อังกฤษ ผ่านเข้ารอบรองชนะเลิศรายการเมเจอร์ได้แค่ 4 ครั้ง ในช่วงปีค.ศ. 1966-1996

แต่แค่ 3 ปีหลังสุด พวกเขาเข้าตัดเชือกได้ถึง 2 ครั้ง

คือฟุตบอลโลก 2018 และยูโร 2020

ถ้าคิดเข้าข้างตัวเองหน่อย รวมเนชั่นส์ ลีก ด้วย ก็จะเป็น 3 รายการ

แถมล่าสุดยังผ่านเข้าชิงชนะเลิศได้เป็นครั้งแรกในรอบ 55 ปี ในยูโร 2020

ผลงานระดับนี้ ไม่ใช่จะทำกันง่ายๆ มันต้องมีเหตุผลบางอย่าง ทำให้พวกเขาพัฒนาแบบติดปีก

ปัจจัยสำคัญที่สุดอย่างหนึ่ง ก็คือ สมาคมฟุตบอลอังกฤษ (เอฟเอ)

ถึงจะโดนเยาะเย้ยจากรอบด้าน แต่ เกรก ไดค์ ประธานเอฟเอ ช่วงปีค.ศ. 2013-16 ประกาศว่า ถ้าต้องการเปลี่ยนแปลง และก้าวไปสู่ความสำเร็จ

สิ่งแรกที่ต้องเปลี่ยนคือ “ความคิด”

เขาวางเป้าหมาย 2 ข้อให้ อังกฤษ

1) ต้องเข้าถึงอย่างน้อยรอบตัดเชือกยูโร 2020

2) คว้าแชมป์ฟุตบอลโลก 2022

ตอนนั้น มีแต่คนหัวเราะเยาะ แต่ ไดค์ ไม่ได้พูดอย่างเดียว เขาลงมือทำด้วย

ไมค์ ริกก์ อดีตหัวหน้าฝ่ายพัฒนานักเตะของเอฟเอ บอกว่า ไดค์ อธิบายละเอียดทุกขั้นตอนว่าการไปถึงจุดนั้นต้องทำอะไรบ้าง

แต่ละคนมีหน้าที่อะไร ช่วงไหนต้องแบบไหน งานจึงเดินหน้า

อีกบุคคลที่อยู่เบื้องหลังสำคัญชื่อว่า แดน แอชเวิร์ธ อดีตหัวหน้าทีมพัฒนาศักยภาพขั้นสูง

เขาเข้ามารับตำแหน่งในปีค.ศ. 2012 และ ริกก์ บอกว่า นี่แหละ “ตัวเปลี่ยนเกม” ที่แท้จริง

แอชเวิร์ธ ที่ตอนนี้ เป็นประธานเทคนิคของ ไบรท์ตัน เข้ามา “ปรับโครงสร้าง” ใน เอฟเอ หลายอย่าง

เขาผลักดันบุคลากรที่มีความสามารถหลายคนให้เข้ามาทำงานในเอฟเอ

โดยเน้นการสร้างเยาวชนเป็นหลัก

และ แอชเวิร์ธ นี่แหละ ที่อยู่เบื้องหลังในการดึง แกเร็ธ เซาธ์เกต มาเป็นกุนซือชุดยู-21

สำคัญที่สุดคือ แอชเวิร์ธ ผลักดัน “ดีเอ็นเอ” ความเป็นชนชาติ และความเป็นอังกฤษควบคู่ไปด้วย

แม้ช่วงแรก หลายคนไม่เข้าใจในเหตุผลว่า ทำไปทำไม แต่เขาทำอย่างจริงจัง และต่อเนื่อง

พร้อมกับใส่ “ดีเอ็นเอ” แบบนี้เข้าไปในหัวสมองของนักเตะเยาวชน ตั้งแต่วันแรกที่เปิดประตูเข้ามา

ก่อนหน้านี้ โค้ชคนไหนมาคุมทีม ก็จะทำตามแนวทางตัวเอง นักเตะจึงต้องเปลี่ยนสไตล์ไปเรื่อย

แต่เมื่อมีแนวทางชัดเจน นักเตะจึงไม่ต้องคิดเยอะ มุ่งมั่นลุยในแนวทางที่สมาคมวางไว้ได้เลย

แถมไม่ต้องเปลี่ยนไปมาให้สับสน

ผู้เล่นอังกฤษยุคหลังจึงเข้าใจเทคนิค และแท็กติกไปในทิศทางเดียวกันหมด

เอฟเอ ยังถึงกับตั้งทีมสำรวจศึกษาการทำงานของ 10 ชาติที่ประสบความสำเร็จในช่วงหลังว่าทำกันอย่างไร

โดยสิ่งสำคัญที่สุดคือ วิธีการที่จะทำให้นักเตะเยาวชนเก่งขึ้นได้ตามช่วงอายุ เพื่อขึ้นมาป้อนชุดใหญ่

เพราะมีนักเตะมากมาย ที่เก่งตอนเด็ก แต่ตอนโตกลับแจ้งเกิดไม่ได้

ถือเป็นการเสียนักเตะพรสวรรค์ และเสียของไปโดยเปล่าประโยชน์

ปีค.ศ. 2017 ปีเดียว อังกฤษ ส่งทีมลงแข่งขันระดับเยาวชนทั่วโลกถึง 6 รายการ

พวกเขาได้แชมป์ 4 รายการ, รองแชมป์ 1 รายการ และเข้าถึงรอบตัดเชือกอีก 1 รายการ

26 ขุนพลในยูโรครั้งนี้ มีนักเตะจากชุดเหล่านั้นถึง 11 คน

รวมถึง ฟิล โฟเดน, เจดอน ซานโช, รีซ เจมส์, โดมินิค คัลเวิร์ต เลวิน, จอร์แดน พิคฟอร์ด, เบน ชิลล์เวลล์, แจ๊ค กลีลิช, เมสัน เมาท์, อารอน แรมส์เดล

การลงแข่งเยอะทำให้เยาวชนได้ประสบการณ์

แม้หลายคนยังไม่ได้รับโอกาสกับสโมสรต้นสังกัด แต่พวกเขาก็เจนจัดมาแล้วทั่วโลก

และรู้ว่าต้องจัดการตัวเองยังไงตอนได้แชมป์ หรือทำยังไงเมื่อผิดหวัง

เอฟเอ ยังทำงานร่วมกับสโมสรต่างๆอย่างใกล้ชิด

เพื่ออัพเดตผู้เล่นแต่ละคน และนำข้อมูลมาแลกเปลี่ยน พัฒนานักเตะร่วมกัน

แถมถ้าหากมีนักเตะบางคน ที่ถูกอาจตกหล่นหรือหลงลืมไป ก็จะได้ดึงกลับมาพัฒนาไปพร้อมกัน

นอกจากนั้น เอฟเอ ยังทำงานใกล้ชิดกับสต๊าฟโค้ชทุกทีม และสร้างความสัมพันธ์อันดีกับเหล่ากุนซือทั้งหลาย ทั้งอังกฤษ และต่างชาติ

เพื่อเหตุผลเดียวคือการปั้นนักเตะไปในทิศทางเดียวกัน

สนามซ้อมแห่งใหม่เซนต์ จอร์จ ปาร์ค ที่เปิดใช้มาตั้งแต่ต.ค. 2012 ก็ถือว่าสำคัญมาก

เพราะที่นี่มีครบทุกอย่างที่การพัฒนาผู้เล่นสักคนควรจะมี

และเป็นที่ทาง เป็นหลักแหล่งให้ทุกคนมาทำงาน

แถมอุปกรณ์ทุกอย่างเพียบพร้อม เครื่องอำนวยความสะดวกครบครัน

เบื้องหลังความสำเร็จทุกอย่างจึงมีที่มา และเกิดจากความมุ่งมั่น การวางแผน และความต่อเนื่อง

การทำงานของสมาคมฟุตบอลของทุกประเทศ จึงมีความสำคัญ

และเป็นเบื้องหลังความสำเร็จ (หรือล้มเหลว) ของทีมชาติอย่างปฏิเสธไม่ได้.

กัปตันเจมี