จากที่เคยถูกมองว่าเป็นจุดหมายปลายทางที่มีต้นทุนต่ำ ในการผลิตเสื้อผ้า รองเท้า และเฟอร์นิเจอร์ ปัจจุบันเวียดนามกำลังจับตามองการไต่ระดับอย่างรวดเร็วในห่วงโซ่อุปทานโลก และนำชิปคอมพิวเตอร์มาเป็นหัวใจสำคัญของแผนการพัฒนา

แม้เป้าหมายดังกล่าวมีความเหมาะสมกับประเทศต่าง ๆ เช่น สหรัฐ ซึ่งมีความกังวลเกี่ยวกับความตึงเครียดทางเศรษฐกิจกับรัฐบาลปักกิ่ง แต่เวียดนามมีอุปสรรคใหญ่ที่ต้องก้าวข้ามให้ได้ ซึ่งส่วนใหญ่คือ การขาดแคลนวิศวกรที่มีทักษะสูง

“ชิปกำลังดึงดูดความสนใจอย่างมาก ทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน เมื่อก่อนฉันเคยใฝ่ฝันที่จะทำงานเป็นนักออกแบบชิป แต่ในตอนนี้ ฉันอยากเป็นศาสตราจารย์ เพราะฉันคิดว่า ประเทศของเราต้องการครูมากกว่านี้ เพื่อสร้างแรงงานที่ดีขึ้น” ลินห์ วัย 21 ปี กล่าว

ตามข้อมูลของบริษัทวิจัยตลาด “เทคนาวิโอ” ตลาดเซมิคอนดักเตอร์ของเวียดนาม ซึ่งถูกใช้ในทุกสิ่ง ตั้งแต่สมาร์ตโฟน ไปจนถึงดาวเทียม และการขับเคลื่อนเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) คาดว่าจะเติบโต 6.5% ต่อปี และมีมูลค่าสูงถึง 7,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 255,000 ล้านบาท) ภายในปี 2571

ท่ามกลางกระแสฮือฮาที่เพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมชิปเกิดใหม่ของเวียดนาม รัฐบาลคอมมิวนิสต์ระบุว่า จำนวนวิศวกรเซมิคอนดักเตอร์ของประเทศในปัจจุบัน ซึ่งมีอยู่ประมาณ 5,000 คน ต้องเพิ่มเป็น 20,000 ในอีก 5 ปีข้างหน้า และเป็น 50,000 คน ในอีก 10 ปีหลังจากนี้

นายเหวียน ดึ๊ก มินห์ บรรยายให้กับเหล่านักศึกษา ที่มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฮานอย ในกรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม

อย่างไรก็ตาม นายเหวียน ดึ๊ก มินห์ ศาสตราจารย์ด้านการออกแบบวงจรรวม (ไอซี) กล่าวว่า ขณะนี้เวียดนามผลิตวิศวกรที่มีคุณสมบัติได้เพียง 500 คนต่อปี ซึ่งไม่เพียงพอที่จะบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ และเขาคิดว่า มันเป็นตัวเลขที่ท้าทายอย่างมาก

แม้นักศึกษาอิเล็กทรอนิกส์หลายคนรู้อยู่แล้วว่า พวกเขาต้องการมีบทบาทอะไรสาขาเซมิคอนดักเตอร์ แต่นักวิชาการบางคนกล่าวว่า เส้นทางที่บรรดาผู้นำของเวียดนามต้องการนั้น “ยากที่จะเข้าใจ” เนื่องจากมันไม่มีความชัดเจนว่า รัฐบาลต้องการมีสุดยอดบริษัทด้านเซมิคอนดักเตอร์ประจำชาติ ซึ่งต้องใช้เงินทุนและการลงทุนจำนวนมาก หรือพวกเขาแค่ต้องการดึงดูดการลงทุนในธุรกิจเซมิคอนดักเตอร์ในเวียดนามมากขึ้น

อนึ่ง มหาวิทยาลัยหลายแห่งในเวียดนาม เปิดหลักสูตรเพิ่มเติมในปีการศึกษานี้ ซึ่งมุ่งเน้นไปที่เซมิคอนดักเตอร์ และการออกแบบชิป แต่อาจารย์หลายคนกล่าวว่า สิ่งที่สำคัญกว่านั้น คือ เวียดนามจำเป็นต้องลงทุนในการฝึกอบรมที่มีคุณภาพ ซึ่งช่วยให้นักศึกษาได้รับทักษะภาคปฏิบัติ ตามที่บริษัทชั้นนำของโลกต้องการ

ทั้งนี้ทั้งนั้น นักวิเคราะห์บางคนกล่าวว่า เวียดนามมี “ความเสี่ยง” ที่จะเสียนักศึกษาจบใหม่ระดับแนวหน้า ให้กับประเทศผลิตชิปชั้นนำของโลก เนื่องจากเงินเดือนในเวียดนามค่อนข้างต่ำ แม้ว่าบุคคลนั้นจะเป็นผู้ที่มีทักษะสูงมากก็ตาม.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : AFP