พลิกโทษเป็นคุณ…หลังปลดล๊อกพืชกระท่อมจากบัญชียาเสพติด  สามารถปลูก กิน ซื้อ ขาย ไม่ผิดกฎหมาย  ไม่กี่สัปดาห์ ท่ามกลางวิกฤติโรคระบาดคนตกงาน ขาดรายได้  “กระท่อม”เริ่มกลายเป็นจุดสนใจ ต่อยอดธุรกิจใหม่ให้เห็นกันบ้างแล้ว โดยเฉพาะตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ธุรกิจค้าขายกระท่อมส่งสัญญาณคึกคัก 

ยกตัวอย่าง ที่ จ.สุรินทร์ ช่างภาพหนุ่มฟรีแลนซ์วัย  20  ปี เจอพิษโควิด-19 ต้องขายอุปกรณ์ทำมาหากิน ผันตัวเองทดลองตลาดเช่าแผงขายใบกระท่อมสด ขีดละ 60-100 บาท กิโลกรัมละ 800 -1,000 บาท โดยรับซื้อกระท่อมจากพื้นที่ภาคใต้ กระแสตอบรับค่อนข้างดีเพราะคู่แข่งยังไม่มี ลูกค้าส่วนใหญ่อยู่ในวัยกลางคน นำไปใช้เป็นยาแก้โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ลดน้ำตาลในเลือด และใช้ตามภูมิปัญหาท้องถิ่นอื่น ๆ

ที่ จ.สงขลา เปิดซุ้มขายน้ำต้มใบกระท่อมสดพร้อมดื่ม  ริมถนน โดยบรรจุขวดขนาด 600 มิลลิลิตร แช่เย็นราคาขายขวดละ 40 บาท

ที่ จ.ตรัง อดีตผู้ประกอบการร้านอาหารหลังผลกระทบโควิด-19 ทำปิดร้านหลายเดือน กลับมาฟื้นธุรกิจขายอาหาร พร้อมเปิดตัวเมนูกระท่อมทั้งคอกเทลกระท่อมไร้แอลกอฮอล์ และใบกระท่อมทอดกรอบ เรียกลูกค้าให้แวะเวียนอุดหนุนต่อเนื่อง  อีกด้านในพื้นที่จ.ตรัง หนุ่มตกงานตระเวนรับซื้อใบกระท่อมสดจาก จ.นครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี  เปิดท้ายขายใบกระท่อม กิโลกรัมละ 450 บาท แบ่งขายเป็นมัด ๆ ละ 50 บาท

เรียกว่ากระท่อม“ฟีเว่อร์”ก็คงไม่ผิด  และจากนี้น่าจะมีอีกหลายธุรกิจผุดขึ้นมารองรับตลาดบริโภคถูกกฎหมาย…  

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางกระแสฮิต ยังมีข้อสังเกตที่น่ากังวลเพราะแม้ปลดล็อกจากยาเสพติด แต่กระท่อมยังอยู่ภายใต้การควบคุมการใช้ประโยชน์ในทางที่ถูก  อีกทั้งมีบางระเบียบที่ถือเป็น“ข้อห้าม”ไม่อนุญาตให้ทำได้  

สถานการณ์ขณะนี้จึงอยู่ในช่วง “ลองผิด-ลองถูก” ซึ่งจำเป็นย่างยิ่งที่ต้องค่อย ๆ สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องกับประชาชน  เพื่อให้การเริ่มต้นธุรกิจ หรือเลือกบริโภค เป็นไปตามกรอบกฎหมายจริงๆ

หนึ่งในภาพที่ออกมาย้ำกันมากขึ้นคือการปลูก  เคี้ยวใบสด ขายใบสด ต้มน้ำกระท่อมดื่มเอง หรือแจก ทำได้-ไม่ผิด   แต่การแปรรูปเป็นอาหาร ผลิตภัณฑ์ ยังมีข้อจำกัด หรือต้องได้รับอนุญาตก่อน  โดยสรุปที่ต้องระวังดังนี้

การนำไปทำผลิตภัณฑ์สมุนไพร ตามพ.ร.บ.ผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ.2562 ต้องขออนุญาตก่อน

การนำไปทำเป็นอาหารหรือเป็นส่วนผสมในอาหารเพื่อขาย ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 424 ) พ.ศ. 2564 ออกตามความใน พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 เรื่อง กำหนดอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย กำหนดให้อาหารที่ปรุงจากพืชกระท่อมเป็นอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้าหรือจำหน่าย แม้กระทั่งน้ำต้มกระท่อมที่ไม่ได้ผสมกับสิ่งใดเลย ก็เป็นสิ่งที่ห้ามเช่นกัน  หากฝ่าฝืน ผลิต และขาย อาหาร มีโทษจำคุก 6 เดือน – 2 ปี  ปรับ 5,000 – 20,000 บาท

นายวิชัย  ไชยมงคล  เลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด(ป.ป.ส.) ให้ข้อมูลว่าหลังปลดล็อกพืชกระท่อมล่าสุดยังไม่พบสัญญาณความผิดปกติหรือรับแจ้งเบาะแสการใช้พืชกระท่อมในทางผิด  แม้ในพื้นที่ที่เคยเป็นปัญหามาก่อน ที่ต้องเตือนคือธุรกิจแปรรูปเป็นอาหารมาขายซึ่งยังเป็นข้อห้าม แต่เบื้องต้นได้ให้ข้อสังเกตเพื่อให้กระทรวงสาธารณสุขพิจารณาทบทวนเพื่อประโยชน์ประชาชนและผู้ประกอบการมากขึ้นในอนาคต

อย่างไรก็ตาม อีกทิศทางจากนโยบายของรมต.ยุติธรรม นอกเหนือปลดล็อก ส่งเสริมด้านเศรษฐกิจ คือการใช้ทางการแพทย์ ซึ่งงานวิจัยใช้กระท่อมบำบัดผู้ติดยาเสพติดถือว่าคืบหน้า เตรียมทดลองในคนโดยกระท่อมก่อนหน้านี้มีข้อมูลการใช้ของกลุ่มใต้ดินทดแทนการติดเฮโรอีนและยาบ้าซึ่งถือว่าได้ผล  ดังนั้น การผลักดันใช้ประโยชน์ทางการแพทย์จึงเป็นเป้าหมายที่กำลังเดินหน้าต่อไป

ทิศทางกระท่อมไทยหลังจากนี้มีหลายมุมมองน่าจับตาจริงๆ.

ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน

[email protected]