ที่ลานต้นไม้ใหญ่ด้านหน้ามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์ นายจำรัส เอี่ยมสุธนกุล อายุ 42 ปี และนางสาวคนารักษ์ ชัยช่วย อายุ 37 ปี สองสามีภรรยา จอดรถตู้คันเก่าที่ตกแต่งภายในเพื่อเป็นรถเคลื่อนที่สำหรับขายอาหาร เครื่องดื่ม กาแฟสด โดยใช้ชื่อร้าน “ข้อยเป็น ข้อยไป” ผู้คนที่มานั่งพักผ่อนหย่อนใจและสัญจรไปมา ต่างสะดุดตาและสนใจลองลิ้มชิมรสไม่ขาดสาย

ในส่วนของกาแฟสด จะเป็นเครื่องดื่มแนวสโลว์ ราคาเริ่มต้นเพียง 40 บาท ส่วนอาหารที่ขาย จะเป็นจำพวกพาสต้าที่ไม่เหมือนใคร ดัดแปลงมาจากอาหารอิตาเลียนให้มีความเป็นอีสาน ที่นำเอาใบขี้เหล็ก และบักบก หรือ จบก มาเป็นส่วนประกอบหลัก สร้างความแปลกใหม่ระหว่างอิตาเลียนกับอีสาน ลูกค้าต่างถูกอกถูกใจ

สำหรับ “จำรัส” มือทำอาหาร หากดูผิวเผินคงไม่รู้ว่าจำรัส อดีตเคยเป็นกราฟิกดีไซน์ของบริษัทแห่งหนึ่ง ขณะที่ “คนารักษ์” มือทำกาแฟและเครื่องดื่ม อดีตเป็นครีเอทีฟรายการตลกชื่อดัง หลังสื่อออนไลน์รุกหนัก ทั้งสองคนตกลงปลงใจไปหาความรู้และประสบการณ์ที่ออสเตรเลียด้วยกัน

โดย จำรัส ได้ไปทำงานเป็นเชฟที่ร้านอาหารอิตาเลียน ส่วน คนารักษ์ ได้ไปทำงานที่ร้านกาแฟ ทั้งสองคนตั้งใจทำงานเก็บเงินได้ 5 ปีกว่า ก่อนจะเดินทางกลับมาเมืองไทย โดยตั้งเป้าอยากมีรถสักคันขับไปเที่ยวและได้ขายของไปด้วย จึงนำเงินเก็บที่มี ลงทุนซื้อรถตู้คันเก่า ออกแบบตกแต่งภายในที่ตอบโจทย์ ซึ่งลงทุนไปกว่าครึ่งล้านบาท จากนั้นก็ตระเวนออกขายตามงานเฟสติวัลทั่วประเทศ และจอดขายตามเส้นทางที่ผ่าน

คนารักษ์ เล่าว่า เราสองคนมีความฝันว่าจะขับรถไปท่องเที่ยวและขายของไปด้วย โดยที่ตนเองนั้น มักจะเดินทางไปขายตามงานมิวสิกเฟสติวัลต่างๆ ทั่วประเทศ และหากไปทำธุระที่ไหน ก็จะขับรถคันนี้ไปเปิดขายตามเส้นทางด้วย หากไม่มีเทศกาล หรือไม่ได้ไปไหน ตนก็จะจอดขายริมทางในตัว อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี เส้นทางเชื่อมระหว่างถนนแจ้งสนิทไป จ.ศรีสะเกษ

“รายได้ในแต่ละวันก็พออยู่ได้ กำไรไม่มาก เวลาที่ตนได้เห็นแววตาคนกินแล้วรู้สึกสุขใจแทน ซึ่งมันไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่ในเมืองกรุง แต่อาจจะเป็นสิ่งแปลกใหม่ของคนในชนบท”

“คนารักษ์” เล่าอีกว่า สำหรับความหมายของชื่อร้านว่า “ข้อยเป็น ข้อยไป” อยากให้คนฟังหรือเห็นรับรู้ถึงทั้ง 2 ความหมาย คนทั่วไปจะนึกถึง ค่อยเป็น ค่อยไป หมายความว่า ร้านนี้จะดำเนินไปแบบค่อยๆ ทำ ส่วนความหมายของ (ข) ข้อย ก็คือ ตัวเราเอง คือพวกเราเป็นแบบนี้ ค่อยเป็น ค่อยไป ทำไปเรื่อยๆ เท่าที่มีกำลัง

ด้าน จำรัส ผู้เป็นสามีและเป็นมือทำอาหาร เล่าว่า ตนอยากจะนำเสนออะไรที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวอีสาน fusion (ฟิวชั่น) กับอิตาเลียน ที่เป็นการหลอมระหว่างอาหารอิตาเลียนกับอาหารอีสานเข้าด้วยกัน ซึ่งบ้านเราก็จะมีพาสต้าจำพวก ผัดขี้เมา ซึ่งของอิตาเลียนก็จะมี คาโบนาร่า ซึ่งคนอื่นเขาทำมาหมดแล้ว ตนจึงอยากจะหาอะไรใหม่ๆ มานำเสนอ

“ตนจึงได้ไปเลือก ingredient อินกรีเดียน หรือ ส่วนผสมมาจากตลาดชาวบ้าน คือถ้าเดินไปเจออะไรก็คิดตามว่า มันจะใช้กับอาหารฝรั่งได้มั้ย แล้วค่อยเอามาประยุกต์ใช้ ลองผิดลองถูกมาจนได้มาเป็นสูตรนี้ คือ พาสต้าแกงขี้เหล็ก บักบก หรือ จบก ที่ผู้คนกำลังให้ความสนใจมาก โดยจบกก็ดัดแปลงมาจากอัลมอนด์นั่นเอง แต่ราคาก็น่าจะใกล้เคียงกับอัลมอนด์เช่นกัน ซึ่งมันดูมีเสน่ห์มากกว่า”

คอลัมน์ : นิยายชีวิต โดย : อสงไขย
เรื่องและภาพโดย : นพรัตน์ กิ่งแก้ว จ.สุรินทร์
[[คลิก]] อ่านเรื่องราว “นิยายชีวิต” ได้ที่นี่..