ดังนั้นจึงถือโอกาสวันแรงงานแห่งชาติที่กำลังจะถึงในวันที่ 1 พ.ค.นี้ “คอลัมน์ตรวจการบ้าน” จึงได้มาสนทนากับแกนนำแรงงาน อย่าง “ชาลี ลอยสูง” ที่ปรึกษาคณะกรรมการสมานฉันแรงงานไทย (คสรท.) มาสะท้อนการทำงานรัฐบาลในภาพรวมในภาคส่วนของแรงงงานเป็นอย่างไร

โดย “ชาลี” เปิดประเด็นในการมองภาพรวมการทำงานของรัฐบาลชุดนี้ว่า  สามารถทำตามนโยบาย แต่ก็ยังเดินได้ไม่สุด ด้วยความที่เป็นรัฐบาลผสมจึงมีปัญหาติดขัดบ้าง ผลงานทางด้านเรงงานจึงยังไม่สามารถออกมาเป็นชิ้นเป็นอัน เมื่อเทียบกับที่เคยหาเสียงเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นค่าแรง สิทธิ สุขภาพ ความปลอดภัยในการทำงาน   

แม้นโยบายในการหาเสียงจะออกมาในทิศทางเดียวกัน แต่ยังติดกฎหมายในทางปฏิบัติ ทำให้ฟันเฟืองสำคัญคือข้าราชการไม่กล้าทำ หากไม่ถูกต้องตามกฎหมาย อย่างที่เห็นชัดวันนี้ คือ เรื่อง “ค่าแรงขั้นต่ำ” ซึ่งพรรครัฐบาลหาเสียงไว้ว่าจะขึ้นถึง 400 บาท  700 บาท แต่ “คณะกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำ” หรือ “ไตรภาคี” (ภาครัฐ – ตัวแทนนายจ้าง -ตัวแทนลูกจ้าง) ยังไม่กล้าที่จะเดินไปถึงตรงนั้น การปรับเพิ่ม 400 บาท ก็เป็นแบบไม่ทั่วทั้งประเทศ เพราะกรรมการไตรภาคีก็มีความขัดแย้งในเชิงนโยบาย

จะเห็นว่า แตกต่างจากอดีตที่ผ่านมา ซึ่งตนไม่เคยเห็นมาก่อนว่า นายจ้าง กับลูกจ้างจับมือกันไม่เห็นด้วยกับนโยบายรัฐเรื่องค่าจ้างที่สูงเกินไป เพราะเสี่ยงที่จะถูกเลิกจ้าง แม้ว่าเราเองจะเคยทำการศึกษาว่า ค่าแรงควรสูงถึง 492 บาทด้วยซ้ำ ดังนั้น รัฐบาลก็ต้องกลับไปคิดพิจารณาตัวเองแล้ว ว่ามันเกิดอะไรขึ้น

“ผมว่าเราต้องมองถึงการเลือกในอนาคตด้วยว่า หากมีการหาเสียงในสิ่งที่ตัวเองไม่มีอำนาจที่จะทำได้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คิดอย่างไร ไม่ใช่ปล่อยให้เขาหาเสียงออกมาแล้วทำไม่ได้ เหมือนกับว่ามีกกต.ไว้ก็ไม่มีประโยชน์”

@ มองว่ารัฐบาลมีความจริงใจแก้ปัญหาปากท้องคุณภาพชีวิตแรงงานจริงๆ หรือเป็นเพียงนโยบายยาหอมเอาใจแรงงาน เป็นบันไดก้าวสู่ที่สูง

ก็ทั้งสองอย่าง 1.เป็นนโยบาย 2. เป็นบันได ถ้าเขาทำนโยบายสำเร็จก็คือ การซื้อใจประชาชน สำเร็จ ก็เป็นบันไดให้พรรคการเมืองได้ ส่วนจะจริงใจหรือไม่เรื่องนี้ตอบยาก เพราะเป็นนโยบายผูกคอเอาไว้ และการทำงานต้องมีแผนงานเป็นขั้น เป็นตอน ซึ่งวันนี้เราเห็นเขาทำ แต่ยังไม่ออกเป็นรูปธรรม ก็ถือว่ายังไม่ประสบความสำเร็จ อย่างค่าจ้างขั้นต่ำ โอเคได้ทำ ปรับ 400 บาท

แต่การปรับแค่บางกลุ่มอาชีพ บางพื้นที่นั้นตนมองเป็นการเลี่ยงบาลี  ถามว่าใช้หลักอะไรมาคิด ทำไมถึงไม่ใช้หลักว่าคนทำงานทั่วประเทศ กลับต้องมาคิดว่าคนกลุ่มนี้ เมืองนี้ ตำบลนี้เท่านั้น แบบนี้ทำให้เกิดความแตกแยก เสี่ยงที่แรงงานพอเห็นกลุ่มอาชีพนั้น พื้นที่นั้นได้เยอะก็แห่ไป ทำให้อีกที่หนึ่งที่ไม่ได้เพิ่มค่าจ้างเกิดการขาดแคลนแรงงาน สุดท้ายคนไม่พอก็ต้องไปร้องขอรัฐบาลให้เปิดนำเข้าแรงงานต่างด้าวเข้ามา ดังนั้นตนไม่เห็นด้วยในการเพิ่มค่าจ้างรายอาชีพ รายพื้นที่  ควรทำให้เท่ากัน อยู่จังหวัดไหนของประเทศไทยก็ได้ค่าแรงพื้นฐานเท่ากัน หากจะมีการปรับเพิ่มขึ้นตามความรู้ความสามารถของแต่ละบุคคลก็ไม่ว่ากัน

@ ความจริงใจในการจัดสิทธิสวัสดิการ ผลักดันกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ตนเห็นถึงความจริงใจ ในเรื่องกฎหมาย ด้านสิทธิของแรงงาน นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว แรงงาน ที่กำลังผลักดันเรื่องการรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเรื่องสิทธิและเสรีภาพในการรวมตัว และฉบับ 98 สิทธิและเสรีภาพในการเจรจาต่อรอง ซึ่งเป็นอนุสัญญา 2 ฉบับที่ เราเรียกร้อง มาเป็นเวลา 30-40 ปีแล้ว หากมีการรับรองสองฉบับนี้แล้ว จะทำให้การรวมตัวเป็นสหภาพของแรงงานได้รับการรับรองตามกฎหมาย สามารถเจรจาเรื่อง สิทธิ สวัสดิการ ค่าจ้างที่เหมาะสมได้มากกว่านี้ และมีการปรับเพิ่มรายปี ไม่ต้องคอยไปเรียกร้องให้ปรับค่าจ้างขั้นต่ำ   

@ ที่ผ่านมามีการอ้างข้อกังวลในการรวมตัวของแรงงานต่างด้าวกับความมั่นคง

อย่าไปอ้างว่ามีแรงงานต่างด้าว แรงงานไปทำงานบ้านไหนก็ควรได้รับสิทธิ สวัสดิการของบ้านนั้นด้วย หลายๆ ประเทศเขาก็มี กฎหมายเขียนได้ ยกเว้นได้ ปัจจุบันไม่มีกฎหมาย ไม่มีการรับรองอนุสัญญา ถ้าเขาถูกกดขี่การรวมตัวมันเกิดขึ้นได้อยู่แล้ว เหมืนออย่างกรณีโรงงานของจีนในไทยที่ถล่มเมื่อเร็วๆ นี้แรงงานต่างด้าวเขาก็รวมตัวกันกดดันทันทีเพื่อให้ได้รับสิทธิที่เขาควรได้ ดังนั้นจะไปอ้างอย่างนั้นไม่ได้ การให้สิทธิในการรวมตัว การเจรจา ซึ่งเป็นไปตามกฎหมาย เหมือนกับเอาสิ่งที่อยู่ใต้ดิน มาอยู่บนดินเพื่อดูแลได้ง่ายกว่า  

@ วันนี้การดูแลสิทธิ สวัสดิการแรงงาน ก้าวพ้น การถูกมอง เป็นพลเมืองชั้นสองหรือไม่ 

ส่วนตัวมองว่า พลเมืองมีชั้นเดียว เพียงแต่เราไปสมมติฐานเอาเอง ว่า คนรวย คนจน แต่สิ่งที่คนเขามองเห็นเป็นรูปธรรม คือ คนที่มีเงินมาก ก็จะมีอำนาจ และมีสิทธิพิเศษ ส่วนคนที่ไม่มีเงิน อำนาจก็ไม่มี บารมีก็ไม่เกิด ก็อาจจะได้รับการดูแลต่ำลงมาหน่อย ทำให้ถูกมองว่าเป็นพลเมืองชั้นสอง  แต่ถ้ามองถึงเสรีภาพสิทธิต่างๆ ต้องเสมอภาคกัน

@ ตอนนี้มีกระแสปรับครม.หลายตำแหน่ง กังวลหรือไม่ว่าหน้าตาทีมรัฐบาลใหม่จะกระทบกับความคืบหน้าทางด้านสิทธิแรงงาน

กังวล เรายังอยากให้รัฐบาลทำอะไรอย่างต่อเนื่อง และทำให้สำเร็จ ให้บรรลุผลสักเรื่องหนึ่ง โดยเฉพาะการรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ซึ่งรัฐบาลที่ผ่านมาไม่มีใครเอา รัฐมนตรีที่เข้ามาต่างก็มีธงกันหมด พอเห็นว่าสิ่งที่ทำอยู่ไม่ตรงกับนโยบายของตัวเอง ถึงจะมีความคืบหน้าจนใกล้สำเร็จก็ไม่เอา แล้วไปทำใหม่ เพราะถ้าไปสานต่อสำเร็จขึ้นมา คนที่ทำเอาไว้เดิมก็จะอ้างว่าเป็นผลงานได้ ซึ่งส่วนมากเมืองไทยจะเป็นแบบนั้น  

@ ใกล้ถึงวันแรงงานแห่งชาติ จะฝากอะไรถึงผู้มีอำนาจทุกระดับที่เกี่ยวข้องกับแรงงาน

ขอให้ทุกคนที่มีอำนาจ สามัคคี และทำอะไรให้มันจริงจัง ออกมาเป็นรูปธรรม ถ้าสิ่งที่ทำนั้นเป็นเรื่องดี ก็เดินหน้า และอย่าไปกังวลกับเสียวิพากษ์ วิจารณ์มาก เพราะนั่นเป็นเรื่องปกติ ระหว่างกระบวนการทำงานย่อมมีเสียงวิจารณ์มากกว่าเสียงชื่นชมอยู่แล้ว คนจะชมก็ต่อเมื่อมีผลงานออกมา แต่ระหว่างการทำงานอย่าไปหวัง

“ถ้าไปหวังคำชม อย่ามาเป็นรัฐมนตรี อย่ามาเป็นนายกฯ อย่ามาเป็นรัฐบาล ดังนั้นขอให้ทำงานอย่างจริงจังไม่ต้องออกมาโต้ตอบประชาชน ทำให้เต็มที่ให้ประชาชนมองเห็น คิดว่าประชาชนก็คงจะชื่นชมในอนาคต”.

คลิกอ่านบทความทั้งหมดได้ที่นี่