ที่สำคัญ!! ประเด็นนี้ก็กำลังถูกขยายประเด็น ไปสู่การนับรวมเป็นหนึ่งในพลังละมุน หรือซอฟต์เพาวเวอร์ของไทยหรือไม่? อย่างไร?
จริง ๆ แล้ว กางเกงลายช้าง!! มีมาตั้งนานแล้ว โดยถูกผลิตจากผู้ผลิตในประเทศมานานไม่ต่ำกว่า 10 ปี เมื่อมีการนำเสนอให้นักท่องเที่ยวได้เห็น ได้สัมผัส ก็ถูกใจ
จึงกลายเป็นที่มาของ “ความนิยม” โดยเฉพาะอย่างยิ่งการท่องเที่ยวตามวัดวาอาราม ที่ต้องแต่งตัวให้มิดชิด บรรดาพ่อค้าแม่ค้าจะนำนำมาเสนอให้กับนักท่องเที่ยวแทบทุกแหล่งท่องเที่ยว
ไม่เว้นแม้แต่…บรรดาศิลปินชื่อดัง เน็ตไอดอล ดารานักแสดงจากตปท.ต่างก็ชื่นชอบกับการสวมใส่กางเกงช้างไม่น้อย จนทำให้เกิดกระแสและกลายเป็นพฤติกรรมเลียนแบบ เช่นเดียวกับสินค้าอื่น ๆ มากมาย
ปัจจุบันว่ากันว่า กางเกงลายช้างมีมากกว่า 200 ลายช้างกันทีเดียว ขณะที่ผู้ผลิตชาวไทยนั้นได้มีการจดลิขสิทธิ์กับกรมทรัพย์สินทางปัญญาไว้อยู่แล้ว
ส่วนของเลียนแบบ ของที่ไม่ถูกลิขสิทธิ์ ทั้งหลายโดยเฉพาะการผลิตลอกเลียนแบบจากต่างประเทศนั้น หากว่ากันว่าตามความจริงแล้ว ก็ทุกสินค้านั่นแหล่ะ!! ที่มีการลอกเลียนแบบ
ความแตกต่างอยู่ที่ “คุณภาพ” ที่ก็รู้กันดีอยู่ หากเป็นกางเกงช้างที่ผลิตในไทย จะมีคุณภาพ ลายช้างไม่กลับหัวกลับหาง หรือหัวช้างชนกัน อะไร?เทือกนั้น
ขณะที่คุณภาพของผ้า หรือความทนทานในการผลิต ณ เวลานี้ ก็ยังยืนยันได้อีกว่าใส่ไปแล้วเป้าไม่แตก ไม่ฉีกขาดง่ายแน่นอน ผิดกับของนำเข้าจากต่างประเทศ ที่เห็นความแตกต่างได้อย่างชัดเจน
ล่าสุด!! กรมทรัพย์สินทางปัญญา ก็ออกมาแนะนำให้ผู้ประกอบการกางเกงลายช้างของไทย สร้างลวดลายสินค้าที่เป็นลิขสิทธิ์ของตนเอง พัฒนาคุณภาพสินค้า ควบคู่ไปกับการสร้างแบรนด์ให้เข้มแข็ง
เชื่อเถอะ…ตรงนี้ หากทำได้ ผู้ประกอบการไทย จะก้าวข้ามสินค้าเลียนแบบไปได้แบบใสใส ไม่ต้องมีอะไรให้ติดใจกันด้วยซ้ำ เพราะของดี ของมีคุณภาพ แม้มีราคาสูง แต่ตลาดก็ต้องการไม่น้อยเช่นกัน
นอกจากนี้ในเมื่อรัฐบาลได้พยายามผลักดันให้กางเกงช้าง เป็นอีกหนึ่งซอฟต์เพาวเวอร์ ของไทย พร้อมตีฆ้องร้องป่าวให้การสนับสนุนเต็มที่ ผ่านโครงการ 1 จังหวัด 1 กางเกง
มาวันนี้!! หลายจังหวัดของไทย ต่างออกแบบกางเกงประจำจังหวัด ออกมาแข่งขันกันมากมายและได้รับความสนใจ จนกลายเป็นไวรัลยอดฮิต ประมาณว่าแต่ละจังหวัดต่างประกวดประขันกันก็ไม่ปาน!!
ทั้งนี้ทั้งนั้น “กางเกงลายแมว” ของจังหวัดนครราชสีมา ถือเป็นจังหวัดแรกของไทย ที่ได้ริเริ่มให้มีลายประจำจังหวัด ถึงขนาดที่ในครั้งการประชุมของพรรคเพื่อไทย ที่โคราช บรรดาสมาชิก ต่างสวมใส่กางเกงลายแมว มาร่วมรับประทานอาหารเย็นกันเป็นแถว
ล่าสุด!! เมื่อปลายสัปดาห์ก่อน อบจ.สมุทรสงคราม ก็ได้เปิดตัว “กางเกงปูก้ามดาบ” ที่เป็นสัญญลักษณ์สำคัญของระบบนิเวศของจังหวัดสมุทรสาคร
ส่วนจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ก็เปิดตัว “กางเกงลายหอย” ที่เตรียมแจกให้กับผู้ร่วมกิจกรรมเดิน-วิ่ง “หัวหิน รักษ์เล 2 ตอนหัวหินเป็นถิ่นมีหอย” ส่วนจังหวัดสมุทรสงคราม ก็มีกางเกง “ปลาทู แม่กลอง” ภายใต้ชื่อ “plaplatootoo” (ปาป้าทูทู่)
ขณะที่จังหวัดอุทัยธานี เปิดตัว “กางเกงปลาแรด” ปลาประจำจังหวัดอุทัยธานี จังหวัดพิษณุโลก เปิดตัว เสื้อ-กางเกงลาย “ไก่ชน” เมืองพิษณุโลก
แม้แต่จังหวัดน่าน ก็เปิดตัว“กางเกงกระซิบรัก” จังหวัดลพบุรี ออกแบบ “กางเกงลิง” กับ “ดอกทานตะวัน” ด้านจังหวัดสงขลา ออกแบบ “กางเกงปลาจ้องม้อง”
ส่วนจังหวัดอื่น ๆ ยังเริ่มออกแบบและนำเสนอแนวคิด กางเกงลายโอ่ง กางเกงลายไดโนเสาร์หรือดอกคูน กางเกงลายว่าว กางเกงลายเป็ด กางเกงลายหนังตะลุง กางเกงลายลิงเก็บมะพร้าว กางเกงลายหนุมาน และกางเกงลายข้าวเหนียวมะม่วง และอีกสารพัด!!
เอาเป็นว่า… การออกแบบ ถือเป็น “ลิขสิทธิ์” อย่าลืมจดให้เรียบร้อย ก่อนถูกลอกเลียนแบบ ถูกแย่งตลาด ตีตลาด จน “เป๋” เพราะไม่เช่นนั้น ปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ ก็จะเกิดขึ้นตลอดเวลา
เหนือสิ่งอื่นใด!! หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็ต้องบังคับใช้กฎหมาย ต้องดำเนินการให้เข้มงวด เพื่อไม่ทำให้มันสมองและไอเดียของผู้ประกอบการไทย ต้องเหือดหายไปจากการ “ถูกละเมิด”.
……………………………………….
คอลัมน์ : เศรษฐกิจจานร้อน
โดย “ช่อชมพู”