แล้วก็จะจ้างให้คุณป้ามาพับผ้าที่ร้าน โดยมีเวลาเข้างานตั้งแต่ 9 โมงเช้าจนถึง 2 ทุ่ม แต่ไม่ได้ให้คุณป้าทำงานยาวตลอด มีช่วงให้คุณป้าพักเต็มที่ เพื่อไม่ให้ท่านเหนื่อยเกินไป ส่วนราคาค่าพับผ้าของป้าชูมณีอยู่ที่ 40 บาทต่อตะกร้า (เป็นตะกร้าขนาดมาตรฐานประจำร้าน) ลูกค้าบางคนใจดี ให้ทิปกับคุณป้าเพิ่มจากราคาค่าพับผ้า แต่ตอนหลังคุณป้าไม่รับทิปเป็นส่วนตัว ขอให้ลูกค้าให้กับทางร้าน เพราะค่าทิปส่วนกลางจะได้แบ่งให้กับคุณป้าที่อยู่ในร้านอื่นด้วย

นอกจากโครงการเพื่อสังคมอย่าง “ชูมณี” แล้ว คุณคิมกับคุณเคนมีโครงการ Wash & Share “ซักก่อนบริจาค” ทำอยู่ในร้านอ๊อตเทริที่ร่วมโครงการ เพราะมองเห็นว่าบางคนอยากจะบริจาคเสื้อผ้าหรือตุ๊กตาที่ไม่ได้ใช้แล้ว แต่เก็บไว้ในตู้นานจนมีกลิ่น ก่อนจะส่งให้คนอื่น เราน่าจะซักให้สะอาดเสียก่อน ที่ร้านจึงมีกล่องรับบริจาคให้นำเสื้อผ้ามาใส่ไว้ ทางร้านจะซักให้ฟรีแล้วจะนำไปบริจาคกับมูลนิธิกระจกเงาให้ด้วย อีกโครงการที่เคยทำคือ Laundry Move จะมีรถเคลื่อนที่ไปให้คนไร้บ้านได้ซักผ้าและอาบน้ำ เพราะทางร้านเชื่อเรื่องความสะอาดและการมีสุขภาวะที่ดีควรเกิดขึ้นกับทุกคน โครงการนี้เคยเอารถไปจอดแถวสถานีหัวลำโพงแล้วได้รับผลตอบรับดีมาก แต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิดจึงหยุดไปก่อน

ผมเห็นโครงการเพื่อสังคมดี ๆ แบบนี้จึงมาเล่าให้ฟังครับ ถ้าใครอยากจะไปใช้บริการและให้กำลังใจป้าชูมณี

ลองไปดูที่ร้านสะดวกซัก “อ๊อตเทริ” ที่มีบริการ “ซัก-อบ-พับ” 10 สาขาต่อไปนี้ ตลาดต้นสัก (กรุงเทพฯ) โรบินสันศรีสมาน (ปทุมธานี) โลตัสรัตนาธิเบศร์ (กรุงเทพฯ) กาดฝรั่งวิลเลจหางดง (เชียงใหม่) รามคำแหง 65 (กรุงเทพฯ) ลาดพร้าว 114 (กรุงเทพฯ) ต้นซอยเทพประสิทธิ์ (พัทยา ชลบุรี) โรบินสันบ่อวิน (ชลบุรี) Metro West Town (กรุงเทพฯ) กรีนเพลส (กรุงเทพฯ).

………………………………………..
คอลัมน์ : ก้อนเมฆเล่าเรื่อง
โดย “น้าเมฆ”
https://facebook.com/cloudbookfanpage