มหากาพย์เกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าว เมื่อมีข้าวสารหอมมะลิ อายุราวๆ 10 ปี ประมาณ 150,000 กระสอบ โผล่อยู่ในโกดัง 2 แห่ง ที่จ.สุรินทร์ กลายเป็นประเด็นถกเถียงกันในสังคมไทยเกี่ยวกับ “คุณภาพข้าว”  ยาวไปถึงการยัดเยียดให้คนโน้นกิน คนนี้กิน!

ย้อนไปเมื่อวันที่ 2 เม.ย.67 นายบัญชา เดชเจริญศิริกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคท้องที่ไทย นำกลุ่มผู้ประกอบการคลังสินค้าฝากเก็บข้าวสารตามโครงการรับจำนำข้าว ปีการผลิต 56/57 กว่า 40 คน เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เพื่อขอความเป็นธรรม และให้สอบสวนเจ้าหน้าที่รัฐ รวมทั้งข้าราชการที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย จากการยคัดเกรดข้าว การระบายข้าว ตามคำสั่งของคณะอนุกรรมการระบายข้าวที่มาจากการแต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยมี พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รอง อธิบดีดีเอสไอ รักษาราชการแทนอธิบดีดีเอสไอ น.ส.อรุณศรี วิชชาวุธ ผอ.กองบริหารคดีพิเศษ เป็นผู้รับเรื่องร้องเรียน และพ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม มารับฟังเรื่องร้องเรียนดังกล่าวด้วย

ทีมข่าว Special Report มีโอกาสสนทนากับ นายบัญชา สส.บัญชีรายชื่อพรรคท้องที่ไทย ซึ่งเป็นอดีตกำนันใน อ.ท่าตะโก จ.นครสวรรค์ รวมทั้งเคยเป็นเจ้าของธุรกิจโรงสีข้าว-ธุรกิจรถขนส่งพืชผลทางการเกษตร หลังจากนำผู้ประกอบการคลังสินค้าฝากเก็บข้าวสารตามโครงการรับจำนำข้าว เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนกับดีเอสไอ

อบรม 2 วัน เอา “พลทหาร” มาตรวจข้าวได้อย่างไร?

นายบัญชากล่าวว่า เจ้าของโกดังทั่วประเทศ ที่รับฝากข้าวในโครงการดังกล่าว ไม่ได้รับความยุติธรรม และได้รับความเดือดร้อนอย่างหนักจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐกรณีการระบายข้าวสารในปี 60-61

หลังวันรัฐประหาร 22 พ.ค.57 มีข้าวสารอยู่ในโกดังทั้งหมด 18.5 ล้านตัน ปกติก่อนขนข้าวเข้าโกดังจะมี“สายตรวจพิเศษ” มาตรวจสอบคุณภาพข้าว-จำนวนข้าว ตรวจโกดังเรียบร้อย และปิดโกดัง โดยมีผู้ถือกุญแจโกดัง 3 คน คือ 1.หัวหน้าคลัง 2.เซอร์เวเยอร์ 3.นายอำเภอ (เกษตรอำเภอ)

หลังรัฐประหารยังมีข้าวครบ 18.5 ล้านตัน แต่ผู้มีอำนาจบอกว่าคุณภาพข้าวมีปัญหา จึงแจ้งดำเนินคดีทั้งเจ้าของโกดัง หัวหน้าคลัง และเซอร์เวเยอร์ ทั้งคดีอาญา-คดีแพ่ง (ชดใช้ค่าเสียหาย) เป็นเงินสูงถึง 5 แสนล้านบาท แต่ปัจจุบันปี 67 อัยการสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาพวกเขาเหล่านี้ ส่วนคดีแพ่งก็รอดกันถึง 90% แล้ว

เนื่องจากคสช.ตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 100 ชุด ประกอบด้วยตัวแทนจากกระทรวงต่างๆ และทหาร แล้วจัดอบรมแค่ 2 วัน กลายเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องข้าวกันไปแล้ว และเอาคณะกรรมการเหล่านี้มาตรวจข้าว(ฉ่ำข้าว) เก็บตัวอย่างข้าวในโกดัง จากปกติคนตรวจข้าวคือเซอร์เวเยอร์ที่ต้องมีใบรับรองจาก “อคส.-อตก.” แต่นี่คุณอบรมกันแค่ 2 วัน ส่งมาตรวจเข้าแล้ว เอาพลทหารมาตรวจข้าวได้อย่างไร?

“ตามคำให้การของเจ้าหน้าที่เก็บตัวอย่างข้าว ที่ไปให้การมัดตัวเองโดยไม่รู้ตัวไว้กับศาลปกครอง ว่าตรวจข้าวคนเดียวเป็นหมื่นๆตัวอย่าง โดยเอาเข้าไปเก็บไว้ในตู้คอนเทนเนอร์ในหน่วยงานคนมีสี โดยไม่เคยแจ้งผล แต่มาถึงก็แจ้งค่าเสียหายให้เจ้าของโกดัง-หัวหน้าคลัง-เซอร์เวเยอร์ต้องชดใช้ ทั้งที่ข้าวสาร ถ้าเอาออกจากระสอบในโกดัง แล้วไปเจอแดด-ความร้อน-ลม-ฝุ่น และไม่ตรวจคุณภาพภายใน 15 วัน สภาพของข้าวมันเปลี่ยนไปแล้ว”

ร้อง “ดีเอสไอ” สอบ 5 ประเด็น

นายบัญชากล่าวต่อไปว่า เจ้าของโกดังกว่า 40 ราย จึงขอให้ “ดีเอสไอ” สอบสวนเอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

1.การตรวจสอบข้าว การเก็บตัวอย่างข้าวหลังรัฐประหาร ไม่เป็นไปตามมาตรฐานกระทรวงพาณิชย์

2.มีการจัดเกรดข้าวก่อนขายให้พ่อค้า ทั้งที่ไม่มียุคใดทำมาก่อน เพราะปกติจะขายเหมาโกดัง แต่ปี 60-61 มีการจัดเกรดข้าวเอ-บี-ซี โดยข้าวเกรดซี คือข้าวที่คนกินไม่ได้ ต้องขายเป็นอาหารสัตว์-เผาเป็นเอทานอล-ทำปุ๋ย

ข้าวสารทั้งหมด 18.5 ล้านตัน แต่คุณจัดเป็นข้าวเกรดซีถึง 12 ล้านตัน เพื่อขายให้เอกชน (พ่อค้า) 19 ราย ในราคา กก.ละ 2-3 บาท ทำให้รัฐเสียหายกว่าแสนล้านบาท เพราะเอกชน (พ่อค้า) เอาไปส่งออก-ขายในประเทศ ถึงกก.ละ 12-13 บาท

3.เจ้าของโกดังทำหนังสือถึง “อคส.-กรมการค้าต่างประเทศ” เพื่อขอซื้อข้าว กก.ละ 10 กว่าบาท แต่ถูกปฏิเสธ ว่าจะขายผ่านการประมูลเท่านั้น! คือกก.ละ 10 กว่าบาทไม่ขาย แต่จะขายกก.ละ 2-3 บาท

4.ดีเอสไอต้องตรวจสอบเอกชน (พ่อค้า) 19 ราย ที่ประมูลข้าวเกรดซี 12 ล้านตันออกไป ว่าเอาไปทำอาหารสัตว์-ทำปุ๋ย-เผาเป็นเอทานอล จริงหรือไม่? แค่ตรวจสอบ 3-4 ประเด็นหลักๆ ทั้ง 19 ราย ก็ตายแล้ว! (ไม่ต้องลงรายละเอียดเดี๋ยวไก่ตื่น) มี 2-3 รายสงสัยว่าไป ดัดแปลงแก้ไขใบ รง.4 จากที่เป็นแค่โรงสี แต่ติดตั้งเครื่องโม่นิดเดียว ก็มาประมูลข้าวไปทำอาหารสัตว์ได้แล้ว บางรายไปขอเช่าหัวบริษัทอื่นมาก็มี

5.ปกติ “ข้าวหอมมะลิ” ซึ่งเป็นข้าวนิ่ม จะเสียหายเร็วกว่า “ข้าวขาว” ซึ่งเป็นข้าวแข็ง แต่ทำไมข้าวหอมมะลิในโกดังที่ จ.สุรินทร์ ที่รองนายกฯภูมิธรรม เวชยชัย ไปตรวจสอบเก็บไว้เป็น 10 ปี แต่คุณภาพยังดีอยู่ แล้วทำไมข้าวขาวแค่ 4-5 ปี จึงเสียหายง่ายนักในปี 60-61 ถึง 12 ล้านตัน

ข้าวในโกดัง จ.สุรินทร์ ประมูลซื้อไปขายยังมีกำไร

นายบัญชากล่าวว่าสารที่ใช้รมยาข้าวสารคือ “อลูมิเนียมฟอสไฟด์” เป็นที่ยอมรับกันทั่วโลก เพราะเป็นสารระเหยไม่ตกค้าง ไม่ใช่ “เมทิลโบรไมด์” ซึ่งเป็นยาแรง อันนี้ไม่ได้ใช้ในคลังสินค้า แต่เอามาตีกันในโลกโซเชียล

โกดังจะรมยากัน 2 เดือน/ครั้ง เพื่อป้องกันมอด โดยปกติจากข้าวเปลือกที่ตากแห้งมาแล้ว ก่อนเป็นข้าวสารก็ผ่านการอบความชื้นมาอย่างดี จากความชื้นของข้าวสารประมาณ 12-13% ยิ่งเก็บนานๆ ความชื้นยิ่งลดลง เหลือราวๆ 10-11% เท่านั้น ส่วนเชื้อราที่เป็นสารก่อมะเร็ง จะเกิดในข้าวสารที่มีความชื้นเกิน 15% ขึ้นไป

ถั่วลิสง-หอมแดง-กระเทียม มีความชื้นมากกว่า 15% ทั้งนั้น โดยเฉพาะหอมแดง-กระเทียมที่อยู่ในครัว กินกันทุกวัน มีความชื้นถึง 30% จึงเกิดเชื้อราที่เป็นสารก่อมะเร็งได้ง่ายกว่าข้าวสารที่เก็บไว้นานๆ แล้วไม่กลัวมะเร็งจากถั่วลิสง-หอมแดง-กระเทียม กันบ้างหรือ?

“ส่วนกรณีหุงข้าวที่สุรินทร์ รองนายกฯภูมิธรรมลัดขั้นตอนไปหน่อย! เพราะข้าวที่เก็บไว้นานๆ ควรขัดฝุ่น-ร่อนผง-ขัดผิวรำ ออกไปนิด แล้วจึงนำมาซาวน้ำเพื่อหุงข้าว แต่เมื่อท่านลัดขั้นตอน น้ำซาวข้าวจึงออกสีแดงๆ และต้องซาวน้ำหลายครั้ง ผมทำโรงสีข้าวมาทั้งชีวิต เอาว่าข้าวสารหอมมะลิในโกดังที่สุรินทร์ ถ้าจะซื้อผมให้ราคา กก. 16-17 บาท เอาไปผ่านขั้นตอนต่างๆ แล้วยังขายต่อได้กก.ละ 21-22 บาท กรณีนี้ถือเป็นเวรกรรมของคนมีอำนาจในอดีต ที่ยังมีหลักฐานข้าว 10 ปียังดีอยู่ แต่ข้าว 5 ปี 12 ล้านตัน เอาไปขายเป็นอาหารสัตว์ได้อย่างไร” นายบัญชา กล่าว