ผมมีโอกาสสัมภาษณ์คุณเอ๋ – วิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์ ที่ให้นิยามตัวเองว่าเป็น Social Activist Artist หรือ ศิลปินที่ใช้ศิลปะเพื่อกระตุ้นเรื่องปัญหาการจัดการขยะ เนื่องจากตั้งแต่เรียนจบมา เธอได้ทำงานด้านนี้มาตลอด 7 ปี มีผลงานแสดงมากมาย ชิ้นงานขนาดใหญ่โต 5-6 เมตร ไล่เล็กลงไปจนถึงของใช้ใกล้ตัว เช่น เสื้อผ้าและกระเป๋า ซึ่งทุกอย่างล้วนทำมาจากสิ่งของเหลือใช้ หรือถ้าจะเรียกภาษาชาวบ้านก็คือ ขยะนั่นเอง

แน่ใจหรือ…เรียนศิลปะ

คุณเอ๋เล่าให้ผมฟังว่า เธอชอบศิลปะและตั้งใจที่จะเรียนด้านนี้ เมื่อคุณพ่อถามว่าจะเอนทรานซ์เข้าคณะอะไร เธอบอกเกี่ยวกับศิลปะ คุณพ่อถามอีกครั้งว่าแน่ใจเหรอ จะทำมาหากินอะไร พอไปงานรวมญาติ ญาติ ๆ ถามว่าเรียนอยู่คณะอะไร คุณเอ๋ตอบว่า คณะศิลปกรรม สาขาทัศนศิลป์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรียนพวกวาดรูป ทำงานปั้น จากสีหน้าคนถามจากที่ยิ้ม ๆ กลายเป็นหุบยิ้ม แล้วแนะนำว่าเรียนจบแล้ว ไปสอบข้าราชการหรือหางานบริษัทดีกว่านะ จะได้มีงานมั่นคง…เป็นห่วง

ธีสิสนำทาง

แม้คนรอบข้างจะไม่มั่นใจว่าเรียนศิลปะแล้วจะไปทำอะไร แต่งานธีสิสระดับปริญญาตรีของเธอที่ทำเรื่องผลกระทบจากปัญหาสิ่งแวดล้อมนำเสนอในมุมของศิลปะ โดยทำเป็นสัตว์ประหลาดจากวัสดุเหลือใช้ ผลงานชิ้นนี้ได้รับรางวัลธีสิสดีเด่นและได้รับการจ้างงานตั้งแต่ยังไม่รับปริญญา

คุณเอ๋เล่าย้อนอดีตกลับไปว่า ขณะที่เรียนและทำธีสิส สมัยนั้นยังไม่มี SDG Goals ไม่มีใครพูดถึง Circular Economy และ BCG Economy เลย ตัวเธอเองก็ไม่ได้อินกับเรื่องสิ่งแวดล้อมมากนัก แต่เธอมองของเหลือใช้และเศษวัสดุเป็นรูปร่างรูปทรง มองให้เป็นเรื่องความสวยงามของงานศิลปะได้ เช่น ฝาขวดน้ำ ขวดพลาสติก แก้วพลาสติกใช้แล้วทิ้ง ลังกระดาษ เศษผ้า รองเท้าแตะ กระเป๋าไม่ใช้แล้ว ฯลฯ เรียกว่าเห็นอะไรที่ทิ้งแล้วก็หยิบเอามาทำงานศิลปะได้หมด ธีสิสชิ้นนั้นเธอให้ชื่อว่า Monster เป็น Installation Art ทำตั้งแต่ขนาดกระดาษ A4 ไปจนถึงขนาด 1.50 เมตร สูงพอ ๆ กับตัวคน ได้รับรางวัลธีสิสดีเด่นไปแสดงที่หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถร่วมกับธีสิสดีเด่นจากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ แล้วเธอก็ได้รับการติดต่อจากบริษัท FLYNOW จะว่าจ้างทำ Monster แบบนี้ แต่ตัวใหญ่กว่าเดิมขนาด 5 เมตร 2 ตัว เพื่อไปแสดงในงาน ELLE Fashion Week โดยมีเวลาทำงาน 2 สัปดาห์ คุณเอ๋ดีใจที่ได้งาน แต่ตัวเองไม่มั่นใจว่าจะทำงานนี้เสร็จเพราะตัวเองไม่เคยมีประสบการณ์ทำงานจริงมาก่อน คุณสมชัย ส่งวัฒนา แห่ง FLYNOW เป็นคนให้กำลังใจเธอว่า เขาเชื่อมือว่าเธอว่าทำได้ คิดว่าดูคนไม่ผิด คำพูดนี้ทำให้คุณเอ๋ฮึดทำงานจนเสร็จทันเวลา คุณเอ๋บอกว่าคุณสมชัยเป็นบุคคลที่เธอนับถือมาก คุณสมชัยให้คำแนะนำเธอหลายเรื่อง หลังจากที่เขาได้ยินว่าคุณเอ๋ขายงานธีสิสตัวเองไปในราคา 7,000 บาท คุณสมชัยบอกว่าการตั้งราคางานศิลปะ จะตั้งตามความรู้สึกตัวเองไม่ได้ ต้องคิดถึงต้นทุนค่าผลิต ค่าขนส่ง โดยเฉพาะค่าแรงของตัวเองต้องใส่ลงไปด้วย

สร้างศิลปะจากขยะ เป็นการเพิ่มขยะหรือเปล่า?

หลังจากจบงานธีสิสแล้วเริ่มทำงานเกี่ยวกับศิลปะจากขยะไปสักพัก คุณเอ๋กลับมาคิดและตั้งคำถามกับผลงานของตัวเองว่า “เราทำงานศิลปะจากขยะถือเป็นการเพิ่มขยะอีกชิ้นบนโลกหรือเปล่า?” ศิลปะชิ้นนี้จะย่อยสลายยากขึ้นไปอีก เพราะเธอใช้กาวจำนวนมากเพื่อยึดติดชิ้นงานและพ่นสีทับซ้ำลงไปอีก

จากที่เคยมองแต่เรื่องความสวยงามเพียงอย่างเดียว เธอเริ่มศึกษาและคำนึงถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง เมื่อคิดได้ดังนั้น คุณเอ๋จึงต้องหาวิธีใหม่เพื่อเชื่อมต่อชิ้นงาน เช่น ใช้การเจาะรูและทำโครงสร้างให้แข็งแรง รวมถึงเลิกการพ่นสีทับบนชิ้นงาน แต่ใช้สีจากวัสดุที่เก็บมาจริง ๆ เมื่อจบงานแล้วถอดเอาไปรื้อทิ้งได้ ให้ความสำคัญเรื่องของ Carbon Footprint และกระบวนการได้มาของขยะมากขึ้น จะไม่พยายามไปดำน้ำควานหาขยะจนเกินไป ยกตัวอย่างเช่น ไปงมขยะมาจากคลอง นำมาล้างขัด แบบนั้นจะไม่ทำเด็ดขาด เพราะต้องใช้ปริมาณน้ำไปมหาศาลเพื่อล้างขยะ ต้องใช้สารเคมี น้ำยาขัดล้างอีก กระบวนการเหล่านี้มีส่วนที่ทำให้สิ้นเปลืองทรัพยากรและไม่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ดังนั้น งานของคุณเอ๋จะใช้ขยะในขั้นตอน reuse เก็บขยะมาอย่างไร พยายามใช้แบบนั้น ลดขั้นตอนการสิ้นเปลืองทรัพยากรให้เหลือน้อยที่สุด และมีการเก็บข้อมูลของขยะในทุกกระบวนการทำงานทุกครั้ง

เก็บประสบการณ์ แต่ไม่เคยทิ้งงานศิลปะ

อย่างไรก็ตาม แม้จะเริ่มต้นได้ดีกับงานศิลปะด้านขยะ แต่เพื่อความสบายใจของครอบครัวที่อยากให้มีการงานที่มั่นคง ประกอบกับคุณเอ๋อยากจะเก็บเกี่ยวประสบการณ์ทำงานกับองค์กรต่าง ๆ เพราะอยากเรียนรู้ระบบการทำงานบริษัทว่าเป็นอย่างไร เนื่องจากการทำงานศิลปะจะมานั่งวาดรูปอย่างเดียวไม่ได้ ต้องรู้วิธีการนำเสนอตัวตนและผลงาน ทำงบประมาณ ทำงบการเงินให้เป็น

ในที่สุดเธอทำงานประจำกับหลายบริษัท ได้ทำงานที่หลากหลายและได้ทำงานที่ตัวเองไม่เคยรู้ เช่น ทำงานบริษัท PR Agency เป็นนักประชาสัมพันธ์ ทำด้านการเขียนข่าว ติดต่อกับสื่อมวลชนและลูกค้า ฝึกการสื่อสาร สรุปประเด็น (เพราะหลายคนบอกศิลปินพูดไม่ค่อยรู้เรื่อง) หรือไปทำงานด้าน Visual Merchandise ตกแต่งหน้าร้านของบริษัทที่มีชื่อเสียง ได้ทำตั้งแต่เลือกซื้อหุ่น ติดต่อกับดีไซนเนอร์ และได้ทำงานกับแบรนด์สินค้าต่างประเทศ ทำให้เรียนรู้ว่าต้องเริ่มคิดงานอย่างไร จัดงานแบบไหนที่ลูกค้าชอบและขายได้หมด จนมาที่สุดท้ายที่ช่างชุ่ย ได้ทำงานศิลปะอย่างที่ตัวเองชอบและมีงานศิลปะของเธอทำไว้ 5-6 ชิ้นที่นั่น อย่างไรก็ตามในระหว่างที่คุณเอ๋ทำงานประจำ เธอไม่เคยทิ้งการทำงานศิลปะเลย เข้างานประจำ 9 โมงเลิกงาน 6 โมงเย็น เมื่อกลับบ้านเธอจะมาทำงานศิลปะของตัวเองต่อ ทำแบบนี้ทุกวันไม่เคยหยุด

บินเดี่ยวและเกี่ยวคนแถวสตูดิโอไปทำงานด้วย

หลังจากทำงานประจำในบริษัทเป็นเวลา 3 ปี เมื่อถึงจุดหนึ่งแล้ว คุณเอ๋ลาออกมาทำงานของตัวเองเต็มตัว เธอทำทุกอย่างด้วยตัวเองเป็นส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นคิดคอนเซ็ปท์ คุยกับองค์กร สเก็ตช์งานนำเสนอลูกค้า ล้างขยะ วางบิล…ทำเองหมด อย่างไรก็ตาม งานศิลปะของเธอมักมีขนาดใหญ่ คุณเอ๋เห็นพี่ ๆ ที่อยู่แถวสตูดิโอทำงานรับจ้างขนของ บ่นว่ามีงานบ้างไม่มีงานบ้าง จึงอยากจ้างงานคนที่อยู่รอบข้าง โดยชักชวนให้มาช่วยทำงานศิลปะ เมื่อมาทำงานเกี่ยวกับขยะ คุณเอ๋สอนพี่ ๆ เรื่องการคัดแยกขยะในชีวิตประจำวัน นำขยะมา reuse และ recycle จนทุกคนมีความเข้าใจ นำขยะจากที่บ้านมาขายชั่งกิโล แล้วเอาไปใช้สร้างสรรค์ทำงานศิลปะด้วยกัน

งานแรกที่คุณเอ๋ออกมาทำงานแบบลุยเดี่ยวคือ งานเปิดของ ICONSIAM คุณเอ๋ก็งง ๆ ว่าได้รับการติดต่อมาได้อย่างไร เพราะเธอไม่ได้ไปออกสื่อที่ไหน เดาว่ามาจากผลงานศิลปะที่แสดงในงาน Bangkok Design Week จัดโดย TCDC …พูดถึงงานของ ICONSIAM เป็นงานที่คุณเอ๋ได้ทำงานศิลปะขนาดใหญ่ที่สุด เกือบ 6 เมตร มีทั้งหมด 5 ชิ้น และต้องแขวนบนเพดาน

คุณเอ๋ ณ ตอนนั้นเพิ่มทักษะตัวเองมากพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบ 3D ให้ลูกค้าได้เห็นชิ้นงาน มีการแยกส่วนงานเพื่อขนย้าย แล้วนำไปประกอบที่หน้างาน (ซึ่งถ้าเป็นการทำงานประกอบจนเสร็จแบบเดิม จะใช้รถบรรทุกขนไปไม่ได้หรือขึ้นลิฟต์ก็ไม่ได้) คุณเอ๋เรียนรู้วิธีการคำนวณน้ำหนักเบื้องต้น ก่อนให้สถาปนิกและวิศวกรเซ็นตรวจรับอีกครั้ง เพื่อให้แน่ใจว่าทุกอย่างรับน้ำหนักไหว เมื่อถึงวันเข้าติดตั้ง คุณเอ๋พาพี่ ๆ แถวสตูดิโอไปช่วยงานถึง 15 คน แบ่งทีมขึ้นเพดาน ดึงรอก ประกอบชิ้นงาน งานนี้ใช้ทุกศาสตร์ความรู้ รวมทั้งไสยศาสตร์ มีการไหว้ศาลพระภูมิเจ้าที่ ขอให้ไม่มีใครเป็นอะไรและขอให้งานสำเร็จราบรื่น คุณพ่อที่เคยเป็นห่วงเรื่องการเรียนศิลปะ กลับเป็นคนที่สนับสนุนและขับรถมาส่งทุกครั้งที่คุณเอ๋มาคุมงานติดตั้ง ตั้งแต่เที่ยงคืนถึงตีห้า

ศิลปะที่ให้ข้อมูลและกระตุ้นเรื่องการกำจัดขยะ

ด้วยความที่งานศิลปะของคุณเอ๋ชัดเจนเรื่องการจัดการขยะและการดูแลสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน ทำให้เธอมีโอกาสทำงานให้กับหลายบริษัทที่ใส่ใจเรื่องนี้ เช่น SCG AIS การบินไทย เซ็นทรัล เจียไต๋ ICONSIAM ตลาดหลักทรัพย์ ฯลฯ โชคดีที่ลูกค้าแต่ละเจ้าไม่เคยสั่งให้เธอว่าต้องทำอะไร แต่จะมาคุยหาไอเดียร่วมกันและปล่อยให้เธอทำงานได้ค่อนข้างอิสระ

คุณเอ๋เล่าว่า งานศิลปะที่อยู่ในองค์กรจะมี 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ องค์กรซื้องานศิลปะเพราะเห็นคุณค่าของงานนั้น และหวังว่ามูลค่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตามความดังของศิลปินคนนั้น หรืออีกแบบคือ นำไปติดตั้ง เพื่อแสดงให้เห็นว่าองค์กรใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมแบบเป็นรูปธรรมจับต้องได้

มีหลายองค์กรจริงจัง นอกจากจะจ้างคุณเอ๋ทำงานศิลปะลดขยะในองค์กร แล้วได้งานประติมากรรมตั้งวางอยู่ในบริษัท ยังเชิญคุณเอ๋ไปสอนทำ workshop นำสิ่งของเหลือใช้ในออฟฟิศ กลับมาประดิษฐ์สิ่งใหม่แล้วใช้งานได้จริง เช่น กระดาษที่เหลือก็เอามาทำเป็นสมุดกลับมาใช้ได้อีกครั้ง หรือประดิษฐ์โคมไฟที่ทำขึ้นมาจากวัสดุเศษวัสดุ ทำเสร็จคลิกเปิดไฟใช้งานได้

ส่วนงานศิลปะของเธอ ไม่ได้ให้ชมแค่ความสวยงามเพียงอย่างเดียว แต่จะให้ข้อมูลที่เกี่ยวกับกระบวนการทำงานศิลปะด้านสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ต้นจนจบ บอกประเภทและจำนวนการใช้วัสดุเหลือใช้ในแต่ละชิ้นงาน แสดงค่า Carbon Footprint มีเรื่องราวของการย่อยสลายและช่วยลดขยะ เพื่อกระตุ้นสังคมให้รู้ถึงปัญหาของขยะว่าทุกคนต้องช่วยกัน

ติดต่อ WISHULADA

ผมนึกว่างานศิลปะของคุณเอ๋มีแต่งาน Installation Art ชิ้นใหญ่ ๆ  คุณเอ๋บอกว่า จริง ๆ แล้วเธอทำได้ทุกประเภท อาทิ เสื้อผ้าและกระเป๋า นำของเหลือใช้ที่มีในองค์กรนั้น เช่น เศษผ้าที่เหลือมาเย็บเข้ากับกระดุมเก่า ผสมรวมกันออกเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ หรืองานกระเป๋า ทำจากวัสดุถุงปุ๋ยที่เหลือยังไม่ได้ใช้ แต่บางครั้งต้องยอมใช้ของใหม่มาปนบ้าง เช่น ซิป

แม้แบรนด์ WISHULADA จะมีมานานพอสมควร แต่คุณเอ๋เพิ่งจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท เทิร์นทูอาร์ต จำกัด เมื่อ 6 เดือนที่แล้ว เพื่อให้เป็นบริษัทที่ได้มาตรฐาน มีระบบขั้นตอนการทำงาน และเธอต้องการจะ Turning Trash” to “Treasured Art”  หวังว่าจะพัฒนาต่อไปเป็น Social Enterprise ที่มุ่งเน้นในเรื่องของสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้คุณเอ๋ยังรับงานเป็นที่ปรึกษาให้คำแนะนำในการลดขยะในองค์กร ปรับการออกแบบเรื่องบรรจุภัณฑ์ เป็นวิทยากรบรรยายเรื่องศิลปะกับสิ่งแวดล้อม พูดเรื่องแรงบันดาลใจว่าทำไมถึงสร้างสรรค์ผลงานแบบนี้ขึ้นมา เป็นอาจารย์พิเศษในสถาบันการศึกษาและมหาวิทยาลัย ถ้าใครจะติดต่อคุณเอ๋ ลองเข้าไปดูผลงานได้ที่ https://www.facebook.com/WishuladaPanthanuvong/ ครับ.

………………………………………..
คอลัมน์ : ก้อนเมฆเล่าเรื่อง
โดย “น้าเมฆ”
https://facebook.com/cloudbookfanpage