กระแสหลอกลวง ต้มตุ๋น ทางออนไลน์ โดยเฉพาะบรรดา SMS ข้อความไม่ได้รับเชิญ ไม่มากก็น้อยทุกเบอร์มือถือต้องเคยได้รับกันมาบ้าง คนที่รู้เท่าทันไม่น่าห่วง รับแล้วก็ปล่อยผ่าน กดทิ้ง มีแค่ความรำคาญ กลับกันบางคนรับข้อความแล้วเลือกกดลิงก์“ทำตาม”ความเสียหายจึงบังเกิด
โดยหลักมีตั้งแต่เสียเงิน ไปจนถึงเสียข้อมูลส่วนตัวให้มิจฉาชีพนำไปใช้ก่ออาชญากรรมอื่น
พฤติกรรมเช่นนี้ถือว่าซ้ำเติมกันหนักมากในขณะที่ประชาชนกำลังเดือดร้อนทั้งภาวะโรคระบาดและผลกระทบทางเศรษฐกิจ เนื่องจาก SMS ข้อความเหล่านี้มักอาศัย “โครงการ สิทธิ์ หรือใช้รางวัล” ล่อใจให้ผู้รับกดลิงก์ตามไปดู โดยเฉพาะการอ้างโครงการต่าง ๆที่มักล้อไปกับกระแสโครงการที่มีอยู่จริง และเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆจนอาจไม่ทันสังเกต หรืออ้างมีเงินเข้าบัญชี โดยไม่รู้ที่มาที่ไป
ยกตัวอย่าง การอ้างสิทธิ์ฉีดวัคซีนโควิด-19 , โครงการสินเชื่อ ,โครงการเยียวยาผู้ประกันตน และอีกสารพัดประโยคที่อาจตรงกับจังหวะความเดือดร้อนเจ้าของเบอร์โทรศัพท์ หลายคนจึงตัดสินใจลองกดลิงก์แบบไม่ทันได้ฉุกคิด ตรึกตรอง เชื่อเพียงประโยคบอกเล่า เชิญชวนตามที่เห็น
ก่อนหน้านี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.)เคยออกมาเตือนหลายต่อครั้งถึง“อันตราย”ที่มาจากข้อความเหล่านี้ โดยสรุปเป็น 3 ลักษณะที่พบเห็นได้บ่อยจากลิงก์ ได้แก่

1.แอพพลิเคชั่นเงินกู้ออนไลน์ ที่พ่วงด้วยดอกเบี้ยสูงเกินอัตรากฎหมายกำหนด พิษสงที่หลายคนอาจคาดไม่ถึงนอกเหนือดอกเบี้ยรายวันหากขาดส่งคือ การทวงหนี้แบบประจาน ข่มขู่ และคุกคามไปถึงคนใกล้ตัวและที่ทำงาน จากการอนุญาตให้เข้าถึงข้อมูลส่วนตัวในโทรศัพท์มือถือ
2.เว็บไซต์พนันออนไลน์ ที่จะพยายามโน้มน้าว ชักชวนให้เข้าเล่นการพนัน
3.หลอกลวงให้กรอกข้อมูลส่วนตัว รหัส เพื่อนำข้อมูลไปใช้ เช่น แฮกข้อมูล แฮกบัญชีสังคมออนไลน์ ไปจนถึงการแฮกบัญชีธนาคารหรือบัตรเครดิต
จากสถานการณ์ปัจจุบันและคาดการณ์อนาคตที่อาจมีผู้ตกเป็นเหยื่อเพิ่มขึ้น ล่าสุดอาจเป็นสัญญาณดีที่ได้เห็นหลายภาคส่วนออก“แอคชั่น”
ที่น่าสนใจคือท่าทีของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.)หลังหารือร่วมกับผู้ให้บริการค่ายมือถือออกมาตรการแก้ปัญหา SMS ส่งมาหลอกลวงผู้ใช้บริการด้วยการให้ “บล็อก SMS”ทันทีที่พบเนื้อหาชัดเจนว่าเป็นการหลอกลวง เป็นพนันออนไลน์ หรือเป็นการลามกอนาจาร เริ่มตั้งแต่ 23 ก.ย.ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ยังให้ยกระดับความร่วมมือด้วยการแชร์ข้อมูล SMS ต้องสงสัยหลอกลวงเพื่อทำ Blacklist ให้ทุกค่ายผู้ให้บริการดำเนินการบล๊อก SMSจากผู้ส่งรายเดียวกัน พร้อมคาดโทษผู้ให้บริการด้วยการพิจารณาโทษทางปกครองที่มีตั้งแต่ เตือน ปรับ พักใบอนุญาต และโทษสูงสุดคือการเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการ
อย่างไรก็ตาม แทบจะทันทีหลังมีมาตรการ มิจฉาชีพก็ปรับตัวจากการส่งข้อความ SMS เป็นการโทรศัพท์หาเหยื่อโดยตรง !!!
ในส่วนนี้ กสทช.แจ้งแนวทางรับมือโดยแนะนำประชาชนเก็บหลักฐานคลิปเสียง และแจ้งเบาะแสเพื่อนำไปสู่การตรวจสอบการลงทะเบียนเบอร์โทรศัพท์หาเจ้าของ ซึ่งจะถือเป็นหลักฐานที่ระบุต้นทางที่มา และสามารถประสานข้อมูลให้ตำรวจสืบเสาะหาตัวมิจฉาชีพไปดำเนินคดีได้
ด้านหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายอย่างเจ้าหน้าที่ตำรวจ ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาแทบเรียกว่าออกคำเตือนกัน“รายวัน” เพราะสถานการณ์หลอกลวงออนไลน์พ่นพิษหนัก ไม่เพียง SMS ข้อความโทรศัพท์มือถือแต่มหกรรมโกงออนไลน์ผุดขึ้นทุกช่องทางไม่เกรงกลัวกฎหมาย ส่วนหนึ่งน่าจะมาจาก“เม็ดเงิน”ที่ได้มาง่าย ๆแทบไร้ต้นทุน อีกส่วนเชื่อว่ามาจากไม่ย่ำเกรงโทษ เพราะยังไม่เห็น“ความโหด”ของการบังคับใช้กฎหมายที่เป็นมาตรฐานในทุกคดี
ดังนั้น การปราบปรามหลังจากนี้ หากลากมิจฉาชีพทั้งขบวนการออกมาเปิดโปงได้ มิจฉาชีพรายใหม่อาจต้องคิดหนัก.
ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน