เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา กระแสเงินดิจิทัลวอลเล็ต ก็มีการหยิบยกนำมาถกกันอีกรอบ ถึงที่ไปที่มา ความจำเป็น กับการที่ต้องกู้เงินเพื่อนำมาดำเนินโครงการนี้

จะเป็นความชอบธรรม หรือไม่ ตามเหตุผลว่า…เศรษฐกิจวิกฤติ จำเป็นที่ผู้บริหารประเทศ ต้องดำเนินการเพื่อให้ค้ำยันเศรษฐกิจให้เดินหน้าต่อไปได้

เอาเป็นว่า ณ เวลานี้ คำว่าเศรษฐกิจวิกฤติ หรือไม่? น่าจะเลิกพูดถึงกันได้แล้ว เพราะสารพัดเหตุผลที่หยิบยกมานำเสนอกัน โดยเฉพาะตัวเลขต่าง ๆ น่าจะเลยคำว่า “วิกฤติ” ไปแล้ว

เพราะที่ผ่านมา…ปัจจัยต่าง ๆ ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ได้กดดันให้เศรษฐกิจทั่วโลกไม่สดใส ทำให้เศรษฐกิจไทยต้องได้รับแรงกระแทกอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด

ดังนั้น!! จึงเป็นเรื่องที่ผู้บริหารประเทศต้องโชว์ฝีมือ เพื่อฝ่าฟันแรงกระแทกนี้ไปให้ได้ หากยิ่งปล่อยให้เนิ่นนาน ยิ่งปล่อยให้วาทกรรม ปล่อยให้ความเห็นต่าง มาเป็นแรงฉุด เศรษฐกิจที่ควรจะเดินหน้าก็ไปไม่ถึงไหน?

ที่สำคัญที่สุด…หากทุกอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ก็เดินหน้าต่อ… แต่ถ้าถึงทางตัน แล้วชี้แจงต่อประชาชนคนไทย ชี้แจงต่อบรรดาคะแนนเสียง ก็เชื่อว่าทุกคนน่าจะรับได้

ทั้งนี้ทั้งนั้น ประเทศจะได้เดินหน้าต่อไปอย่างที่ควรจะเป็น!!

อย่าลืมว่าปัญหาเศรษฐกิจในเวลานี้มีปัญหาที่สะสมมานาน หากยังปล่อยให้เพียงเรื่อง ๆ เดียว เป็นอุปสรรคและก้าวข้ามไปไม่ได้สักที เชื่อเถอะ ทุกอย่างก็มีแต่แย่ลง…แย่ลง

ขณะที่เวลา ก็หมุนไป หมุนไป แบบไม่รอใคร หากการแก้ไข ไม่ลุล่วง คนไทยก็ไม่สามารถลืมตาอ้าปากได้เสียที สารพัดปัญหาที่เป็นตัวฉุดรั้งก็มีเข้ามาเรื่อย ๆ ท้ายที่สุด ก็กลายเป็น “วนลูป” ปัญหายิ่งเพิ่มพูนมากขึ้นทุกวัน

ที่ผ่านมา…การคาดการณ์เศรษฐกิจของแต่ละสำนักวิจัย ได้บ่งบอกบ่งชี้ให้เห็นอยู่แล้วว่า แม้เศรษฐกิจไทยจะดีขึ้นจากช่วงโควิด-19 แต่ยังเป็นการเติบโตที่ต่ำ และฟื้นตัวช้ากว่าเพื่อนบ้าน

ปัญหานี้ ไม่ได้เพิ่งเกิด แต่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นสะสมกันมานานเป็นเวลาหลายสิบปี จึงทำให้กลายเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างในหลาย ๆ เซ็กเตอร์ จนทุกวันนี้ปัญหาเริ่มเห็นผลรุนแรงมากขึ้น

การใช้นโยบายเพียงแค่กระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ ด้วยการเร่งให้เกิดการใช้จ่าย เพื่อให้เกิดพายุหมุนเศรษฐกิจ แต่เพียงอย่างเดียว คงไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจแข็งแกร่งได้

นโยบายระยะกลาง ระยะยาว จึงมีความสำคัญ ที่ผู้บริหารประเทศ ต้องเดินหน้า เพื่อให้เห็นผลให้ชัดเจน แม้ว่าอาจต้องใช้เวลา แต่หากปล่อยให้เพียงนโยบายระยะสั้น เพียงนโยบายเดียว เป็นตัวฉุดรั้ง ก็ไปไม่ถึงไหน?

ที่ผ่านสภาพัฒน์ หนึ่งในหน่วยงานหลักทางด้านเศรษฐกิจ และเป็นคลังสมองของประเทศ ได้ระบุไว้ชัดเจนว่า ข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจไทย มีทั้งเรื่องของการลดลงของแรงขับเคลื่อนทางการคลัง ทั้งภาวะหนี้สินครัวเรือนและภาคธุรกิจที่ยังสูง

หรือแม้แต่ผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งต่อผลผลิตภาคเกษตร หรือแม้แต่ความเสี่ยงจากการชะลอตัวมากกว่าที่คาดของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก

ด้วยเหตุนี้…แนวนโยบายในการบริหารเศรษฐกิจ ก็หนีไม่พ้นที่ต้องดำเนินนโยบายการเงินการคลังอย่างเหมาะสม สอดคล้องกับเงื่อนไขทางเศรษฐกิจที่อยู่ในช่วงฟื้นตัวท่ามกลางสารพัดความเสี่ยง

เช่นเดียวกับ การเตรียมมาตรการรองรับผลกระทบและการใช้ประโยชน์จากความเสี่ยงจากต่างประเทศ ความเสี่ยงจากภูมิอากาศและความผันผวนในตลาดเงินตลาดทุน

หรือแม้แต่การเร่งเดินหน้าให้การส่งออก ซึ่งเป็นพระเอกของเศรษฐกิจกลับมาขยายตัวอย่างต่อเนื่องได้ การเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดการลงทุนในประเทศ การสนับสนุนการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและที่เกี่ยวเนื่อง

การดูแลการผลิตภาคเกษตรและรายได้เกษตรกร และเหนือสิ่งอื่นใด การรักษาแรงขับเคลื่อนให้การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ เดินหน้าได้อย่างต่อเนื่อง

เพียงเท่านี้…สารพันปัญหา สารพันความเห็นต่างในวลานี้ ก็น่าจะทะลุทะลวงไปได้ เพื่อให้ไทยยังติดขอบเวทีโลก!!.

……………………………………….
คอลัมน์ : เศรษฐกิจจานร้อน
โดย “ช่อชมพู”

อ่านบทความทั้งหมดคลิกที่นี่