นับตั้งแต่ปี 2552 เกาหลีเหนืออยู่ภายใต้กลไกการสังเกตการณ์ ซึ่งคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ( ยูเอ็นเอสซี ) จัดตั้งขึ้นเป็นกรณีพิเศษ เพื่อตรวจสอบรัฐบาลเปียงยาง ที่เผชิญกับมาตรการคว่ำบาตรของยูเอ็นเอสซี เพื่อกดดันให้ยุติโครงการพัฒนาอาวุธและโครงการด้านอาวุธนิวเคลียร์ทั้งหมด ซึ่งเกาหลีเหนือดำเนินการตั้งแต่ปี 2549 โดยกลไกตรวจสอบที่เกิดขึ้น มีการสังเกตการณ์ ติดตาม และวิเคราะห์อย่างต่อเนื่อง โดยคณะผู้เชี่ยวชาญ

การปฏิบัติหน้าที่ของคณะทำงานมีการต่อเวลาทุก 1 ปี ตามมติของยูเอ็นเอสซี ขณะเดียวกัน ยูเอ็นเอสซียกระดับมาตรการกดดันเกาหลีเหนือระหว่างปี 2559-2560 อย่างไรก็ตาม รัสเซียและจีนเริ่มโน้มน้าวที่ประชุม ตั้งแต่ปี 2562 ให้ผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรเกาหลีเหนือ

จนกระทั่ง ยูเอ็นเอสซีประชุมครั้งล่าสุดเกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อปลายเดือนมี.ค. ที่ผ่านมา เพื่อหารือเกี่ยวกับการขยายวาระการปฏิบัติงานให้กับคณะผู้สังเกตการณ์ แม้ที่ประชุมมีมติเสียงข้างมาก 13 เสียง สนับสนุนการขยายวาระการปฏิบัติหน้าที่ของคณะผู้เชี่ยวชาญ ออกไปอีกอย่างน้อย 1 ปี

อย่างไรก็ตาม จีนซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกถาวร งดออกเสียง แต่การที่รัสเซียซึ่งเป็นสมาชิกถาวรเช่นกัน ใช้อำนาจวีโต้ เท่ากับเป็นการปัดตกมติไปโดยปริยาย และหมายความว่า คณะทำงานสังเกตการณ์การคว่ำบาตรเกาหลีเหนือ จะสิ้นสุดวาระการปฏิบัติงาน ในวันที่ 30 เม.ย. ที่จะถึง

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา รัสเซียสนับสนุนกระบวนการทำงานของคณะผู้เชี่ยวชาญชุดดังกล่าวมาตลอด และเคยให้ความเห็นว่า โครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ “เป็นภัยคุกคาม” ต่อความมั่นคงระหว่างประเทศ

ชิ้นส่วนขีปนาวุธที่กองทัพรัสเซียยิงโจมตีเมืองคาร์คิฟ ทางตะวันออกของยูเครน เมื่อเดือนม.ค. 2567 ซึ่งผลการตรวจสอบบ่งชี้ว่า เป็นขีปนาวุธที่ผลิตในเกาหลีเหนือ

อนึ่ง คณะผู้เชี่ยวชาญเพิ่งประกาศเมื่อไม่นานมานี้ ว่ากำลังตรวจสอบข้อมูลจากแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้หลายแห่ง ซึ่งระบุว่า รัสเซียมอบความช่วยเหลือเป็นอาหารและเชื้อเพลิง ตลอดจนสิ่งของจำเป็นอีกหลายอย่าง ให้แก่เกาหลีเหนือ เพื่อแลกเปลี่ยนกับการที่รัฐบาลเปียงยางมอบความสนับสนุนด้านอาวุธ ให้แก่กองทัพรัสเซียในการทำสงครามกับยูเครน โดยเฉพาะกระสุนปืนใหญ่และขีปนาวุธ

นอกจากนี้ ยังปรากฏภาพถ่ายดาวเทียม บ่งชี้การขนถ่ายน้ำมันระหว่างเรือบรรทุกสินค้าของเกาหลีเหนือกับรัสเซีย ยิ่งสะท้อนว่า สงครามในยูเครนที่ยืดเยื้อมานานกว่า 2 ปี กลายเป็น “ขุมทรัพย์ทำเงิน” สำหรับเกาหลีเหนือไปโดยปริยาย

กระทรวงการต่างประเทศเกาหลีใต้วิจารณ์ การใช้อำนาจวีโต้ของรัสเซียในเรื่องนี้อย่างหนัก ว่ารัฐบาลมอสโกซึ่งหนึ่งในสมาชิกถาวรของยูเอ็นเอสซี ตัดสินใจโดยปราศจากความรับผิดชอบอย่างสิ้นเชิง ด้านนายฮวาง จุน-กุก เอกอัครราชทูตเกาหลีใต้ประจำสหประชาชาติ กล่าวว่า เป็นการใช้สิทธิอย่างไม่มีเหตุผล และเป็นการตั้งตัวเองเป็นศูนย์กลาง เพื่อรักษาผลประโยชน์ของตัวเอง “จากการเจรจาที่ไม่สุจริต” และเป็นการโอบอุ้ม อีกทั้งสนับสนุนให้เกาหลีเหนือเดินหน้าทำสิ่งที่ผิดกฎหมายต่อไป

ห้องประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ( ยูเอ็นเอสซี ) ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

แม้คณะผู้สังเกตการณ์ของยูเอ็นไม่มีอำนาจสั่งการอย่างเจาะจง กับสมาชิกยูเอ็นประเทศหนึ่งประเทศใด แต่การที่ผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้กำลังจะต้องยุติการปฏิบัติหน้าที่ จากการใช้อำนาจคัดค้านของเพียงประเทศเดียว เป็นสัญญาณเตือนล่าสุด ว่าความพยายามของนานาประเทศ ในการป้องปรามการแพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ “กำลังเผชิญกับอุปสรรค” เนื่องจากท่าทีของชาติมหาอำนาจที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะรัสเซียกับจีน

กระนั้น รัฐบาลมอสโกไม่ได้มองว่า การปิดฉากคณะทำงานสังเกตการณ์ในเรื่องนี้ “เป็นความผิดพลาด” น.ส.มาเรีย ซาคาโรวา โฆษกกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย กล่าวว่า มาตรการจำกัดของนานาชาติที่มีต่อเกาหลีเหลือตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ไม่ได้ช่วยยกระดับสถานการณ์ความมั่นคงในภูมิภาค ในทางกลับกัน กลไกการตรวจสอบที่ดำเนินอยู่ กลับส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่น ในการเจรจาตามหลักการทูต และนายดมิทรี เปสคอฟ โฆษกทำเนียบเครมลิน กล่าวว่า การวีโต้ของรัฐบาลมอสโก “สอดคล้องกับผลประโยชน์ของรัสเซีย”

ปัจจุบัน รัสเซียถือเป็นหนึ่งในพันธมิตรเก่าแก่ที่สุดของรัฐบาลเปียงยาง และเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนเพียงไม่กี่ประเทศของเกาหลีเหนือ โดยความสัมพันธ์ระดับทวิภาคี สามารถย้อนหลังไปจนถึงการสถาปนาเกาหลีเหนือ เมื่อนานกว่า 7 ทศวรรษที่แล้ว

แม้รัสเซียหรืออดีตสหภาพโซเวียต เคยลดการมอบความสนับสนุนหลายด้านให้แก่เกาหลีเหนือลงไปบ้าง เนื่องจากมีการสถาปนาความสัมพันธ์กับเกาหลีใต้ เมื่อปี 2533 และรัฐบาลเปียงยางได้รับผลกระทบด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จากการล่มสลายของสหภาพโซเวียต เมื่อปี 2534

เกาหลีเหนือทดสอบอาวุธนิวเคลียร์เป็นครั้งแรก เมื่อปี 2549 จนถึงปัจจุบันยังไม่มีฝ่ายใดสามารถยืนยันได้อย่างชัดเจน เกี่ยวกับจำนวนอาวุธนิวเคลียร์ที่เกาหลีเหนือครอบครอง โดยมีการประเมินไว้อย่างคร่าว ระหว่าง 40-100 ลูก

อย่างไรก็ตาม ความวิตกกังวลของทุกฝ่ายเกี่ยวกับการครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ ไม่ได้อยู่ที่จำนวน แต่อยู่ที่ “เจตนาในการใช้งาน” ท่ามกลางบรรยากาศบนคาบสมุทรเกาหลีในปัจจุบัน ซึ่งตึงเครียดที่สุด นับตั้งแต่สมัยสงครามเกาหลี โดยรัฐบาลเปียงยางประกาศอย่างชัดเจนเมื่อปี 2565 ว่าสถานะการเป็นรัฐนิวเคลียร์ของประเทศนั้น “ต่อรองไม่ได้อย่างเด็ดขาด”

ทั้งนี้ คณะทำงานนำเสนอรายงานฉบับสุดท้ายออกมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ครอบคลุมช่วงเวลาระหว่างวันที่ 29 ก.ค. 2566 ถึง 26 ม.ค. 2567 มีเนื้อหาโดยสรุป ว่าเกาหลีเหนือละเมิดมาตรการคว่ำบาตรของยูเอ็นเอสซีอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลเปียงยางยังคงพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ และผลิตวัสดุฟิสไซล์ แม้การทดสอบนิวเคลียร์ “อย่างเป็นทางการครั้งล่าสุด” เกิดขึ้นเมื่อปี 2560 และเกาหลีเหนือทดสอบขีปนาวุธนำวิถีอย่างน้อย 7 ครั้ง ตลอดปีที่ผ่านมา

นอกจากนั้น รายงานยังระบุเกี่ยวกับ ความพยายามของรัสเซีย ในการหลบเลี่ยงกลไกการคว่ำบาตร บ่อยครั้งขึ้นในรอบปีที่ผ่านมาด้วย

รัสเซียและเกาหลีเหนือมีความใกล้ชิดกันมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด นับตั้งแต่รัฐบาลมอสโกเผชิญกับแรงกดดันอย่างหนักจากฝ่ายตะวันตก ซึ่งรวมตัวกันคว่ำบาตรรัสเซีย จากการทำสงครามในยูเครนที่ยืดเยื้อมานานกว่า 2 ปีแล้ว

นายคิม จอง-อึน ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือ พบหารือกับประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ที่เมืองวลาดิวอสตอค ก.ย. 2566

การที่นายคิม จอง-อึน ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือ เดินทางมายังรัสเซีย เมื่อเดือนก.ย. ปีที่แล้ว เพื่อพบหารือกับประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน แล้วทั้งสองฝ่ายตกลง “ยกระดับความร่วมมือในทุกมิติ” โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับความร่วมมือทางทหาร ตีดความได้ว่า รัฐบาลมอสโกกำลังอาศัยเกาหลีเหนือ เป็นเครื่องมือในการงัดข้อกับฝ่ายตะวันตก และรายงานบางกระแสที่กล่าวว่า รัสเซียผลิตอาวุธได้ไม่ทันใช้งานในสงครามยูเครน และจำเป็นต้องหาอาวุธเพิ่มเติมแบบเร่งด่วน “มีมูลไม่มากก็น้อย”

ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับการใช้มาตรการคว่ำบาตรต่อเกาหลีเหนือ สืบเนื่องจากการใช้วีโต้ของรัสเซียในครั้งนี้ อาจยังไม่เป็นที่ประจักษ์ในระยะเวลาอันใกล้นี้ แต่ชัดเจนที่สุด คือเป็นการแสดงจุดยืนสนับสนุนเกาหลีเหนือ ชัดเจนมากที่สุดครั้งหนึ่งของรัสเซีย หลังก่อนหน้านั้นมีจีนออกมาตัวมากที่สุดฝ่ายเดียวมานาน ส่วนในระยะยาว เป็นเรื่องที่นานาประเทศ โดยเฉพาะเกาหลีใต้และสหรัฐ ต้องขบคิดอย่างละเอียด เพื่อจัดทำกลยุทธ์รับมือกับ “สถานการณ์ทุกรูปแบบ” ที่อาจเกิดขึ้น.

ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป

เครดิตภาพ : AFP