แม้โดนมรสุมรุมถล่มมากมาย  แต่ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ฟันฝ่ามาได้ แถมลุยไฟไปต่อพร้อมประคองรัฐบาล ให้ยังอยู่รอด ท่ามกลางกระแสข่าวที่ว่าเจ้าตัวต้องมนต์การเมือง เตรียมสู้ศึกเลือกตั้งครั้งหน้า ร้อนถึงเหล่าคู่แข่งที่ต้องหาทางเตะตัดขา อย่างกรณี พรรคเพื่อไทย กางรัฐธรรมนูญมาตั้งคำถามในสังคมพร้อมพุ่งโจมตีการครองอำนาจแสนยาวนานของนายกฯ คนปัจจุบัน “ทีมการเมืองเดลินิวส์” จึงมาสนทานากับผู้ที่เป็นทั้งนักกฎหมายและนักการเมืองมากประสบการณ์ “นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ” อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ถึงประเด็นร้อนดังกล่าว

โดย “นิพิฏฐ์” เปิดฉากกล่าวว่า การเข้ามาดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี ก่อนหน้านี้ของ พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ไม่ได้มาจากการเลือกของ สภาผู้แทนราษฎร และเป็นมาก่อนมีการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ที่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ. 2560 ขณะที่การนำบทบัญญัติ มาตรา 158 แห่งรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 มาพูดถึงวาระการดำรงตำแหน่งของนายกฯนั้น ต้องดูวรรคสอง ที่ระบุว่า นายกรัฐมนตรีต้องแต่งตั้งจากบุคคลซึ่งสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบตามมาตรา 159 ดังนั้นคำว่า “นายกรัฐมนตรี” ตามนัยของ มาตรา 158 คือนายกฯ ที่มาจากสภาผู้แทนราษฎรเลือก

และการส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความคุณสมบัตินายกฯ ต้องถูกถามแน่นอนว่าอ้างกฎหมายใด ถ้าคุณอ้างรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 ก็ต้องระบุถึงมาตรา 158 ที่บอกว่านายกฯ ต้องมาจากการเลือกของสภาฯ แล้วเวลาตีความก็ต้องดูรัฐธรรมนูญฉบับนั้น จะไปใช้รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ไม่ได้ เพราะหมดสภาพแล้ว และบทบัญญัติในมาตรา 158 อยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 การห้ามอยู่เกิน 8 ปีก็เพิ่งถูกเขียนในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพราะฉบับอื่นๆไม่เคยมี จึงต้องเริ่มการพิจารณาที่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 การจะไปดูย้อนหลังเพื่อให้เกิดผลที่เป็นโทษ มันก็ขัดมาตรา 158 จึงคิดว่าไม่ใช่เรื่องที่น่าซีเรียส และเสียเวลาที่จะมาถกเถียงกัน

@ แกนนำพรรคเพื่อไทยระบุว่า จะรอยื่นเรื่องต่อศาลฯในเดือน ส.ค. 2565 ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์จะเป็นนายกฯครบ 8 ปี

ถูกแล้วที่เขาจะรอ เพราะตอนนี้เหตุยังไม่เกิด ยังไม่มีข้อขัดแย้งหรือข้อพิพาทเรื่องข้อกฎหมายที่ทำให้ต้องส่งศาลฯ ตีความ ดังนั้น ถ้ายื่นเลย ศาลฯก็ไม่รับ และศาลรัฐธรรมนูญไม่ใช่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาที่มีหน้าที่รับหารือหรือให้ความเห็นทางกฎหมายให้กับองค์กรใดองค์กรหนึ่ง

@คิดว่ากรณีนี้เป็นทำเพื่อสกัดพล.อ.ประยุทธ์ใช่หรือไม่ เพราะมีข่าวว่าอาจลงชิงตำแหน่งนายกฯ อีกสมัย

ถ้าดูตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน คิดว่าพล.อ.ประยุทธ์ ลงเลือกตั้งอีกได้  และถ้าได้รับเลือกจากสภาฯ ให้เป็นนายกฯต่อ พล.อ.ประยุทธ์ก็เป็นได้  ตนมองแบบกลางๆว่า พล.อ.ประยุทธ์ เป็นจุดแข็งในทางการเมือง คือ เป็นบุคคลที่ได้รับความนิยม ซึ่งคาดหมายได้ว่าอาจกลับมาเป็นนายกฯอีก ดังนั้น คนไหนที่มีโอกาสจะกลับมาเป็นนายกฯ จะตกเป็นเป้าถูกโจมตีไว้ก่อนได้ ในเมื่อพล.อ.ประยุทธ์เป็นจุดแข็ง ไม่ว่าจะไปอยู่พรรคใด ก็ทำให้พรรคนั้นมีจุดแข็ง แม้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ถูกโจมตีหลายอย่าง แต่ยังอยู่ในระนาบที่คาดหมายได้ว่า เป็นผู้ชิงตำแหน่งนายกฯได้ และคิดว่ามีคนหลายล้านคนหรือหลายสิบล้านคนที่จะชี้พล.อ.ประยุทธ์ว่ายังกลับมาเป็นนายกฯได้ ด้วยแรงสนับสนุนต่างๆ  

และถ้า พล.อ.ประยุทธ์ได้คะแนนมาเป็นที่ 1 ได้ตั้งรัฐบาลด้วย ฝ่ายผู้ประท้วงจะหมดความชอบธรรม เพราะพวกคุณได้มาแข่งแล้ว แต่แพ้ ก็ต้องให้อีกฝ่ายได้อยู่ครบ 4 ปี และถ้าจะออกไป ก็ต้องไปตามรัฐธรรมนูญ เช่น จากการถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ ร่างกฎหมายงบประมาณไม่ผ่านสภา ฯลฯ 

คิดว่าการที่พรรคเพื่อไทยหยิบเรื่องระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกฯ ตรงนี้ขึ้นมา เป็นการสกัดพล.อ.ประยุทธ์ และเพราะเขากลัวด้วย เนื่องจาก ถ้าดูผลโพลต่างๆ ไม่นับว่าโพลเท็จหรือจริง พล.อ.ประยุทธ์ยังเป็นหนึ่งในชื่อของคนที่ประชาชนนิยมชมชอบอยู่ ขณะที่พรรคเพื่อไทยยังไม่สามารถหาหัวใหม่ที่พอจะชนกับ พล.อ.ประยุทธ์ได้ แม้แต่หัวหน้าพรรคฯ คนปัจจุบันอย่างคุณ “สมพงษ์ อมรวิวัฒน์” ก็ยังเทียบไม่ได้ ซึ่งถ้าเขาตั้งใจสู้จริงๆ เขาต้องเปลี่ยนหัว และหลายๆคนรู้อยู่แล้วว่าในการเลือกตั้งครั้งหน้า จะสู้กันด้วยการนำเสนอทีมเศรษฐกิจของแต่ละพรรค

อย่างไรก็ตาม พรรคเพื่อไทยมีสิทธิคิดหรือแสดงความเห็นทางกฎหมายได้ แต่อยู่ที่ความเห็นทางกฎหมายของเขานั้นเป็นเหตุเป็นผลหรือไม่ เวลาที่มีการตีความข้อกฎหมายใดก็ตาม ควรให้คนที่มีความรู้ทางกฎหมายจริงๆดูก่อน ไม่ใช่ใครจะใช้ความรู้สึกไปตีความ

@ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่เคยทำให้พล.อ.ประยุทธ์ได้เป็นนายกฯ อีกสมัย กลับไม่แสดงท่าทีคัดค้านการส่งตีความเรื่องนี้ จึงถูกมองว่าอาจร่วมมือกับฝ่ายค้าน เพื่อสกัดพล.อ.ประยุทธ์ไม่ให้เล่นการเมืองต่อได้

เป็นเรื่องน่าคิดว่า พปชร.จะแตกหรือเปล่า และถ้าพล.อ.ประยุทธ์อยากเป็นแบบ นิวประยุทธ์ จริงๆ อาจต้องไม่ใช้ในนาม พปชร. เพราะ พปชร.มีจุดอ่อนอยู่หลายคน และจุดอ่อนที่ว่านี้ต้องยอมกลืนเลือดกันจริงๆ เนื่องจาก ตอนที่พล.อ.ประยุทธ์ได้กลับมาเป็นนายกฯ ก็ต้องพ่วงพวกอะไรต่างๆมาอีกเยอะ ซึ่งเป็นคนที่ประชาชนไม่ต้องการหรือไม่ค่อยโอเคก็ยากที่ พล.อ.ประยุทธ์จะเอาคนพวกนั้นออกจาก พปชร. บางคนชนะเลือกตั้งมาได้ ก็เพราะอาศัยกระแสความนิยมของพล.อ.ประยุทธ์ อย่างตอนเลือกตั้งครั้งที่แล้ว พปชร.ชูสโลแกน เลือกความสงบจบที่ลุงตู่ นี่คือแนวความคิดของฝ่ายขวา ซึ่งคนฝ่ายนี้ยังมีอยู่มาก ดังนั้น ง่ายที่สุด คือถ้าพล.อ.ประยุทธ์ต้องเดินออกจาก พปชร. แล้วไปตั้งพรรคใหม่ จะมีโอกาสได้คัดเลือกตัวคนดีๆเข้ามาอยู่ด้วย   

สำหรับท่าทีของคนใน พปชร.ต่อเรื่องตำแหน่งนายกฯ ตอนนี้ยังไม่ชัดเจน และเขาก็สามารถตอบแบบนักกฎหมายได้ว่าถ้านายกฯอยู่ครบ 8 ปีก่อน แล้วใครสงสัยและจะยื่นศาลฯตีความก็ได้ เพราะเป็นการพูดตามเนื้อของกฎหมาย แต่ถ้าใน พปชร.มีคนที่ไม่เอาพล.อ.ประยุทธ์ เขาคงแค่เชียร์แต่คงไม่กล้าร่วมลงชื่อส่งเรื่องให้ศาลฯ เพราะถ้ากล้าทำ ก็เท่ากับแสดงตัวอยู่ตรงข้ามกับ พล.อ.ประยุทธ์

@ คิดว่าเจตนาอีกด้านของเรื่องนี้เป็นการหวังผลเร่งให้มีการยุบสภา ได้หรือไม่

เป็นไปได้ เพราะข้างนอกมีกระแสเรียกร้องให้พล.อ.ประยุทธ์ลาออก การเปิดประเด็นดังกล่าวขึ้นมาก็อาจเพิ่มอีกเหตุผลหนึ่งให้ถูกนำไปใช้วิพากษ์วิจารณ์หรือชุมนุมประท้วงขับไล่พล.อ.ประยุทธ์ได้