สัปดาห์ที่แล้ว สมาคมธนาคารไทย และธนาคารสมาชิก ประกาศช่วยลดดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) ลง 0.25% เป็นเวลา 6 เดือน เพื่อลดภาระดอกเบี้ยให้กลุ่มเปราะบาง ทั้งลูกค้าบุคคล และ SME ซึ่งเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ หลังจาก “ซีอีโอ” 4 ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ เข้าหารือกับนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี

ตามมาด้วยธนาคารของรัฐ คือ ธนาคารออมสิน-ธนาคารอาคารสงเคราะห์-ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ MRR ลง 0.25% เป็นเวลา 6 เดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.67

มาตรการปรับลดดอกเบี้ยดังกล่าวของธนาคารพาณิชย์-ธนาคารรัฐ จะช่วยลดภาระการจ่ายดอกเบี้ยให้กับประชาชนที่เป็นหนี้ได้จำนวนเท่าไหร่? ทีมงาน Special Report สนทนากับ นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์และการเมือง พรรคเพื่อไทย และที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ในประเด็นดังกล่าว

ลดดอกเบี้ยประชาชนได้ประโยชน์แน่นอน!

นายพิชัยกล่าวว่า ตอบเป็นตัวเลขชัดๆ ยากว่าช่วยลดภาระการจ่ายดอกเบี้ยให้กับประชาชนที่เป็นหนี้ได้จำนวนเท่าไหร่ เนื่องจากธนาคารที่จะช่วยลดดอกเบี้ยลง 0.25% บอกว่าช่วยเหลือลูกค้าทั่วไปที่เปราะบาง-เอสเอ็มอีกลุ่มเปราะบาง หรือเอสเอ็มอีที่ประสบปัญหาการผลิต จนทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ลดลง รวมถึงลูกหนี้เอ็นพีแอลที่อยู่ระหว่างปรับปรุงโครงสร้างหนี้เพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย

คือรายละเอียดและเงื่อนไขของแต่ละธนาคารไม่เหมือนกัน ปัจจัยอะไรบ้างคือ “เปราะบาง” ลูกค้าที่ตกอยู่ในสภาพขนาดไหนถึงจะเข้าข่าย “เปราะบาง” ซึ่งแต่ละธนาคารคงมีเงื่อนไขปลีกย่อยไม่เหมือนกัน รวมทั้งจำนวนลูกค้า ดังนั้นจึงมาคำนวณเป็นตัวเลขได้ยากมาก ว่ามาตรการของธนาคารประมาณ 6 แห่ง เกี่ยวกับการลดดอกเบี้ยลง 0.25% เป็นเวลา 6 เดือน จะช่วยลดภาระการชำระหนี้ของประชาชนได้เท่าไหร่!

แต่ที่ชัวร์ๆ คือประชาชนได้รับประโยชน์จากการร่วมมือร่วมใจของธนาคารต่างๆ ในการช่วยลดดอกเบี้ย 0.25% เป็นเวลา 6 เดือนอย่างแน่นอน โดยเฉพาะลูกหนี้ธ.ก.ส. ซึ่งมีมากกว่า 1.24 ล้านบัญชี และยอดเงินต้นรวม 3.69 แสนล้านบาท

ถ้าลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% คือ4หมื่นล้าน/ปี

นายพิชัยกล่าวต่อไปว่า แต่ถ้าธนาคารแห่งประเทศไทย (แบงก์ชาติ) ลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% (ปัจจุบัน2.50%) จะช่วยลดภาระดอกเบี้ยหนี้ครัวเรือนได้ปีละกว่า 4 หมื่นล้านบาท (หนี้ครัวเรือนประมาณ16ล้านล้านบาท) และช่วยลดภาระดอกเบี้ยหนี้สาธารณะได้อีก ราวๆ 2-3 หมื่นล้านบาท จากยอดหนี้สาธารณะที่รัฐบาลเป็นผู้กู้โดยตรง รวมกว่า 9.09 ล้านล้านบาท (ก.พ.67)

แต่ทำไมแบงก์ชาติไม่ยอมลดดอกเบี้ยนโยบายลงมา เพราะถ้าลดจะช่วยให้ยอดหนี้ของประชาชนลดลง การจ่ายดอกเบี้ยก็ลดลงด้วย สามารถเอาเงินตรงนี้ไปจับจ่ายใช้สอยกระตุ้นเศรษฐกิจ และมีผลต่อจิตวิทยา เพราะดอกเบี้ยลดคนจะรู้สึกว่าชีวิตดีขึ้น เหลือเงินในกระเป๋ามากขึ้น ค่าใช้จ่ายลดลง รวมทั้งต้นทุนในการประกอบกิจการก็ลดลง บรรยากาศในตลาดหุ้นก็จะดีขึ้นด้วย

ปัจจุบันจีนลดดอกเบี้ยไปแล้ว สวิตเซอร์แลนด์ลดดอกเบี้ยเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน อังกฤษกำลังจะลดดอกเบี้ยตาม ทำไมจึงไม่รอให้อเมริกาลดดอกเบี้ยก่อน เพราะเขารอไม่ไหว เนื่องจากอเมริกาภาวะเงินเฟ้อยังสูงที่ 3.5% เงินเฟ้อกับเรื่องดอกเบี้ยเป็นของคู่กัน

“สัปดาห์ที่แล้วกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ออกมาเตือนธนาคารกลางในเอเชียว่า ไม่ควรให้ความสำคัญกับความเคลื่อนไหวของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มากเกินไป จนละเลยสถานการณ์ภายในประเทศ ธนาคารกลางแต่ละชาติควรคำนึงเรื่องอัตราเงินเฟ้อภายในประเทศเป็นหลักในการกำหนดนโยบายการเงิน และหลีกเลี่ยงการตัดสินใจด้านนโยบายการเงินที่อิงกับการเคลื่อนไหวของเฟดมากเกินไป เพราะอาจกระทบต่อเสถียรภาพภายในประเทศตนเองได้ ไม่รู้ว่าคนของแบงก์ชาติเห็นข่าวนี้หรือเปล่า” นายพิชัย กล่าว