ท่ามกลางกระแสข่าวปรับครม.บ้างก็ว่าเป็นการส่งโผปรับครม. ของ“นายกฯเศรษฐา 1/1”  ให้นายใหญ่ทำการเบ่งคลอดในขั้นตอนสุดท้ายก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ

ถือเป็นการปรับทัพเดินหน้าการทำงานตามนโยบายเรือธงสร้างสุขให้ประชาชนตามคำสัญญาที่ได้ประกาศไว้ในสนามเลือกตั้งถือเป็นการดิ้นอีกเฮือกในการเติมความหวังให้คนไทยได้มีโอกาสกินดีอยู่ดีในสภาวะเศรษฐกิจตกสะเก็ดในสถานการณ์ปัจจุบันที่ค่าแรงขึ้นเฉพาะบางกลุ่มพื้นที่ บางกลุ่มอาชีพ ไม่ได้ตอบโจทย์คนใช้แรงงาน อีกทั้งข้าวของทะยานพุ่งขึ้นทั้งประเทศไปแล้ว แรงงานก็ยังถูกเอาเปรียบเป็นพลเมืองชั้น 2 อยู่ดี คนที่ได้ประโยชน์ คือ นายทุน ส่วนประชาชนคนใช้แรงงานก็ถูกหลอกต่อไปหรือไม่

เหมือนอย่างที่ “ชาลี ลอยสูง” รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) บอกไว้ว่า การปรับของรัฐบาลอย่างนี้เป็นลักษณะของการเมืองมากกว่า เพราะได้หาเสียงไว้ว่าจะมีการปรับ 400 บาท และจะปรับให้ถึง600 บาท หากอยู่ครบ 4 ปี  ก็เป็นการเล่นแร่แปรธาตุแบบนี้ไปตลอด ผลสุดท้ายคนงานได้กะปริบกะปรอย คนงานไม่ได้อะไร เพราะคนงานที่อยู่ในโรงงานเวลาเงินขาดมือ ไม่พอใช้ อยู่ตรงไหนมันก็ไม่พอใช้ เพราะฉะนั้นควรจะปรับเท่ากันทั่วประเทศไปเลย ถ้าทำได้แบบนี้ไม่ต้องไปปรับค่าจ้างขั้นต่ำก็ได้ ค่าแรงเท่าที่มีก็อยู่ได้ เพราะค่าครองชีพไม่สูง

แต่วันนี้รัฐบาลไม่ได้ควบคุมเลย แล้วไปปรับค่าจ้าง ไล่ตามวัตถุดิบที่เพิ่มไปก่อนแล้ว แบบนี้ไม่มีประโยชน์ปรับค่าจ้างไปก็ไปอยู่ที่นายทุนหมด เล่นประกาศให้รู้ล่วงหน้า แม้ไม่รู้ว่าจะได้ปรับจริงๆ เมื่อไหร่ แต่ราคาสินค้าขึ้นไปรอก่อนแล้ว พอถึงวันปรับจริงราคาของก็ปรับเพิ่มอีก เท่ากับว่าราคาสินค้าปรับเพิ่ม 2 เด้ง แรงงานก็เสีย 2 ต่อ ถามว่าเอามันสมองข้างไหนมาคิดถึงออกมาเป็นแบบนี้  หรือเพื่อต้องการหาเสียง ต้องการเอาหน้าจากประชาชน ที่อาจจะคิดไม่เท่าทัน เหมือนเงินดิจิทัล ประกาศมากี่ทีแล้ว แต่เอาจริงก็ไม่รู้ว่าจะได้ใช้เมื่อไหร่

ขณะเดียวกัน “พิพัฒน์ รัชกิจประการ” รมว.แรงงาน ออกมาประกาศจะมี บิ๊กเซอร์ไพรส์เป็นขวัญสำหรับผู้ใช้แรงงาน ในวันแรงงาน 1 พ.ค.นี้ โดยของขวัญชิ้นสำคัญ จะมีรายละเอียดเรื่องค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ 400 บาท โดยผ่านคณะกรรมการไตรภาคี ซึ่งจะดำเนินการเร็วขึ้นจากแผนงานที่วางเอาไว้ภายในเดือนต.ค.นี้

หากมองอีกมุมหนึ่งรัฐบาลได้ทำตามสัญญานโยบายเรือธง 400 บาทแต่หากมองในมุมคนใช้แรงงาน คงต้องเติมความอดทน เพื่อไปสู้กับวิกฤติเศรษฐกิจไปจนถึงเดือนตุลา

ขณะที่นโยบายดิจิทัลวอล์เล็ต“นายกฯเศรษฐาและอุ๊งอิ๊ง”นัดคุยพรรคร่วมรัฐบาลก่อนจัดอีเว้นท์  โดย“นายกฯเศรษฐา” ควง 6 พรรคร่วมออกมาแถลงข่าวหลังประชุมครม.ว่า รัฐบาลได้ปักหมุดเดินหน้าแจกเงินดิจิตอลวอล์เล็ต 1 หมื่นบาท ในไตรมาสที่ 4 แม้จะเจอสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ สร.ธกส.ออกมาจี้ให้กฤษฎีกาตีความกฎหมายอีกรอบ ว่า กฎหมายเปิดช่องให้นำเงิน 1.7 แสนล้านบาทของธ.ก.ส.ไปแจกได้หรือไม่

อีกทั้งโดนคู่ปรับเก่าอย่าง “ผู้ว่าแบงค์ชาติ”เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ส่งหนังสือประกอบความเห็นการพิจารณาโครงการเติมเงิน 1 หมื่นบาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ให้ครม.พิจารณาทบทวนหลักเกณฑ์โครงการดังกล่าว คัดค้านการจ่ายประชาชนโดยทั่วไป แนะควรจ่ายเฉพาะกลุ่มเปราะบาง เพราะจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการคลังของรัฐบาล หนี้สินภาครัฐจะเพิ่มขึ้น ทำประเทศเสี่ยงถูกปรับลดเครดิตความน่าเชื่อถือ กระทบเชื่อมั่นนักลงทุน อีกทั้งจะทำให้งบกลางสำรองจ่ายกรณี ฉุกเฉินหรือจำเป็นลดลงจนอาจไม่เพียงพอรองรับกรณีฉุกเฉิน โดยเฉพาะภายใต้สถานการณ์การเมืองโลกที่มีความไม่แน่นอนสูงและภาวะภัยธรรมชาติที่มีความรุนแรงมากขึ้น รวมไปถึงกังวลสภาพคล่อง ธ.ก.ส.

งานนี้ “รัฐบาลเศรษฐา”เล่นบทชัวร์ไม่มั่วนิ่ม เร่งส่งเรื่องให้คณะกฤษฎีกาดูข้อกฎหมายให้ชัดเจนหวั่นเจอวิบากกรรมจะตามมาภายหลัง ที่สำคัญกลัวกระทบถึงความสัมพันธ์กับ 6 พรรคร่วม หากนโยบายผิดกฎหมาย เพื่อนๆ อาจโดดหนีส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาลได้

นอกจากนี้ยังมีอีกปัญหายิบย่อย ที่หลายคนเห็นว่าโครงการนี้ เงินจะไหลไปที่กลุ่มทุนใหญ่เพียงไม่กี่ราย ซึ่งอาจนำไปสู่การทุจริตเชิงนโยบาย เป็นช่องให้พวกนักร้องนำไปยื่นองค์กรอิสระอย่างคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)ให้เข้ามาตรวจสอบ

แต่ก่อนหน้ากอดคอพรรคร่วมแถลงข่าวนโยบายเรือธงโครงการเติมเงิน 1หมื่น ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต  “นายกเศรษฐา” ได้เชิญ 4 ในแบงค์ใหญ่  ประกอบด้วย นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงไทย นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ น.ส.ขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารธนาคารกสิกรไทย นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพ เข้าร่วมหารือลุยเดินหน้าลดดอกเบี้ย โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง เช่น SMEs ผู้ประกอบการรายย่อย มีปัญหาเรื่องดอกเบี้ยสูง เพราะก่อนหน้าเคยส่งสัญญาณให้แบงค์ชาติฯ ให้ปรับลดดอกเบี้ยแต่ไม่สำเร็จ  ซึ่งสมาคมแบงก์เด้งรับคำขอ “นายกฯเศรษฐา” ไฟเขียวลดดอกเบี้ยเงินกู้เอ็มอาร์อาร์ 0.25% นาน 6 เดือน ช่วยกลุ่มเปราะบาง-เอสเอ็มอี

ขณะที่การ เมืองอีกโหมดหนึ่ง คือ การโหมโรงเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ที่สว.เรือเหล็กชุดเดิมจะหมดวาระ 6 ปีในวันที่ 11 พ.ค.67นี้ ล่าสุดครม.มีมติให้เลือกส.ว. ชุดใหม่ โดยวางไทม์ไลน์ กำหนดวันที่ 13 พ.ค.ประกาศวันกำหนดและวันที่รับสมัครผู้ประสงค์ที่จะลงสมัครเป็นสว. จากนั้น กำหนดวันที่ 9 มิ.ย. เป็นวันเลือก สว.ระดับอำเภอ  วันที่ 16 มิ.ย.2567 เป็นวันเลือกสว.จังหวัด วันที่ 26 มิ.ย.2567 เป็นวันเลือก สว.ประเทศ วันที่ 2 ก.ค.2567  เป็นวันที่กกต.ประกาศผลเลือกตั้งสว.

กติกาการเลือกสว. ครั้งนี้เรียกได้ว่าพิสดาร เพราะผู้สมัครต้องมีการเลือกไขว้ใน 20 กลุ่มอาชีพ ถ้ากกต.ให้ความรู้ความเข้าใจไม่ชัดเจนโอกาสเกิดคดีกันคงมีตามมาเป็นโขย่ง ขณะเดียวกันกกต.ออกหลักเกณฑ์คุณสมบัติผู้สมัครชัดเจน  พร้อมเตือนใครฝ่าฝืนลงแข่งทั้งที่ไม่มีสิทธิมีโทษทั้งจำ ทั้งปรับ เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 20 ปี คนรับรองโดนด้วยเช่นกัน เป็นกลเกมค่ายกลของรัฐธรรมนูญปี 60 ที่ได้วางหมากไว้ซับซ้อน

ท่ามกลางกระแสการชักธงรบจากพรรคส้ม ที่ปลุกด้อมส้มให้เตรียมควักเงินค่าสมัคร 2,500 บาท เพื่อลงสมัครหันให้เยอะๆ เพื่อเข้าไปเลือกบุคคลที่ตัวเองสนับสนุนให้เป็นเข้ามาทำหน้าที่สว. และเพื่อสกัดการฮั้วเลือกสว. จากนักการเมืองบ้านใหญ่

ถือได้ว่าได้เสียงตอบรับที่ดีทำเอานักการเมืองบ้านใหญ่ระส่ำแต่อย่าลืมว่า พลพรรคด้อมส้ม ก็มักจะตกม้าตายเพราะศึกษากติกาไม่รอบคอบ จะเห็นได้จากในอดีต ที่พรรคอนาคตใหม่โดนยุบมาแล้ว คิวต่อไปก็พรรคก้าวไกล ที่กำลังต่อสู้คดียุบพรรคบล้มล้างการปกครอง และจะมีการร้องแรกแหกกระเชอภายหลังว่า โดนนิติสงครามเล่นงาน

การเมืองไม่มีความแน่นอนการลงสนามรบก็ต้องมีความเพรียบพร้อมทั้ง อาวุธ กลยุทธ์ และความรอบคอบ คงต้องจับตาดูกันต่อไปสนามเลือกสว. ว่า จะมีนิติสงครามเกิดขึ้นหลังการเลือกสว.หรือไม่

ส่วนความคืบหน้าการแก้รัฐธรรมนูญ หลังศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำวินิจฉัยปมทำประชามติ ล่าสุดครม.ได้มีมติตามที่แกนนำ 7 พรรคร่วมรัฐบาลหารือแล้วได้เห็นพ้องร่วมกัน จะเดินหน้าทำประชามติ 3 รอบก่อนแก้ไขรัฐธรรมนูญ ด่านแรกอย่างช้าภายในเดือนส.ค.67  โดยใช้งบ 3,200 ล้านบาท รัฐบาลโปรยยาหอมบอกเลือกตั้งครั้งหน้าได้ใช้กติกาใหม่

ทามกลางการตั้งเคล้าฝ่าด่านหิน ของผู้ที่เห็นต่าง ทั้ง iLaw-เครือข่ายภาคประชาชน ไม่เห็นด้วย กับประเด็นคำถามที่บอกว่า “ท่านเห็นชอบหรือไม่ ที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่แก้ไขหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2” ซึ่งเป็นเหมือนการมัดมือชก เป็นการพาสังคมเข้าสู่สภาวะไร้ทางเลือก ตั้งป้อม ไม่โหวต Yes ไม่รับก่อนแก้ทีหลัง

งานนี้ต้องจับตาดูเกมร้อนประชามติเพื่อแก้รัฐธรรมนูญจะฝ่าด่านหินปมร้อนไปได้หรือไม่.

คลิกอ่านบทความทั้งหมดที่นี่