นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ได้แสดงวิสัยทัศน์ประเทศไทย “IGNITE THAILAND : จุดพลัง รวมใจ ไทยต้องเป็นหนึ่ง” เมื่อวันที่ 22 ก.พ.67 โดยรัฐบาลตั้งเป้าประเทศไทยจะก้าวไปเป็นที่ 1 ของภูมิภาค ด้วยข้อได้เปรียบของประเทศทั้งด้านทรัพยากรธรรมชาติ สถานที่ท่องเที่ยว สภาพภูมิอากาศที่อบอุ่นตลอดปี โครงสร้างที่พร้อมต่อยอด และที่สำคัญคือศักยภาพของคนไทยด้วยวิสัยทัศน์ทั้งหมด 8 ด้าน (8 Hub) ประกอบด้วย

1.ศูนย์กลางเมืองท่องเที่ยว (Tourism Hub) 2.ศูนย์กลางด้านการแพทย์และสุขภาพ (Wellness & Medical Hub) 3.ศูนย์กลางอาหาร (Agriculture & Food Hub) 4.ศูนย์กลางการบิน (Aviation Hub) 5. ศูนย์กลางขนส่งของภูมิภาค (Logistic Hub) 6.ศูนย์กลางผลิตยานยนต์แห่งอนาคต (Future Mobility Hub) 7.ศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy Hub) 8.ศูนย์กลางทางการเงิน (Financial Hub)

ทีมข่าว Special Report มีโอกาสสนทนากับ นายกฯเศรษฐา แบบ Exclusive ในหลายประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ 8 Hub และยุทธศาสตร์การบริหารประเทศต่อจากนี้

Special Report : ความเคลื่อนไหว และความคืบหน้าเกี่ยวกับ 8 Hub

นายกฯเศรษฐา : ต้องบอกก่อนว่ายุทธศาสตร์ของรัฐบาลในช่วงครึ่งปีหลัง 2567 เราจะเน้นการทำงานไปในเรื่องของปัญหาทางสังคม การศึกษา ผู้ด้อยโอกาส ความเท่าเทียมกัน และยาเสพติด เป็นต้น ซึ่งถ้าทำจริงๆ มันมีรายละเอียดมาก และเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน หลายกระทรวงที่จะต้องบูรณาการกันทำงาน

ส่วนเรื่อง 8 Hub ไม่ต้องห่วงเลย! เพราะรัฐบาลลงมือทำมาก่อนที่ตนจะแสดงวิสัยทัศน์เมื่อวันที่ 22 ก.พ.67 ด้วยซ้ำไป โดยหน่วยงานและกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกำลังดำเนินการกันอยู่ รวมทั้งตนเข้ามาทำงาน 6 เดือนกว่าๆ เดินทางไปแล้ว 14 ประเทศ เพื่อพบปะผู้นำประเทศ และเจรจากับนักลงทุนรายใหญ่เพื่อขับเคลื่อน 8 Hub ให้บรรลุตามเป้าหมาย

ไม่ว่าจะเรื่องการท่องเที่ยว เราเริ่มมาตั้งแต่ตั้งรัฐบาลใหม่ๆ เพราะการท่องเที่ยวต้องเชื่อมกับหลายหน่วยงาน ทั้งกระทรวงการต่างประเทศ เรื่องวีซ่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่องตม. เรื่องของมหาดไทยปัญหาไกด์เถื่อน เรื่องของสนามบินเกี่ยวข้องกับกระทรวงคมนาคม ต้องพร้อมทั้งสนามบินหลัก และสนามบินในเมืองรอง บางสนามบินไม่เปิดไฟ ถ้าจะทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว ศูนย์กลางการขนส่งของภูมิภาค ยังมีเรื่องให้ทำอีกเยอะมาก

Special Report : จะเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว-ศูนย์กลางการขนส่งของภูมิภาค แต่เครื่องบินไม่พอ!

นายกฯเศรษฐา : ครับ! หลายสายการบินกำลังประสบปัญหานี้อยู่ ลามไปถึงปัญหาค่าตั๋วแพง โดยเฉพาะช่วงเทศกาลเพราะคนแย่งกันซื้อตั๋ว รวมทั้งกรณี “การบินไทย” คนยังเข้าใจผิด ด่ารัฐบาลตลอดเวลา เพราะคิดว่าการบินไทยเป็นของรัฐบาล ซึ่งตอนนี้ไม่ใช่ กระทรวงการคลังเคยถือหุ้นใหญ่แต่ล่มจมไป เพราะมีปัญหาในการดำเนินธุรกิจ จนต้องเข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการ

ปัจจุบันการบินไทยไปอยู่กับผู้บริหารแผนฟื้นฟูฯ 3-4 คน ซึ่งกำลังซื่อเครื่องบินกันมโหฬาร ไม่ต้องพูดต่อว่าเป็นอย่างไร เนื่องจากกระทรวงคมนาคม และรัฐบาลไม่ได้มีอำนาจตรงนั้น เอาเป็นว่าตอนนี้ทั่วโลกมีการสั่งจองเครื่องบินของโบอิ้งกว่า 4,000 ลำ เฉพาะแอร์อินเดียปาเข้าไป 400 ลำ

แต่เราไม่ได้เน้นจำนวนนักท่องเที่ยวอย่างเดียว แต่อยากให้เขามาแล้วอยู่กับเรานานๆ เช่น คนมาเลเซียมาท่องเที่ยวหาดใหญ่ 3 วันแล้วกลับ ซึ่งไม่ใช่! เพราะเราอยากให้เขาไปเที่ยวต่อที่ จ.ยะลา-ปัตตานี หรือข้ามไปเกาะสมุยด้วย

Special Report : แนวโน้มปีนี้นักท่องเที่ยวต่างชาติน่าจะแตะ 40 ล้านคน

นายกฯเศรษฐา : ผมมั่นใจอย่างนั้น เพราะไตรมาสแรก (ม.ค.-มี.ค.) 9.4 ล้านคนแล้ว แต่ไตรมาส 2-3 หลังสงกรานต์ตัวเลขอาจจะตก! แต่ไตรมาสที่ 4 นักท่องเที่ยวจะทะลักเลย โดยเฉพาะที่ จ.เชียงใหม่ ผมให้โจทย์ไปว่าต้องมีอีเวนต์ทุกสุดสัปดาห์ ไม่ใช่อีเวนต์ Local แต่เป็นอีเวนต์ National หรือ International ไม่ว่าจะงานเวิลด์ฟู้ด-ฮาโลวีน-ลอยกระทง เทศกาลกาแฟ-โกโก้ งานดอกไม้ เครื่องเขิน ทำร่ม เทศกาลดนตรี ศิลปะ สายมู เอาหมด! จัดให้ยิ่งใหญ่ การแข่งขันคนรุ่นใหม่ชิงทุนสตาร์ทอัพ 30 ทุนๆละ 10 ล้านบาท เพื่อให้คนรุ่นใหม่มากันเยอะๆ แล้วดึงภาคเอกชนรายใหญ่เข้ามาเป็นสปอนด์เซอร์

รวมทั้งการแข่งรถ Formula E ที่เชียงใหม่ เร็วสุดอาจจะปลายเดือนม.ค.68 ช้าสุดภายในปี 68 แต่ไม่รู้ตอนไหน แต่อยากให้มาเร็วๆ ในช่วงหน้าหนาว ก่อนเดือนก.พ.68

นอกจากนี้ ผมไปเจรจาว่าอยากให้การแข่งรถ Formula 1 มาจัดที่เมืองไทย ทราบว่าตอนนี้เขามีแผนอยู่ และสนใจจัดแถวๆ ถนนราชดำเนิน-รอบเกาะรัตนโกสินทร์ โดยปี 2027 มีอยู่ 2 ประเทศที่จะแข่งกันเป็นสนาม Formula 1 คือไทยและเกาหลีใต้

Formula 1 ไม่ทำสัญญากับเอกชน เพราะเขาถูกเบี้ยวมาหลายที่ จึงต้องทำสัญญากับรัฐบาลเท่านั้น โดย 1 สนาม ใช้เงินประมาณ 200 ล้านเหรียญฯ (7พันล้านบาท) ทำสัญญากัน 3-5 ปี รัฐบาลอาจจะเข้าเนื้อปีละประมาณพันล้านบาท ส่วนตัวคิดว่าคุ้มอยู่แล้ว ถ้ารัฐบาลลงไปดูรายละเอียดทั้งหมด ถ้าใส่เงินลงไป 100 บาท อย่างน้อยต้องได้กลับคืนมา 120 บาท ธุรกิจโรงแรม-ร้านอาหารจะได้ประโยชน์ตรงนี้มาก ถือเป็นการประชาสัมพันธ์ประเทศไทยไปด้วย ค่าลิขสิทธิ์ซึ่งเป็นเงินกินเปล่าอีก 50-100 ล้านเหรียญฯ (แล้วแต่ละประเทศ) เร็วๆ นี้เขาจะเข้ามาศึกษาความเป็นไปได้ในประเทศไทยอย่างครบวงจร ตั้งแต่การหาสปอนเซอร์-การขายตั๋ว แล้วเสนอ Proposal มาให้รัฐบาลดู

Special Report : ข้อเท็จจริงเรื่องเทศกาลดนตรี “Tomorrowland”

นายกฯเศรษฐา : เอาจริงๆ เลยนะ เรื่อง Tomorrowland ผมไม่เคยไปโม้ที่ไหน ส่วนใครจะออกมาพูด หรือปล่อยข่าวอย่างไรก็เป็นเรื่องของเขา แต่ผมทราบมาโดยตลอดว่าเรื่องนี้เอกชนเขาดีลกัน เอกชนจ่ายหมดทุกอย่าง ผมไม่เกี่ยว รัฐบาลไม่เกี่ยว แต่ถ้าได้อีเวนต์นี้เข้ามา ผมยินดีมาก โดยปัจจุบันยังเลือกสถานที่ว่าจะไปจัดตรงไหน ระหว่างภูเก็ต-พัทยา

เขาเซ็น “เอ็มโอยู” กันไปแล้ว 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ยังต้องมีรายละเอียดแนบท้าย ซึ่งยังไม่เสร็จ! ถึงอย่างไร Tomorrowland ก็ต้องมา มาแน่นอน! แต่ไปจัดจังหวัดไหนยังไม่รู้ ส่วนผมที่ไหนก็ได้ ผมไม่สน มาลงทุนจัดงานที่ไหนก็ได้ ผมแฮปปี้ทั้งนั้น เพราะเขาทำสัญญากันยาว 10ปี แต่ถ้าไม่มา ผมไม่ได้เสียหายอะไร เนื่องจากเป็นเรื่องของเอกชนเขาดีลกัน

Special Report : โครงการ “แลนด์บริดจ์” จะทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางขนส่งของภูมิภาค

นายกฯเศรษฐา : คนหาว่าเราจะไปแข่งขันกับสิงค์โปร์ มันไม่ใช่อย่างนั้นหรอก! แต่ให้นึกถึงช่องแคบมะละกา ผมนั่งเครื่องบินก่อนเข้าสิงคโปร์ชอบมองลงไป เห็นเรือขนส่งสินค้ารอเข้าช่องแคบนี้แน่นมาก และเกิดอุบัติเหตุบ่อยๆ ปัจจุบันเทนด์ของกำแพงภาษีทั่วโลกลดลง แสดงว่าการไหลเวียนสินค้าจะเยอะขึ้นอย่างมโหฬาร มันไม่โต 3-5% อย่างที่เขาพูดหรอก แต่โตมากกว่านี้เยอะมาก ดังนั้นต้องมีการขนถ่ายสินค้ามากขึ้น ซึ่งตรงนี้ไม่ใช่ประเด็นใหญ่ แต่ประเด็นใหญ่คือทั่วโลกต้องการทางเลือกใหม่ๆ ในการขนสินค้าผ่าน ดังนั้นใครๆก็สนใจ ใครก็อยากมา ผลตอบแทนทางด้านการเงินส่วนหนึ่ง ระยะเวลาการขนส่งที่ย่นลงไป 4 วัน อีกส่วนหนึ่ง

แต่สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือความเป็นกลางของไทย โดยจีน-สหรัฐฯอาจทะเลาะกันเรื่องการค้า แต่เราไม่เข้าข้างใคร เราคือสวิตเซอร์แลนด์ของเอเซีย สามารถค้าขายกับญี่ปุ่น-เวียดนาม-จีน-อินเดีย-อเมริกา-ยุโรป-แอฟริกา-ตะวันออกกลางได้ทั้งหมด โดยช่องแคบตรงนี้ (แลนด์บริดจ์) เขารู้ว่าถูกควบคุมโดยประเทศที่เป็นกลาง จะไม่เอื้อประโยชน์ให้ชาติใด ชาติหนึ่ง ดังนั้นใครก็เต็มใจที่จะมาใช้เพื่อขนถ่ายสินค้า ไม่ใช่เพื่อเศรษฐกิจเท่านั้น แต่เพื่อเสถียรภาพของประเทศไทย ซึ่งตรงนี้จะมีประสิทธิภาพมากกว่าอาวุธ มากกว่าการมีเครื่องบินรบเอฟ-35 มากกว่าเรือดำน้ำ เพราะนี่คือการควบคุมเส้นเลือดใหญ่ของเศรษฐกิจทั่วโลก

ใครจะลงทุนก็มา ส่วนผมไม่ลงทุน แต่จะควบคุม เรื่องผลตอบแทนทางด้านการเงินเป็นรอง แต่เชื่อว่าได้ผลตอบแทนมโหฬาร เพราะเราไม่ได้ลงทุน จะ 50 ปี 99 ปี หรือเท่าไหร่ก็ว่ากันไป ทุกคนจ้องจะมาลงทุนทั้งนั้น อินโดนีเซียก็อยากมา จีนอยากมา อเมริกาแน่นอนอยากมา ญี่ปุ่นอยากมา ซาอุฯ และตะวันออกกลางอยากมา ส่วนรูปแบบการลงทุนจะเป็นแบบไหนนั้น ทางกระทรวงคมนาคมกำลังว่าจ้างให้มีการศึกษาความเหมาะสมอยู่

ขอยกตัวอย่าง ซาอุฯไม่อยากให้เราทำแลนด์บริดจ์อย่างเดียว แต่เขาอยากกลั่นน้ำมัน-เม็ดพลาสติกด้วย คือทำเหมือน “อิสเทิร์นซีบอร์ด” แล้วจะมีอะไรตามมาอีกหลายอย่าง เขาอาจซื้อโรงกลั่นน้ำมันในบ้านเราเพื่ออัปเกรด หรือจะสร้างโรงกลั่นฯ ขึ้นมาใหม่นั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

Special Report : ทั้ง “แลนด์บริดจ์” และ Financial Hub ไม่มีปัญหากับสิงคโปร์?

นายกฯเศรษฐา : ไม่มีปัญหาครับ เราทำงานแข่งขันกันไป ชนะบ้าง แพ้บ้างไม่เป็นไร ไม่มีใครชนะตลอด หรือแพ้ตลอด โดยเฉพาะเรื่อง Financial Hub ต่อไปหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะเรามีพื้นที่กว้างใหญ่กว่า มีหลายอย่างที่มีศักยภาพเป็นต่อเขา แต่ไม่เคยถูกนำไปฉายในเวทีโลก ดังนั้นผมจึงต้องมีวันละหลายมีตติ้ง วันหนึ่ง 19 มีตติ้ง กลับบ้านตอนกลางคืนเบลอๆ จำไม่ใด้ว่าวันนี้ไปเจอใครมาบ้าง

ปัจจุบันสิงคโปร์เป็น Financial Hub ในย่านนี้ ซึ่งบริษัทต่างๆ อาจจะแฮปปี้ แต่คนทำงานไม่รู้ว่าแฮปปี้หรือเปล่า? เพราะถ้าอยู่นานๆ ถึงวันหยุดไม่รู้จะไปไหน ทุกเย็นวันศุกร์ต้องบินมาเที่ยวภูเก็ต-สมุย-พัทยา-กรุงเทพฯ แล้วเช้าวันจันทร์บินกลับไปทำงานที่สิงคโปร์ ในขณะที่ประเทศไทยมีสิ่งดึงดูดมากกว่า มีโรงพยาบาลดีๆ มีโรงเรียนนานาชาติทันสมัยมากมาย และมีสถานที่ท่องเที่ยวเยอะ

แต่ถ้าเราจะก้าวไปสู่ Financial Hub ต้องเริ่มจากการแก้กฎหมาย-ภาษี-วีซ่า ไม่ใช่มาอยู่ 3 เดือน แล้วต้องเสียเวลาบินกลับไปแสตมป์วีซ่า ซึ่งมันไม่ใช่! เพราะเขาทำงานเงินเดือนเป็นล้านบาท ไม่ได้เข้ามาเป็นโจร.