“แค่ทุก ๆ คนได้ลงมือทำสิ่งเล็ก ๆ ในบริบทของตัวเอง ผลลัพธ์เล็ก ๆ ก็จะรวมกันเป็นผลผลิตที่ใหญ่ขึ้นได้” เสียงใส ๆ ของสาวน้อยวัย 18 ปี… “เอม-อมินตา เพิ่มพูนวิวัฒน์” บอกกับเราด้วยความมุ่งมั่น ทั้งนี้ สาวน้อยที่ “ทีมวิถีชีวิต” จะพาไปทำความรู้จักคนนี้ เธอเป็นเยาวชนหญิงจากประเทศไทยเพียงคนเดียวที่ได้รับการประกาศให้เป็น 1 ใน 36 ผู้นำเยาวชนหญิงที่ทรงอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก ปี 2023 (Young Leaders Directory 2023) จากทาง Wow Foundation ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 2010 โดย “Judge Kelly” ผู้กำกับละครเวทีและศิลปะชื่อดังระดับโลก โดยองค์ประธานของมูลนิธินี้คือ “สมเด็จพระราชินีคามิลลาแห่งสหราชอาณาจักร” ซึ่งมูลนิธินี้มีผลงานขับเคลื่อนและผลักดันการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในมิติต่าง ๆ ทั้งด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การศึกษา ความยุติธรรมในสังคม สิทธิ LGBTQIA+ และการลดความเหลื่อมล้ำให้กับกลุ่มผู้เปราะบาง ซึ่งวันนี้ “ทีมวิถีชีวิต” จะพาไปพูดคุยกับสาวน้อยคนเก่งของไทยคนนี้กัน…
“เอม-อมินตา” เล่าประวัติส่วนตัวให้ฟังโดยสังเขปว่า ปัจจุบันเรียนปี 1 สาขาวิทยาศาสตร์การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศและนโยบายสาธารณะ (Climate Studies and Public Policy) มหาวิทยาลัย Vanderbilt รัฐเทนเนสซี ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยรับทุนการศึกษา 4 ปี อีกทั้งเธอยังได้ทุนทำวิจัย และเรียนแลกเปลี่ยนในต่างประเทศ 1 ภาคการศึกษา ภายใต้ทุนจาก Chancellor’s scholarship ซึ่งมอบให้ผู้ที่เป็น Top เป็น 1% จากจำนวนผู้สมัครเข้าเรียนทั้งหมดแต่ละปี โดยเอมได้รับคัดเลือกให้เข้าเรียนใน Honors Program อีกทั้งเธอยังมีรายชื่อบรรจุใน Dean’s List ของทางคณะที่เธอกำลังเรียนอยู่ด้วย
น้องเอมเป็นลูกคนเดียวของ คุณพ่อ-ศุภณัฐ เพิ่มพูนวิวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า กับ คุณแม่-รศ.ดร.ชมพูนุท โกสลากร เพิ่มพูนวิวัฒน์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) โดยเธอจบมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน (หลักสูตร EPTS) ด้วยทุนอธิการบดีมหาวิทยาลัย Vanderbilt จากการที่เธอมีผลงานโดดเด่นในฐานะที่ เป็นผู้นำเยาวชนโลกด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Youth4Climate) ติดต่อกัน 2 ปีซ้อน คือปี ค.ศ. 2021 และปี ค.ศ. 2022 นอกจากนี้เธอยังมีตำแหน่งเป็น ที่ปรึกษาเยาวชนด้านสิทธิมนุษยชนด้านน้ำดื่มและสุขภาวะขององค์การสหประชาชาติ (UN) และยัง ได้รับเลือกเป็นผู้แทนเยาวชนไทยและเยาวชนโลก เพื่อร่วมประชุมและกล่าวสุนทรพจน์ในเวทีต่าง ๆ ของ UN อย่างต่อเนื่อง
อีกทั้งเธอยังเป็น ผู้ก่อตั้งโครงการจิตอาสาพี่สอนน้อง (Youth Mentorship Project : YMP) ที่ทำกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้นอกห้องเรียนให้เด็กไทยกลุ่มเปราะบาง ผ่านวิชาต่าง ๆ เช่น วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม ศิลปศาสตร์ และคณิตศาสตร์ (STEAM) อีกด้วย โดยเธอตั้งใจจะผลักดันทำให้โครงการ YMP นี้มีส่วนช่วยยกระดับคุณภาพการศึกษาของไทย
“เอมสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมาก่อน ทำให้เรามีประสบการณ์การเป็นครูอาสา จนตัดสินใจว่าเอมจะตั้งมูลนิธิของตนเองขึ้น ซึ่งก็คือโครงการ YMP นี้ เพื่อเป็นพื้นที่แบ่งปันความรู้ให้กับเด็กนักเรียนที่เป็นกลุ่มเปราะบาง โดยเอมจะเน้นการเรียนการสอนแบบพี่สอนน้อง ซึ่งการได้ลงพื้นที่นี้เองที่ทำให้เอมได้เห็นปัญหาอีกอย่าง ที่เป็นปัญหาใหญ่นอกเหนือไปจากเรื่องปัญหาคุณภาพการศึกษา และความไม่เท่าเทียมทางการศึกษา ที่ได้ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ถึงกัน นั่นก็คือเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั่นเอง” สาวน้อยวัย 18 ปีคนนี้กล่าว
พร้อมเล่าให้ฟังอีกว่า เธอเคยลงพื้นที่ไปพบกับน้อง ๆ ที่ครอบครัวทำเกษตรกรรมเป็นอาชีพหลัก ซึ่งมักประสบปัญหาภัยแล้งหรือน้ำท่วมรุนแรงถี่ขึ้นจากภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง โดยเรื่องนี้ไม่เพียงส่งผลต่อการเพาะปลูก แต่ยังกระทบไปถึงเรื่องของการศึกษาด้วย เพราะทำให้เด็ก ๆ กลุ่มนี้ไม่สามารถไปเรียนได้ตามปกติ ยิ่งกว่านั้น ถ้าครอบครัวหรือคนในหมู่บ้านของเด็ก ๆ เหล่านี้ไม่มีความรู้ความเข้าใจ ในอนาคตก็จะยิ่งต้องเจอผลกระทบเพิ่มขึ้น จนไม่อาจรับมือกับการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ได้
“เอมคิดว่าเพราะเด็กอย่างเราสัมผัสได้ถึงปัญหาและรู้ดีว่านี่คือวิกฤติใหญ่ ทำให้เยาวชนยุคใหม่ตื่นตัวเรื่องนี้กันอย่างมาก เพราะทุกคนมองปัญหานี้เป็นเรื่องความท้าทาย ทำให้ทุก ๆ คนต้องการจะเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้ หรืออย่างน้อยก็ทำให้การรับรู้กลายเป็นการลงมือทำ ส่วนตัวเอมมองว่าเราน่าจะใช้ทักษะของตัวเองที่มีอยู่มาช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรให้โลกใบนี้ได้บ้าง โดยเอมรู้ตัวเองดีว่าเราเป็นคนชอบการสื่อสาร ก็เลยหวังจะใช้ทักษะนี้ของเราให้เป็นประโยชน์ด้วยการสร้างการเรียนรู้ให้กับคนอื่น ๆ รวมถึงใช้เสียงของเราบอกเล่าเรื่องราวออกไป”
นอกจากความตั้งใจที่จะช่วยโลกแล้ว สาวน้อยวัย 18 ปีคนนี้ที่มีชื่อติดโผ “ผู้นำเยาวชนหญิงที่ทรงอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก” ปีที่ผ่านมา ยังเล่าให้ฟังเกี่ยวกับ “ความฝัน-ความหวัง” อีกว่า เธอวาดหวังไว้ว่าอยากจะเป็นหนึ่งในคนที่ช่วยสร้างพลังบวกและสร้างสิ่งดีให้กับโลกใบนี้ โดยเป้าหมายที่เธอตั้งใจมาก ๆ ก็คือได้มีส่วนพัฒนาสังคมและช่วยพัฒนาให้มนุษย์ทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งด้วยเหตุที่ได้ตั้งเป้าหมายชีวิตไว้เช่นนี้ น้องเอมจึงเลือกเรียนสาขาวิทยาศาสตร์การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศและนโยบายสาธารณะ เพราะเธอเชื่อว่าความรู้เหล่านี้จะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้โลกได้
เธอบอกถึงเหตุผลที่เลือกเรียนเกี่ยวกับ Climate Change ต่อไปว่า เธอเชื่อในเรื่องการเรียนรู้ข้ามศาสตร์ หรือ Transdisciplinary ซึ่งเป็นการเรียนที่อาศัยการร่วมมือกันระหว่างศาสตร์วิชาต่าง ๆ ในการทำงานวิจัย และพัฒนานวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหา หรือสร้างความเข้าใจใหม่ ๆ ที่ไม่จำกัดเฉพาะขอบเขตของสาขาวิชาหรือองค์ความรู้แค่สิ่งเดียว โดยน้องเอมมองว่า ปัญหาโลกร้อน ที่ปัจจุบันองค์การสหประชาชาติได้บัญญัติให้ใช้คำว่า “โลกเดือด” นั้น หากมีการแก้ปัญหาโดยเน้นการรวมกันของความรู้และวิธีการหลาย ๆ สาขาวิชาเข้าด้วยกันน่าจะเป็นแนวทางที่ดีในการช่วยแก้ไขปัญหานี้ เพราะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นปัญหาที่ซับซ้อน การเลือกเรียนแค่เรื่องวิทยาศาสตร์ที่เป็น Environmental Science หรือ Engineering คงไม่เพียงพอต่อการแก้ปัญหานี้ โดยไม่สามารถแก้ปัญหาเชิงนโยบายได้ และยิ่งถ้าคิดได้ แต่สื่อสารไม่ได้ หรือถ้าไม่เข้าใจในมิติต่าง ๆ เช่น มิติคน มิติสังคม มิติเศรษฐกิจ หรือแม้แต่มิติของการเมืองกับกฎหมาย ก็ยากที่จะแก้ปัญหานี้ได้ เนื่องจากปัญหานี้จะต้องอาศัยมุมมองหลากหลายมิติ จึงทำให้เธอเชื่อมั่นว่า การที่เธอเลือกเรียนสาขา Climate Studies นี้จะช่วยตอบโจทย์ และทำให้เธอเกิดความเข้าใจที่ลึกซึ้ง เพื่อให้การคิดค้นแนวทางแก้ปัญหามีประสิทธิภาพมากขึ้น
“การเรียนสาขานี้สำหรับเอม เอมคิดว่าถือเป็นการเดินทางครั้งสำคัญในชีวิตของเราที่จะเชื่อมโยงวิทยาศาสตร์กับนโยบาย โดยเอมมุ่งหวังที่จะมีส่วนร่วมในการส่งเสริมนโยบายสภาพภูมิอากาศในอนาคต นอกจากนี้การที่ตัวเราจะได้รับประสบการณ์ในการทำวิจัยและเรียนในสาขานี้ เรามองว่าจะช่วยให้มีความพร้อมที่ดี เพื่อให้แน่ใจว่านโยบายที่ดีมีพื้นฐานมาจากข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่เชื่อถือได้ และนอกจากนี้เอมยังเห็นโอกาสที่จะมีโอกาสได้เชื่อมโยงกับเครือข่ายต่าง ๆ ที่มีแนวคิดหรือเป้าหมายเหมือนกันกับเราในเรื่องนี้ โดยเอมตั้งใจว่า ตัวเราอยากสื่อสารถึงทุกคนเพื่อสร้างผลกระทบทางบวกให้เพิ่มมากขึ้น” เธอย้ำกับ “ทีมวิถีชีวิต” ถึง “ความฝัน-ความหวัง”
อย่างไรก็ดี นอกจากการทุ่มเทให้กับการเรียน การทำวิจัย และการรณรงค์ให้คนตระหนักถึงพิษภัยของมหันตภัยโลกเดือดแล้ว ด้วยความที่สนใจเกี่ยวกับประเด็นปัญหาเรื่องของการศึกษา จึงทำให้เธอก่อตั้งโครงการ YMP ขึ้นมาเพื่อทำกิจกรรมอาสาสมัครด้านนี้ โดยเธอบอกว่า อยากสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนเห็นว่า ผู้หญิงตัวเล็ก ๆ คนหนึ่งจากประเทศกำลังพัฒนาก็สามารถทำงานด้าน STEAM และสร้างผลกระทบเชิงบวกที่ยิ่งใหญ่ได้ โดยตัวเธอเองหวังว่าตนเองจะสามารถเป็นแรงบันดาลใจเพื่อจุดประกายให้กับคนอื่น ๆ ผ่านการลงมือทำ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีกับโลกใบนี้ …น้องเอมย้ำถึงเรื่องนี้
สำหรับความรู้สึกของเธอที่ได้รับการประกาศให้เป็น หนึ่งในผู้นำเยาวชนหญิงที่ทรงอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก ปี 2023 นั้น น้องเอมบอกว่า รู้สึกเป็นเกียรติมากที่มีคนเห็นผลงานที่เธอลงมือทำ ถึงแม้จะเป็นงานเล็ก ๆ แต่เป็นงานที่เธอมุ่งมั่นตั้งใจลงมือทำในบริบทของตนเอง และยิ่งรู้สึกภูมิใจมากขึ้นอีก ในฐานะที่เธอเป็นผู้หญิงไทยที่ได้รับการยอมรับในเวทีระดับโลก และเธอก็มองว่าเป็นโอกาสที่ดีมาก ๆ ในฐานะตัวแทนประเทศไทย อย่างไรก็ดี แต่เธอก็ย้ำว่า ทุกสิ่งที่เธอทำ เธอทำด้วยใจ ไม่ได้ทำเพื่อหวังรางวัลใด ๆ เพราะส่วนตัวแล้วรางวัลไม่ใช่เป้าหมายของชีวิตเธอ หากแต่สิ่งที่เธอคาดหวังมากกว่าก็คือ สิ่งที่ทำจะช่วยเปลี่ยนโลกให้ดีขึ้นกว่าเดิม หรือสร้างแรงบันดาลให้กับคนอื่น ๆ หันมาช่วยกันสร้างการเปลี่ยนแปลงให้โลก
“ตอนแรกที่รู้ว่าได้รับรางวัล เอมทั้งตื่นเต้น ดีใจ และตกใจไปพร้อมกัน เนื่องจากไม่รู้มาก่อน ที่สำคัญเอมไม่รู้ด้วยซ้ำว่าใครเป็นคนส่ง และขั้นตอนคัดเลือกเป็นอย่างไร มารู้ก็ตอนที่มีคณะทำงานของ Wow ติดต่อมา และบอกว่าขอรูปเราหน่อย เพราะเอมคือหนึ่งในผู้นำเยาวชนจากทั่วโลกที่ได้รับรางวัลนี้” เธอพูดถึงเรื่องนี้ด้วยน้ำเสียงที่ตื่นเต้น
ทั้งนี้ การที่ต้องไปเรียนต่างบ้านต่างเมืองนั้น น้องเอมเล่าให้ “ทีมวิถีชีวิต” ฟังว่า จะวิดีโอคอลล์คุยกับคุณพ่อคุณแม่เกือบทุกวัน เพราะรู้สึกคิดถึงเมืองไทยมาก ที่มหาวิทยาลัย Vanderbilt ไม่ค่อยมีคนไทยมากนัก ซึ่งด้วยความที่การทำกิจกรรมจะผูกโยงอยู่กับสมาคมนักเรียนเอเชียบ่อย ๆ ดังนั้นเธอจึงทำเรื่องขอกับทางมหาวิทยาลัยว่าเธออยากจะจัดตั้งสมาคมนักเรียนไทยขึ้นที่นี่ ซึ่งตอนนี้ก็ได้รับการอนุมัติแล้ว โดยเธอหวังว่าสมาคมนี้จะช่วยเชื่อมโยงคนไทย ทั้งที่เป็นนักศึกษาปริญญาตรี และบัณฑิตศึกษา ให้ได้มาร่วมพบปะ หรือทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน และวัตถุประสงค์ที่เธอพยายามผลักดันสมาคมนี้ไม่ใช่แค่เป็นการนำประเทศไทยไปสู่ Vanderbilt เท่านั้น แต่เป็นการนำ Vanderbilt มาสู่ประเทศไทยด้วย
“น้องเอม-อมินตา” ยังบอกเล่ากับ “ทีมวิถีชีวิต” ถึงสมาคมที่เธอผลักดันที่มหาวิทยาลัยที่เรียนด้วยว่า… “เอมมองว่าเหมือนเป็นการเพิ่มการเข้าถึง และก็ช่วยทำให้มหาวิทยาลัยเป็นที่รู้จักมากขึ้นในไทย ซึ่ง Vanderbilt เป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงมากในสหรัฐอเมริกา โดยอัตราการตอบรับเข้าเรียนก็ยากมาก ๆ คืออยู่ที่แค่ 5% อีกทั้งที่นี่ยังได้คะแนนอันดับต้น ๆ ของการเป็นมหาวิทยาลัยแห่งความสุขสำหรับผู้เรียน เอมก็เลยอยากช่วยให้เยาวชนไทยได้มีโอกาสเข้าเรียนที่นี่ เพื่อให้ทุกคนได้รับประสบการณ์ที่ดีจากที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้ เหมือนกับที่เอมได้รับ…ได้รับสิ่งดี ๆ กลับสู่ประเทศไทย”.
เฟสติวัล ‘ความสำเร็จของผู้หญิง’
“Wow Foundation” หรือ “มูลนิธิ Wow” ได้จัดงาน เทศกาล WOW Women of the World (WOW, WOW Festival) ขึ้น เพื่อเป็นเครือข่ายของเทศกาลทางศิลปะ ที่เป็นการ เฉลิมฉลองความสำเร็จของผู้หญิงและเยาวชนหญิงทั่วโลก ที่ได้ผ่านความท้าทายและอุปสรรคที่ต้องเผชิญหน้า ซึ่งกลายเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวของสตรีทั่วโลกที่ยิ่งใหญ่ที่สุด โดยในทุก ๆ ปีมูลนิธิฯ จะมีกาจัดเทศกาลดังกล่าวนี้ขึ้นทั่วโลก และงานนี้ในปี ค.ศ. 2024 นี้ “น้องเอม-อมินตา เพิ่มพูนวิวัฒน์” ก็ได้สร้างความภาคภูมิใจให้กับคนไทยและประเทศไทย ในฐานะ “ผู้นำเยาวชนหญิงที่สร้างการเปลี่ยนแปลงระดับโลก”.
เชาวลี ชุมขำ : รายงาน