“การโจมตีเสรีภาพในการแสดงออก, การแทรกแซงในมหาวิทยาลัย และการจำคุกนักวิจัย เป็นบางวิธีที่ทำให้เสรีภาพทางวิชาการทั่วโลก ตกอยู่ภายใต้การคุกคาม” ดัชนี ระบุ

เอเอฟไอ ซึ่งอ้างอิงข้อมูลจากผู้สันทัดกรณีมากกว่า 2,300 คน ใน 179 ประเทศ ได้รับการเผยแพร่เป็นส่วนหนึ่ง ของรายงานเกี่ยวกับประชาธิปไตย โดยสถาบันวี-เดม ของมหาวิทยาลัยโกเธนเบิร์ก ในสวีเดน

ดัชนีดังกล่าว วัดการเปลี่ยนแปลงในการศึกษาระดับอุดมศึกษา และงานวิจัย ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา โดยพิจารณาจากตัวชี้วัด 5 ประการ ได้แก่ เสรีภาพในการวิจัยและการสอน, เสรีภาพในการแลกเปลี่ยนทางวิชาการ, เสรีภาพในการแสดงออกทางวิชาการและวัฒนธรรม, เสรีภาพในความเป็นอิสระของสถาบัน และความสมบูรณ์ของวิทยาเขต

นางคาทริน คินเซลบัค ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยเออร์ลานเกน-นูเรมบวร์ก ของเยอรมนี และหนึ่งในผู้จัดทำดัชนี กล่าวว่า รัฐ 171 แห่ง ให้สัตยาบันในสนธิสัญญาสิทธิมนุษยชน ซึ่งกำหนดให้รัฐเหล่านี้ เคารพเสรีภาพในการวิจัยทางวิทยาศาสตร์

“แต่เนื่องจาก “ความเสื่อมโทรมอย่างมีนัยสำคัญ” ในประเทศที่มีประชากรจำนวนมากเมื่อไม่นานมานี้ มีผู้คนแค่ 1 ใน 3 ของประชากรโลกในปัจจุบัน ที่อาศัยอยู่ในประเทศซึ่งมีเสรีภาพในการวิจัย และการศึกษาระดับอุดมศึกษา อยู่ในระดับสูง” คินเซลบัค กล่าวเพิ่มเติม

เมื่อคำนึงถึงจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นของโลก สัดส่วนของผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศที่มีเสรีภาพทางวิชาการ อยู่ในระดับเทียบเท่ากับปี 2516 ซึ่งในขณะนี้ ประชากรโลกราว 45.5% หรือประมาณ 3,600 ล้านคน อยู่ใน 27 ประเทศที่จำกัดเสรีภาพทางวิชาการ “โดยสิ้นเชิง”

อนึ่ง เสรีภาพทางวิชาการที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เกิดขึ้นในอินเดีย, จีน และรัสเซียเป็นพิเศษ ซึ่งคินเซลบัค เรียกว่าเป็น “ตัวอย่างที่ชัดเจนของระบอบเผด็จการ”

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ทำให้นักวิชาการต้องตกตะลึง คือ เอเอฟไอ พบว่า เสรีภาพทางวิชาการในสหรัฐ ก็ลดลงเช่นกัน นับตั้งแต่ปี 2562 คินเซลบัคเน้นย้ำว่า ทั้งสังคมและระบบการเมืองในสหรัฐ “มีการแบ่งขั้วสูง” และวิทยาเขตของมหาวิทยาลัย กลายเป็นเวทีแสดงการแบ่งขั้วเช่นนี้ ซึ่งเธอเรียกร้องให้มีการอภิปรายอย่างสงบ และอิงหลักฐานเชิงประจักษ์ ในวิทยาเขต รวมถึงประเด็นที่มีความแตกแยกอย่างมาก

อีกด้านหนึ่ง เอเอฟไอ ระบุว่า ประเทศในยุโรปส่วนใหญ่ มีเสรีภาพทางวิชาการสูงมาก โดยฮังการีมีคะแนนต่ำสุด และอันดับถัดขึ้นมาคือ โปแลนด์ แต่คินเซลบัค กล่าวว่า คะแนนของโปแลนด์มีแนวโน้มดีขึ้น ภายใต้การบริหารของรัฐบาลชุดใหม่ของนายกรัฐมนตรีโดนัลด์ ทัสก์ ผู้นำโปแลนด์คนปัจจุบัน.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES