คาเมรอน ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และปัจจุบันมีฐานะเป็น ลอร์ดคาเมรอนแห่งชิปปิงนอร์ตัน ยืนยันความมุ่งมั่นของสหราชอาณาจักร ที่จะส่งเสริมความร่วมมือกับไทย ในประเด็นที่เป็นความสนใจร่วมกัน เช่น กลาโหม เสถียรภาพและความมั่นคงในภูมิภาค วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตลอดจนเศรษฐกิจและการค้า

ไทยถือเป็นหุ้นส่วนสำคัญทางด้านความมั่นคงของสหราชอาณาจักร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการส่งเสริมสันติภาพและความปรองดองในเมียนมา รวมทั้งการพิทักษ์กฎหมายระหว่างประเทศ และความมั่นคงในภูมิภาค ด้วยความที่การค้าโลกครึ่งหนึ่งต้องเดินทางผ่านภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก การทำงานร่วมกับไทยในประเด็นความมั่นคงทางทะเลจึงมีความสำคัญยิ่ง ในการทำให้สหราชอาณาจักรสามารถเข้าถึงสินค้าที่จำเป็น

ทั้งนี้ คาเมรอนกล่าวถึงการเยือนไทยครั้งนี้ ว่า “เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นภูมิภาคที่มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูง โดยไทยเป็นประเทศหนึ่งซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาค การร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคมี ส่วนช่วยสร้างการเจริญเติบโต และสร้างอาชีพให้เกิดขึ้นในสหราชอาณาจักร

ไทยเป็นหนึ่งในประเทศผู้ก่อตั้งสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) และเป็นประเทศที่มีอิทธิพลในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก เราจะร่วมมือกันต่อไป เพื่อรับมือกับความท้าทายระดับโลกที่เรามีร่วมกัน ทั้งผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การพัฒนาทางเทคโนโลยีในอัตราเร่งสูง และภัยคุกคามต่อระบบสาธารณสุขทั่วโลก”

สถานเอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทยให้ข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่า เจ้าหน้าที่การทูตสนับสนุนแคมเปญร่วมในการจัดซื้อจัดจ้างเครื่องบินกริปเพน ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสหราชอาณาจักร กับสวีเดน และสหรัฐ โดยมีบริษัทต่าง ๆ ทั่วสหราชอาณาจักรผลิตส่วนประกอบของอากาศยานเป็นสัดส่วนมากถึง 40% ซึ่งการจัดซื้อจัดจ้างนี้จะช่วยเสริมสร้างสมรรถนะให้กองทัพอากาศไทย และสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้กับสหราชอาณาจักรด้วย

เครื่องบินขับไล่กริปเพน ของกองทัพอากาศสหราชอาณาจักร

ขณะที่ย้อนกลับไปเมื่อช่วงปี 2563 สหราชอาณาจักรได้ส่งมอบวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ราว 500,000 โด๊ส ให้แก่ไทย ตั้งแต่นั้นมา นักวิจัยของสหราชอาณาจักรและไทยร่วมกันทำงานอย่างแข็งขัน เพื่อทำให้การกระจายวัคซีนคุณภาพสูงและราคาเข้าถึงได้ เป็นไปอย่างเป็นธรรมและทันท่วงที โดยดำเนินการผ่านศูนย์กลางการวิจัยและผลิตวัคซีนของสหราชอาณาจักร-เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ( UK-South East Asia Vaccine Manufacturing Research Hub )

ขณะเดียวกัน คาเมรอน เน้นย้ำความสำคัญของทุน International Science Partnership Fund ซึ่งมีมูลค่าทั่วโลกเป็นจำนวน 337 ล้านปอนด์ (ราว 15,450 ล้านบาท) เพื่อช่วยให้เกิดความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ระหว่างนักวิจัยและนวัตกรรมของสหราชอาณาจักรกับไทย เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาท้าทายต่าง ๆ ของโลกและส่งเสริมความมั่งคั่ง โดยโครงการหลัก ๆ ผ่านทุนดังกล่าว ประกอบด้วยการรับมือกับโรคที่มีอันตรายร้ายแรง การสร้างเครือข่ายความมั่นคงทางอาหาร และการพัฒนาระบบพลังงานสะอาด

หอนาฬิกาบิ๊กเบน และพระราชวังเวสต์มินสเตอร์ ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งของอาคารรัฐสภา ในกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร

นอกจากนี้ รัฐมนตรีต่างประเทศสหราชอาณาจักรประกาศเงินทุนสนับสนุน ผ่านโครงการ UK PACT ( UK Partnering for Accelerated Climate Transitions ) จำนวน 6 ล้านปอนด์สำหรับไทย ( ราว 275 ล้านบาท ) เพื่อกระตุ้นการเจริญเติบโตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะช่วยสนับสนุนภาคการคมนาคมที่ยั่งยืน การเงินสีเขียว และการกำหนดราคาคาร์บอนในไทย

อนึ่ง ในโอกาสการเยือนไทยครั้งนี้ คาเมรอนเป็นผู้ลงนามในแผนการ ว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์สหราชอาณาจักร-ไทย เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระดับทวิภาคี ครอบคลุมด้านกลาโหม สภาพภูมิอากาศและพลังงาน การค้าและการลงทุน เกษตรกรรม ดิจิทัลและเเทคโนโลยี สาธารณสุข และการศึกษา ก่อนที่ปี 2568 จะครบรอบ 170 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสหราชอาณาจักรกับไทย

การเยือนไทยของคาเมรอนเน้นย้ำและยิ่งสะท้อน “ความมุ่งมั่นอันแรงกล้า” ของสหราชอาณาจักร ในการ “กลับมาให้ความสำคัญ” กับภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก หลังพ้นจากการเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป ( อียู ) อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2564 ซึ่งสร้างประวัติศาสตร์เป็นประเทศแรกของอียูที่ลาออกจากการเป็นสมาชิก และเป็นความเคลื่อนไหวซึ่งยังคงสร้างแรงกระเพื่อม ให้กับแทบทุกมิติของภูมิศาสตร์การเมืองโลกจนถึงปัจจุบัน

ธงชาติ 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน ระหว่างการซ้อมรบทางทะเลร่วมกัน ที่อินโดนีเซีย เมื่อปี 2566

ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า อิทธิพลของสหราชอาณาจักรลดลงอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง อย่างไรก็ตาม การที่รัฐบาลสหราชอาณาจักรเป็นหนึ่งในประเทศร่วมก่อตั้งไฟฟ์ อายส์ เมื่อปี 2514 ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิก คือ สหรัฐ สหราชอาณาจักร แคนาดา ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ทำให้สหราชอาณาจักรยังคงมีสัญลักษณ์ทางทหารอยู่ในภูมิภาคแห่งนี้ กล่าวคือฐานทัพขนาดใหญ่ในสิงคโปร์และบรูไน

อย่างไรก็ดี โอกาสของสหราชอาณาจักรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เปิดกว้างมากขึ้นเป็นลำดับ เมื่อสหราชอาณาจักรลงนามร่วมกับอาเซียน เพื่อเข้าสู่การเป็นประเทศคู่เจรจารายใหม่ เมื่อปี 2564

โอกาสได้เข้าสู่ทำเนียบการเป็นประเทศคู่เจรจาลำดับล่าสุดของอาเซียน เปิดทางให้สหราชอาณาจักรได้มีที่นั่งในหนึ่งในเวทีการประชุมระหว่างประเทศทั้งในด้านเศรษฐกิจและความมั่นคง ซึ่งมีความสำคัญที่สุด นั่นคือการประชุมสุดยอดอาเซียน ยิ่งไปกว่านั้น การไม่ได้เป็นหนึ่งในสมาชิกของอียูแล้ว จะทำให้สหราชอาณาจักรสามารถแสวงหาโอกาสเพิ่มการแสดงบทบาทบนเวทีแห่งนี้ได้สะดวก และเสรีมากขึ้นด้วย

ความพยายามรุกคืบเข้าสู่ภูมิภาคแห่งนี้ของสหราชอาณาจักร ที่แน่นอนว่าต้องเป็น “การฉายเดี่ยว” ย่อมต้องเผชิญกับการจับตา และการแข่งขันจากบรรดามหาอำนาจในภูมิภาคแห่งนี้ด้วย.

ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป

เครดิตภาพ : AFP