คนเราไม่ว่าจะประกอบอาชีพอะไร ย่อมต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และนำมาปรับใช้เพื่อพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ..

อย่าง “ลุงปราณีต” หรือ นายปราณีต อมรวุฒิพงศ์ อายุ 66 ปี เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร บ้านคลองยาง หมู่ที่ 4 ต.ครบุรีใต้ อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา ที่หันมาเลี้ยงสุกรแบบเปิด ใช้พื้นที่ว่างปลูกหญ้าเนเปียร์เป็นอาหารเสริมให้สุกร ลดต้นทุนอาหารได้มากว่า 40 เปอร์เซ็นต์ แถมสุกรได้วิ่งเล่น สุขภาพแข็งแรง อารมณ์ดี เนื้อแน่นขายได้ราคาดี หลังลองผิดลองถูกกัดฟันสู้มากว่า 10 ปี

ที่ผ่านมา “ลุงปราณีต” มีอาชีพทำไร่ทำนาเป็นหลัก พอมีรายได้ ก็ซื้อรถไถ รถบรรทุก มารับจ้างไถ และบรรทุกผลผลิตทางการเกษตร เคยสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ เพราะมีงานเข้าไม่ขาดสาย แต่เวลาผ่านไป ร่างกายก็เริ่มโรยแรงไปตามอายุที่มากขึ้น ประกอบกับเดี๋ยวนี้รถไถ รถบรรทุก ซื้อหาได้ง่าย และมีใช้กันทั่วไป คนจ้างงานจึงน้อยลง

ช่วง 10 ปีหลัง ลุงปราณีตจึงหันมาลองเลี้ยงหมูแบบทั่วไป ซื้อลูกหมูมาเลี้ยง ให้อาหารสำเร็จรูปแบบฟาร์ม ปรากฏว่าต้นทุนเพิ่มสูงขึ้นทุกปี ขณะที่ราคาหมูก็ไม่แน่นอน บางครั้งตกต่ำจนต้องเจอปัญหาขาดทุน ยิ่งในช่วงที่เกิดโรคระบาด หมูตาย ขายไม่ได้ ต้องล้มลุกคลุกคลานเรื่อยมา

และไม่นานมานี้ ลุงปราณีตได้ตัดสินใจใช้พื้นที่ว่าง 2 ไร่ กั้นรั้วโดยรอบ มีต้นไม้ใหญ่ร่มรื่น ปล่อยให้หมูเกือบ 60 ตัว ได้วิ่งเล่นและหากินแบบธรรมชาติ พร้อมสร้างโรงเรือนขนาดเล็ก ให้หมูได้หลบแดดหลบฝน และมีสระน้ำขนาดเล็กไว้ให้หมูได้ลงเล่นน้ำคลายร้อนและทำความสะอาดตัวเอง และมีการปลูกหญ้าเนเปียร์เสริมอยู่เป็นหย่อมๆ เพื่อให้หมูได้หากินและเอาไว้เป็นอาหารเสริมผสมกับหัวอาหารให้หมูด้วย ปรากฏว่าผลที่ได้ดีเกินคาด ลดต้นทุนไปกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ หมูแข็งแรงเนื้อแน่น ขายได้ราคาดีกำไรเพิ่มมากขึ้น  

ลุงปราณีต กล่าวว่า “ตนกับภรรยามีลูกด้วยกัน 2 คน เป็นผู้ใหญ่และแยกไปมีครอบครัวหมดแล้ว จึงหมดห่วง แต่ก็ยังคงใช้เวลาเลี้ยงหมู เพื่อให้มีรายได้ไว้เลี้ยงตัวเอง 2 ตายาย ไม่ต้องเดือดร้อนลำบาก เป็นภาระกับลูกหลาน  

หลังหันมาเลี้ยงหมูแบบปล่อย ลดภาระในการดูแลไปได้กว่าครึ่ง ทำให้ตนมีเวลาว่าง ได้พักผ่อนมากขึ้น ร่างกายแข็งแรง สุขภาพจิตก็ดี ตอนนี้หมูที่เลี้ยงไว้ก็มีพร้อมทุกรุ่น ตั้งแต่พ่อพันธุ์แม่พันธุ์ ที่สามารถผลิตลูกรุ่นใหม่ได้เอง ทำให้ไม่ต้องซื้อลูกหมูมาเลี้ยงใหม่ ก็ยิ่งประหยัดต้นทุนได้เพิ่มขึ้น ตอนนี้ตนกับภรรยาถือว่าอยู่ตัวแล้ว มีเงินเก็บเอาไว้ทำทุนดูแลตัวเองและครอบครัว อย่างไม่ต้องเป็นห่วงอะไรอีกแล้ว”

คอลัมน์ : นิยายชีวิต โดย : อสงไขย

เรื่องและภาพโดย : รณฤทธิ์ นวนครบุรี จ.นครราชสีมา

[[คลิก]] อ่านเรื่องราว “นิยายชีวิต” ได้ที่นี่..