การออกแบบแสงสว่างมีความสำคัญต่อการสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมและมีคุณภาพ มีผลต่ออารมณ์ความรู้สึก ทั้งนี้นำเรื่องน่ารู้การออกแบบแสง ไอเดียดีไซน์แสงเติมบรรยากาศบ้านน่าอยู่อาศัย รวมถึงการใช้แสงไฟภายนอกอาคาร โดย ผศ.ดร.ภาสิต ลีนิวา รองคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพให้ความรู้ว่า แสงถ้ามองตามทฤษฎีจะส่งผลใน เรื่อง Visual Comfort มีความเคลียร์ ชัดและเหมาะสมซึ่งในความเคลียร์ชัด หมายถึง ไม่มืดเกินไป หรือสว่างจ้าเกินไป แต่อยู่ในช่วงที่พอเหมาะ พอดี อีกส่วนหนึ่งคือส่งผลต่อ ภาวะทางอารมณ์ มีผลต่อสุขภาพ
นอกจากนี้ยังมีในเรื่อง ความต้องการพื้นฐาน โดยแสงมีบทบาท สร้างความน่าสนใจ มีส่วนช่วยกระตุ้นความรู้สึกได้เป็นอย่างดี ซึ่งไม่ว่าจะเป็นภายในบ้านหรือนอกอาคาร สถานที่ต่าง ๆ มีความจำเป็นเลือกใช้แสงที่เหมาะสม ทั้งนี้หลักคิดการวาง Lighting จะกำหนดเอาไว้ 3 เลเยอร์คือ ระดับพื้นฐาน General Lighting แสงสว่างทั่วพื้นที่ แต่เดิมจะเห็นไฟฟลูออเรสเซนต์ ไฟซาลาเปาวางอยู่กลางห้อง เพื่อให้แสงกระจายไปทั่วห้อง แต่ในยุคนี้นิยมไฟดาวน์ไลท์ โดยหลักคิดจะเหมือนกัน ใช้ในห้องต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ห้องรับแขก ห้องทานข้าว ห้องครัว พื้นที่ทางเดิน บันได ห้องนอน ห้องนํ้า ฯลฯ จัดวางได้ทุกที่ เป็นเลเยอร์แรกระดับพื้นฐาน
ต่อมาเพิ่มระดับใกล้ชิดฟังก์ชันมากขึ้น ระดับการใช้งาน task lighting เป็นการเสริมจากเลเยอร์แรก โดยบางจุดที่ต้องการเน้นการใช้งานที่เป็นฟังก์ชันมากขึ้น เน้นใช้ในพื้นที่เฉพาะ อย่างเช่นการเตรียมอาหารบนท็อปครัว ซึ่งมีจุดไฟเสริมเข้าไปอีกหนึ่งตำแหน่งเพื่อให้บริเวณที่ใช้งานสว่างขึ้น ชัดเจนขึ้น หรือ บริเวณโต๊ะทำงาน อาจเสริมด้วยโคมไฟสำหรับนั่งทำงาน หรืออ่านหนังสือ หรือ บริเวณโต๊ะทานข้าว จากที่มีแสงไฟสว่างตามปกติ มีความสว่าง 100-200 ลักซ์ แต่หากไม่เพียงพอสามารถเพิ่มไฟห้อยลงมาจากฝ้าเพดานลงมาบริเวณโต๊ะทานข้าว แสงจะเพิ่มมากขึ้นหรือแม้แต่ โต๊ะแต่งตัว กระจกในห้องนํ้า สามารถออกแบบแสง โดยใช้เลเยอร์นี้เข้ามาเสริม เพื่อให้มีความสว่างเพิ่มขึ้น
อีกส่วนหนึ่ง ระดับการตกแต่ง decorate Lighting บางครั้งเราอาจต้องการเสริม เติมบุคลิกให้กับพื้นที่บ้าน แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่ตามความชื่นชอบของแต่ละบุคคล อย่างเช่น เพิ่มโคมไฟตั้งโต๊ะ โคมไฟที่ประดับตกแต่ง ไฟซ่อนตามตู้ ตามมุมต่าง ๆ เพื่อเสริมให้บ้านมีบรรยากาศมากขึ้น มีคาแรกเตอร์ที่เป็นตัวตนของเจ้าของบ้าน ก็จะอยู่บนหลักของการออกแบบแสงในส่วนนี้
นอกจากความสว่าง โทนแสงไฟยังมีส่วนสร้างบรรยากาศที่แตกต่าง ทั้งนี้จากที่กล่าวส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับความชื่นชอบที่จะเลือกใช้แสงแบบไหน แต่หากมองในเชิงฟังก์ชันของห้อง เช่น ห้องนอน มีคำแนะนำ โดยแสงควรมีความสบายตา ไม่ต้องการแสงที่สว่างมาก เว้นแต่ต้องมีมุมทำงานก็จะเพิ่มไฟที่โต๊ะทำงาน หรือเพิ่มไฟที่หัวเตียง เพื่อให้มีความสว่างมากขึ้น และใช้งานเปิดปิดตามการใช้งาน บรรยากาศทั่วไปจึงมักถูกกำหนดให้มีบรรยากาศของแสงเหมือนช่วงเช้าตรู่ หรือแสงโพล้เพล้ใกล้ค่ำให้ความรู้สึกผ่อนคลาย พักผ่อน
สำหรับบางห้องอย่างเช่น ห้องรับแขก หรือห้องทานข้าว หากต้องการบรรยากาศอบอุ่น บรรยากาศครอบครัวใช้หลอดวอร์มไวท์ แต่ถ้าต้องการความชัดเจนจะนิยมใช้หลอดเดย์ไลท์ ส่วนห้องนํ้า ถ้าเป็นไฟทั่วไปโดยตั้งอยู่กลางห้องเป็นแสงวอร์มไวท์ หรือจะเป็นเดย์ไลท์ก็ได้ แต่หากเป็นจุดที่ต้องการเสริม ให้เห็นชัดเจนขึ้นควรเป็นเดย์ไลท์ โดยรองคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ผศ.ดร.ภาสิต อธิบายเพิ่มอีกว่า สำหรับผู้สูงอายุ แสงที่ต้องให้ความระมัดระวังคือ แสงจ้า อย่างเช่น การลุกมาเข้าห้องนํ้ากลางคืนควรต้องเพิ่มแสงที่ทางเดินเพื่อช่วยการมองเห็น ทั้งนี้แสงไฟต้องมีจังหวะ ที่เหมาะสมถูกต้องเพื่อไม่ให้เกิดการสะดุดหกล้มได้
ส่วนห้องทำงานถ้าเป็นช่วงกลางวัน แสงที่ใช้อาจเป็นเดย์ไลท์ หรือถ้าต้องการความรู้สึกผ่อนคลาย เลือกเป็นโทนวอร์มไวท์ ส่วนห้องนั่งเล่น อีกพื้นที่ที่มีบทบาทสำคัญ แต่จะมีบรรยากาศแบบใดนั้น ขึ้นอยู่กับความชอบของแต่ละบุคคล โดยส่วนตัวมองว่า เป็นห้องที่ต้องการการพักผ่อน มีความรีแลกซ์ ไม่ว่าจะเป็นนั่งดูทีวี นั่งฟังเพลงหรืออ่านหนังสือ แสงไฟที่ใช้ไม่น่าจะเป็นโทนวอร์ม
“ปัจจุบันในเรื่องของแสงมีบทบาท มีส่วนสำคัญในการเติมบรรยากาศบ้านไม่น้อย โดยทั่วไปจะเห็นถึงความสนใจ ในเรื่องของ Lighting กันมากขึ้น ทั้งมีความเข้าใจมากพอสมควรในการเลือกใช้ไฟในโทนต่าง ๆ ทั้งมีความรู้ เกี่ยวกับไฟประดับทั่วไปที่ใช้งานร่วมกับแสงที่ส่องเข้ามา หรือในระดับที่เพิ่มเติมในระดับตกแต่งพบว่าเลือกนำมาใช้ได้เป็นอย่างดี บ่งบอกถึงบุคคลิกของบ้านได้ชัดเจน”
ผศ.ดร.ภาสิต ให้มุมมองเพิ่มอีกว่า นอกจากการออกแบบแสงไฟภายใน ภายนอกอาคาร นอกบ้านก็มีความสำคัญ โดยยังคงอยู่ในหลักการแนวคิดเดียวกัน แสงไฟนอกบ้านทำหน้าที่ให้บรรยากาศ ให้ความรู้สึกปลอดภัย สามารถมองเห็นรอบ ๆ บ้านได้ชัดเจน หลักคิดการออกแบบแสงไฟเป็นวิธีการเดียวกัน โดยอยู่ในจุดที่สามารถกระจายแสง แต่จะไม่เท่ากับในบ้านอย่างเช่น บ้านที่มีช่องทางเดินรอบบ้าน การออกแบบแสง จัดวางตำแหน่งแสง ควรวางให้เป็นจังหวะที่ใกล้เคียงกัน หรือเท่า ๆ กัน ซึ่งจะช่วยในการกะระยะ ลดเรื่องอุบัติเหตุลงได้ แต่อย่างไรก็ตามควรต้องให้ความรู้สึกสว่างครอบคลุมพื้นที่ที่จะใช้งาน หรืออยู่ในตำแหน่งที่ต้องการแสงสว่าง เช่น โรงรถที่มีตู้เก็บของ หรือพื้นที่ต้องใช้งาน ต้องเสริมไฟให้สว่างเพียงพอ
แสงไฟนอกตัวบ้านอาจไม่จำเป็นต้องจัดวางให้สว่างมากเกินความจำเป็น หรือส่องสว่างโดยไม่มีใครใช้ประโยชน์ นอกจากสิ้นเปลืองพลังงาน แสงสว่างที่เกินความจำเป็นยังสร้างมลภาวะทางแสงขึ้นได้ ทั้งนี้การจัดแสงนอกบ้านอาจทำให้บ้านดูมีมิติ มีบรรยากาศสวยงาม แต่หากส่องสว่างเข้าตาโดยตรงก็จะกลายเป็นมลพิษทางแสง โดยถ้าเกิดกับผู้สูงอายุค่อนข้างมีความอันตราย
“การใช้ไฟในบ้าน ในอันดับแรก ไม่มืดเกินไป ปริมาณแสงที่ไม่เพียงพอจะทำให้ต้องเพ่ง ใช้สายตาเพิ่มขึ้น หรืออ่านหนังสือในที่ที่แสงสว่างไม่เพียงพอ โดยระยะยาวจะส่งผล กระทบกับสุขภาพตา หรืออีกอย่างหนึ่งคือ แสงจ้า ซึ่งทำให้เกิดมลพิษทางแสงเช่นกัน แสงจ้าทำให้เกิดภาวะตาเบลอชั่วขณะ โดยถ้าเกิดกับกลุ่มผู้สูงอายุจะมีความอันตรายอาจเกิดอุบัติเหตุขึ้นได้ ทั้งนี้การใช้แสงควรอยู่ในภาวะสมดุลให้มากที่สุด โดยถ้าสว่างมากเกินความพอดีเกินความจำเป็นก็จะสิ้นเปลืองพลังงาน”
แสงธรรมชาติมีบทบาทสำคัญโดยเป็นเรื่องหลักที่ต้องคำนึง ใช้ประโยชน์จากแสงอาทิตย์ให้ได้ประโยชน์มากที่สุด แต่ทั้งนี้นอกจากแสงก็จะมีเรื่องของความร้อน โดยเฉพาะประเทศไทยแสงจะมาพร้อมความร้อนซึ่งการออกแบบต้องคำนึงถึง ทั้งนี้ในเรื่องการออกแบบแสง การใช้แสงไฟอย่างเหมาะสม ไม่สร้างมลพิษ ทั้งภายในบ้าน หรือภายนอกอาคาร
รองคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ผศ.ดร.ภาสิต ให้มุมมองทิ้งท้ายอีกว่า ในเรื่องของ Lighting ในปัจจุบันเป็นส่วนที่ช่วยเสริมเติมเต็ม ให้ความรู้สึกที่ดีในพื้นที่ เป็นเรื่องดีที่จะให้ความสนใจออกแบบพื้นที่ โดยใช้แสงไฟที่เราชอบสร้างบรรยากาศ สร้างความสวยงาม โดยแสงไฟช่วยในเรื่องความรู้สึกเติมเต็มให้กับผู้ที่ใช้งานได้ แต่ทั้งนี้ควรใช้อย่างเหมาะสมกับพื้นที่ อยู่ในขอบเขต หรือหากจะเสริมบางจุดที่ต้องการเน้นการใช้งานในจุดที่เฉพาะเจาะจงก็ไม่ควรให้เกินความจำเป็น
ไม่สิ้นเปลืองพลังงาน ดีต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม โดยไม่เบียดเบียนธรรมชาติ.
พงษ์พรรณ บุญเลิศ