“คอลัมน์ตรวจการบ้าน” จึงต้องมาสนทนากับ รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย รองศาสตราจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช มาสะท้อนการทำงานของรัฐบาลชุดนี้เป็นอย่างไรและควรต้องเร่งสปีดอะไรเพื่อเดินหน้าประเทศให้มีอนาคตที่สดใส

โดย“รศ.ดร.ยุทธพร” เปิดประเด็นว่า รัฐบาลชุดนี้ต้องแบกภาระหนักจากรัฐบาลชุดก่อนพอสมควร เพราะมีการข้ามขั้วในการโหวตนายกรัฐมนตรี ภายใต้สภาวะการเลือกตั้งปี 2566 ท่ามกลางความคาดหวังของประชาชน และคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชนซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญ และถูกทวงถามหลายๆ เรื่อง จึงขอมองและแบ่งออกเป็น 3 ด้าน คือ “การเมือง เศรษฐกิจ –สังคม”  ก็จะทำให้มองเห็นภาพการทำงานของรัฐบาลที่ชัดเจนขึ้น

“ด้านการเมือง” สิ่งที่สำคัญในการแถลงนโยบายเอาไว้ คือ การศึกษาเพื่อนำไปสู่การทำประชามติในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรื่องนี้รัฐบาลทำได้ดีพอสมควร เพราะหลังมีการตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ใช้ระยะเวลาเพียง 2 เดือนกว่าๆ ก็มีข้อสรุปในการแนะนำว่าจะต้องทำประชามติกี่ครั้ง จะต้องมีแนวคำถามอย่างไร และนำไปสู่การเสนอให้แก้ไขกฎหมายประชามติ นอกจากนี้ยังเกิดกระบวนการรับฟังความเห็นประชาชนในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ มีการรับฟังความเห็นกลุ่มต่างๆ ที่เคลื่อนไหวเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ ดังนั้นเรื่องนี้คิดว่าไม่ได้ล่าช้าอะไร

ส่วนอีกประเด็นหนึ่ง คือ การ “นิรโทษกรรม” รัฐบาลมีการตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาแนวทางการตราพ.ร.บ.นิรโทษกรรม มีการประชุมหลายครั้ง มีทั้งตัวแทนฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้านเข้ามาอยู่ในนี้ด้วย มีการศึกษาข้อมูลสถิติ สิ่งที่ได้ดำเนินการในช่วงความขัดแย้ง คดีความต่างๆ ถือว่า กระบวนการเหล่านี้ไม่ถือว่าล่าช้าเพราะ เพิ่งตั้งคณะกรรมาธิการได้เดือนกว่าเท่านั้นเอง

เพราะฉะนั้นทางด้านการเมืองถ้าประเมินกระบวนการในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การนิรโทษกรรมจึงให้คะแนนอยู่ที่ 8 เต็ม 10 รอแค่การนำสู่การตัดสินใจของคณะรัฐมนตรีในเรื่องรัฐธรรมนูญเท่านั้น ส่วนนิรโทษกรรมก็จะเข้าสู่สภาเพื่อให้สภาดำเนินการออกเป็นกฎหมาย

“ด้านเศรษฐกิจ” เป็นประเด็นปัญหาที่สำคัญที่สุด ซึ่งบังเอิญรัฐบาลนี้เสนอนโยบายเงินดิจิตอล wallet 10,000 บาท ทำให้ถูกทวงถามไม่น้อย แต่วันนี้ต้องยอมรับว่า ข้อจำกัดในการทำงานของรัฐบาลเพื่อไทยมีมาก ไม่เหมือนกับในอดีตที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยมีเสียงค่อนข้างเด็ดขาด การตัดสินใจดำเนินการต่างๆ จึงทำได้ง่าย แต่รอบนี้กติกาในรัฐธรรมนูญ 2560 และกลไกการตรวจสอบ ต่างๆ ก็มีไม่น้อย เช่น สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่ทำรายงานการศึกษาเกี่ยวกับโครงการนี้ว่า เป็นสิ่งที่จะต้องระมัดระวังไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นการดำเนินการที่ผิดกฎหมาย ทำให้มีการปรับโฉมโครงการใช้เงินงบประมาณแทน และแบ่งเป็นระยะๆ

เรื่องนี้ยังผนวกกับภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน จึงให้คะแนนในการทำงานอยู่ที่ 7 คะแนน ที่เหลือเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งขับเคลื่อนเพราะการทำให้เศรษฐกิจดีเป็นโจทย์ใหญ่ ซึ่งกระทบกับ การใช้ชีวิตประจำวันของประชาชน

ด้าน “ด้านสังคม” สภามีการผ่านกฎหมาย 1 ฉบับที่น่าสนใจและไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ การเมืองประเทศไทย นั่นก็คือกฎหมายสมรสเท่าเทียม เรียกว่าเป็นผลงานทางสังคมที่โดดเด่นของรัฐบาลก็ว่าได้ และคิดว่าไม่น่าจะมีปัญหาในชั้นวุฒิสภา น่าจะผ่านเรียบร้อยไปแล้วรอการประกาศใช้เท่านั้นเอง ดังนั้นบทบาทนี้น่าสนใจ แต่น่าจะต้องเติมประเด็นอื่นๆ เข้าไปด้วย เช่น นโยบายการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด นโยบายการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมต่างๆ ซึ่งจะต้องเติมเข้าไป รวมถึงการแก้ปัญหามลพิษต่างๆ เป็นโจทย์ที่ใหญ่มาก อย่าง PM 2.5 เรื่องสารเคมี

ล่าสุดกรณีของแคดเมียม ซึ่งไม่ใช่เป็นประเด็นแค่สังคมเท่านั้น แต่ยังไปเกี่ยวข้องกับกลไกรัฐ ระบบราชการการ ทุจริตคอรัปชั่นการไร้ประสิทธิภาพ นี่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ทุกรัฐบาลต้องรีบแก้ไขเพราะส่งผลกระทบต่อชีวิตประชาชนอย่างที่สุด ดังนั้นในด้านนี้จึงยังให้แค่ 7 คะแนน

“และดังนั้นเฉลี่ยผลงานภาพรวมของรัฐบาลจึงอยู่ที่ 7 คะแนนจากเต็ม 10 คะแนน”

@ จะมีการปรับคณะรัฐมนตรีไปในทิศทางใด

โอกาสจะเห็นการปรับคณะรัฐมนตรีเป็นไปได้สูงและมีโอกาสปรับครั้งใหญ่ เพื่อวางยุทธศาสตร์ เพราะในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องการเมือง เรื่องต่างๆ ยังไม่เห็นภาพที่ชัดเจนมากนัก โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจการขับเคลื่อน  Digital wallet เรื่อง Soft Power การท่องเที่ยว เศรษฐกิจสร้างสรรค์เป็นโจทย์ใหญ่ที่ต้องวางคนให้ถูกกับงานในเชิงยุทธศาสตร์

“ดังนั้นโอกาสปรับคณะรัฐมนตรีมีสูงและน่าจะเป็นการปรับใหญ่ อาจจะมีร่วม 10 ตำแหน่ง โดยอาจจะเป็นการสลับสับเปลี่ยนตำแหน่ง ของคนเดิม อาจจะมี คนใหม่เข้ามาบ้าง”

@ มองฉากทัศน์ 6 เดือนหลังจากนี้รัฐบาลควรเดินหน้าอย่างไร

สิ่งที่รัฐบาลต้องทำอย่างรวดเร็วที่สุด คือ เศรษฐกิจ หากดูผลสำรวจความเห็นประชาชนหรืองานวิจัยต่างๆ จะพบว่าเศรษฐกิจเป็นปัญหาอันดับ 1 เสมอประชาชนต้องการเห็นภาพบรรยากาศการทำมาค้าขาย การจับจ่ายใช้สอยได้คล่องมือ มีเศรษฐกิจระดับชาวบ้านที่ดี มีเงินในกระเป๋า ประชาชนไม่ได้มองถึง GDP อะไรต่างๆ เป็นโจทย์ใหญ่ที่สุดที่รัฐบาลจะต้องทำให้เกิดขึ้น จะทำอย่างไรให้คนรู้สึกถึงบรรยากาศทางเศรษฐกิจที่ดี

ดังนั้นฉากทัศน์จากนี้จะต้องแบ่งเป็นนโยบายกระตุ้นระยะสั้น และระยะยาว โดยระยะสั้นอาจจะเร่งการท่องเที่ยว เรื่อง Soft Power เรื่อง Digital wallet ส่วนระยะยาวต้องแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาสความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจ แก้ปัญหาการกระจายอำนาจ 

ลำดับต่อไป ก็เป็นเรื่องการเมือง ก็ต้องเปิดพื้นที่ในการมีส่วนร่วมให้กับประชาชนเช่นกันเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ การจัดตรากฎหมาย การนิรโทษกรรม ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ และกระบวนการเหล่านี้ จะไปสัมพันธ์กับภาพใหญ่ทางการเมืองทั้งหมด อย่างการเลือกสว.  การเดินหน้าเข้าสู่การเลือกตั้ง ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า และด้านสังคมคิดว่ายังต้องเติมการปราบปรามยาเสพติด การพูดถึงมิติการเมืองใหม่ทางสังคม เช่น กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มด้อยสิทธิ ด้อยโอกาส กลุ่ม LGBT และการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมให้เข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่ นี่คือฐานถ้าเราจะทำเรื่อง Soft Power ละเลยไม่ได้ในการวางรูปแบบ วัฒนธรรมรูปโฉมใหม่

@ ครึ่งปีหลังจากนี้รัฐบาลจะอยู่ยากขึ้นหรือไม่ เพราะทั้งปัญหาปากท้อง และมีตัวเร่งปฏิกิริยาทางการเมืองทั้งการเลือก สว. และกรณีศาลรัฐธรรมนูญรับวินิจฉัยคดียุบพรรคก้าวไกล

วันนี้ที่เป็นอุปสรรคในทางการเมืองในระบบมีไม่มาก เพราะรัฐบาลมีเสียง 314 เสียง ค่อนข้างมีเสถียรภาพ ก็จะต้องขับเคลื่อนให้เป็นเสถียรภาพของรัฐบาลในการทำงานต่อไป แต่สิ่งที่ต้องเติมเต็ม คือ การเมืองนอกสภา ให้เกิดการเชื่อมต่อกันเพื่อเป็นพลังในการขับเคลื่อนด้านต่างๆ ให้กับประเทศ เรียกความเชื่อมั่น เชื่อถือของประชาชนในการเปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมรับฟังความเห็นต่างๆ

สิ่งสำคัญ คือ ทุกฝ่ายต้องร่วมกันเดินหน้า ทำให้เกิดการขับเคลื่อนได้ทั้งหมดทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม นี่คือ ประเด็นใหญ่ ไม่ใช่เพื่อรัฐบาลแต่เพื่อให้ประเทศไทยเดินหน้าต่อไปได้ภายใต้ภาวการณ์แข่งขันระหว่างประเทศที่เข้มข้นในปัจจุบัน.

คลิกอ่านบทความทั้งหมดได้ที่นี่