โดยนโยบายเรื่องนี้มีเป้าหมายเป็นกลุ่มผู้หญิงไทยที่ถือสิทธิบัตรทอง ช่วงอายุ 30–40 ปี ที่มีคู่สมรสแล้วและจดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย ประกอบกับเป็นผู้ที่เกิดภาวะมีบุตรยากและต้องการมีบุตร โดยการให้บริการในระบบ จะมีตั้งแต่การให้คำปรึกษา การให้ยากระตุ้นไข่ ไปจนถึงการ “ทำเด็กหลอดแก้ว” ซึ่งนี่ก็ถือเป็นอีกหนึ่ง “นโยบายก้าวหน้าด้านสังคม” ในเวลานี้…

ในยุค “ไทยต้องเผชิญความท้าทาย”

กรณี “อัตราเกิดของประชากรลดลง”

ที่ต่อไป “จะกระทบไทยในหลายมิติ”

เกี่ยวกับปัญหาเรื่องนี้นั้น ยิ่งพลิกดู “มุมสถิติ” ก็ยิ่งพบประเด็น “น่าตกใจ” โดยมีรายงานสถานการณ์เด็กเกิดใหม่ในประเทศไทย ที่พบว่า… ปี 2565 มีเด็กเกิดใหม่แค่ 485,085 คน ซึ่งเทียบกับช่วงระหว่างปี 2506-2526 แล้ว ช่วงเวลานั้นไทยมีเด็กเกิดใหม่ไม่ต่ำกว่าปีละ 1,000,000 คน โดยสถิตินี้บ่งชี้ว่า… ไทยมีเด็กเกิดใหม่ลดลงต่อเนื่อง!! อีกทั้งผลสำรวจภาวะมีบุตรยากของครอบครัวไทยในช่วงปี 2562-2566 ก็พบว่า… ไทยมีผู้ที่มีภาวะการมีบุตรยากเฉลี่ยอยูที่ 3,000-3,500 คนต่อปี และจากสถานการณ์กับปัญหาที่เกิดขึ้นเหล่านี้จึงเป็นสาเหตุให้ไทยต้องหาแนวทางแก้ปัญหา…จนเกิด “วาระแห่งชาติ”…

จนเกิด “แผนการส่งเสริมการมีบุตร”

ทั้งนี้ การจะแก้ปัญหานี้ นอกจากสนับสนุนด้านสาธารณสุข ด้านบริการทางการแพทย์ เพื่อ “จูงใจให้คนไทยมีลูก” แล้ว… “มาตรการด้านที่จำเป็นและสำคัญ” ก็คือ “มาตรการด้านเศรษฐกิจ” โดยกรณีนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูลเน้นย้ำไว้ โดยเป็นข้อมูล “มุมวิชาการ” ที่ได้วิเคราะห์เกี่ยวกับ “การแก้ไขปัญหาอัตราเกิดต่ำ” ผ่านบทความที่มีชื่อว่า “นโยบายส่งเสริมการมีลูกคนที่สอง…สาม…สี่” โดย รศ.ดร.มนสิการ กาญจนะจิตรา นักวิชาการ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ที่มีการเผยแพร่อยู่ใน www.theprachakorn.com ซึ่งได้นำ “กรณีศึกษาต่างประเทศ” …

มาใช้เพื่อ “เป็นกรณีศึกษาของไทย”

รศ.ดร.มนสิการ ได้ให้ข้อมูลไว้เกี่ยวกับ “นโยบายส่งเสริมการมีบุตรในต่างประเทศ” ซึ่งเป็นการสะท้อน “มุมมองที่ยึดโยงประเทศไทย” โดยได้ระบุไว้ว่า… “นโยบายส่งเสริมการเกิดที่มีคุณภาพ” ไม่ควรมุ่งเน้นไปยังคู่สมรสที่ยังไม่มีบุตรเท่านั้น แต่ ควรให้ความสำคัญกับการมีบุตรคนต่อไปด้วย เช่น… “กรณีศึกษาสิงคโปร์” ซึ่งก็เคยประสบปัญหาการเกิดน้อยมายาวนาน โดยสิงคโปร์เป็นประเทศที่มีนโยบายส่งเสริมการเกิดที่หลากหลายประเทศหนึ่ง และหนึ่งในนโยบายที่น่าสนใจก็คือ… นโยบาย “เบบี้โบนัส (Baby bonus)” ของเด็กแรกเกิด เพื่อที่จะจูงใจให้ประชากรอยากมีลูก-อยากมีทายาทเพิ่มอีก

ทางนักวิชาการด้านประชากรศาสตร์ยังได้อธิบายนโยบาย “เบบี้โบนัส” ของสิงคโปร์ไว้ว่า… รัฐบาลสิงคโปร์จะมีการให้โบนัสสำหรับเด็กแรกเกิด “เป็นลักษณะแบบขั้นบันได” นั่นคือ… พ่อ-แม่จะได้รับเงินจำนวน 8,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ หรือเกือบ ๆ 200,000 บาท สำหรับการมีบุตรคนแรก และจะได้รับอีก 10,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ หรือเกือบ ๆ 250,000 บาท สำหรับการมีบุตรคนที่ 2 อีกทั้งยังจะได้รับอีก 10,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ สำหรับการมีบุตรคนที่ 3 และนอกจากนั้นยังมี นโยบาย “ลาคลอดแบบยังได้รับค่าจ้าง” ที่เป็นอีกมาตรการที่ใช้กระตุ้นให้คนสิงคโปร์อยากมีลูก ที่ไม่ได้โฟกัสแค่ “จูงใจให้มีลูก” เท่านั้น…

แต่รวมถึงกรณี “อยากมีลูกเพิ่ม” ด้วย

ขณะที่อีกกรณีศึกษาคือ “กรณีศึกษาสาธารณรัฐเช็ก” ที่ก็พยายามแก้ปัญหาเรื่องนี้เช่นกัน ซึ่งหนึ่งในนโยบายคือ… นโยบาย “ลาคลอดแบบยืดหยุ่น” ที่เปิดโอกาสให้คุณแม่ทุกคน เลือก “รับเงินรายเดือน” ในระยะเวลาต่าง ๆ ได้ อาทิ… รับเงินรายเดือนในอัตราร้อยละ 50 ของรายได้ เป็นระยะเวลา 2 ปี หรือรับเงินรายเดือนในอัตราร้อยละ 33 ของรายได้ เป็นระยะเวลา 3 ปี หรือรับเงินรายเดือนในอัตราร้อยละ 33 ของรายได้ นับตั้งแต่คลอดบุตรจนถึงเดือนที่ 21 รับเงินรายเดือนอัตราร้อยละ 17 ของรายได้ ตั้งแต่เดือนที่ 21 ถึงปีที่ 4 หลังคลอดบุตร …ซึ่งนโยบายนี้ก็ไม่ได้มุ่งเพียงเพิ่มการเกิดโดยตรง แต่ยัง…

“กระตุ้นให้มีลูกคนที่ 2 เร็วขึ้น” ด้วย

…นี่เป็น “กรณีศึกษาต่างประเทศ” ที่นักวิชาการ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม สะท้อนไว้…ทั้งนี้ ขณะนี้ก็ถือว่า “ไทยมีความพยายามที่จะแก้ปัญหาอัตราเกิดต่ำ” โดยการ “ส่งเสริมการมีบุตรผ่านทางการสนับสนุนระบบบริการทางการแพทย์” ซึ่งก็ถือเป็นอีกแนวทางล่าสุดเพื่อบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากปัญหานี้ และก็ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีแน่นอน

อย่างไรก็ตาม “การสร้างแรงจูงใจให้คนไทยอยากมีลูก” นั้น กรณีนี้ ไทยต้องมีมาตรการใหม่ ๆ ออกมาเรื่อย ๆ โดยเฉพาะ “มาตรการที่เพิ่มแรงจูงใจ” ให้คนไทย อย่างเช่น… การเพิ่มเงินอุดหนุนมากขึ้นแก่ครอบครัวที่มีลูก, การลาคลอดที่ยืดหยุ่น หรือการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศในครอบครัว เป็นต้น …และ “กรณีศึกษาต่างประเทศ” ก็น่าลองพิจารณา…

“ส่งเสริมมีลูก” จะ “เป็นวาระแห่งชาติ”

“น่ารอดู” ว่าจะ “มีไม้เด็ดอะไรอีก??”

ที่จะ “ล้างภาพ…มีลูกยิ่งยากจน??”.