แม้รถจี๊ปนีย์สามารถซ่อมแซมได้ง่าย มีราคาถูก และกลายเป็นกระดูกสันหลังของระบบการขนส่งของฟิลิปปินส์ แต่แผนยกเลิกการใช้รถจี๊ปนีย์ของรัฐบาลมะนิลา ในความพยายามที่จะปรับปรุงเครือข่ายการขนส่งที่ยุ่งเหยิงของประเทศให้ทันสมัยนั้น ทำให้เกิดข้อสงสัยเกี่ยวกับอนาคตของยานพาหนะที่เป็นทั้ง “เอกลักษณ์” และ “วัฒนธรรม” เช่นนี้

ซาเรา มอเตอร์ส เป็นหนึ่งในบริษัทกลุ่มแรกที่ผลิตรถจี๊ปนีย์ และการผลิตเคยถึงจุดสูงสุดที่ 50-60 คันต่อเดือน ในช่วงทศวรรษที่ 1970 และ 1980 แต่ตัวเลขดังกล่าวลดลงเหลือ 10 คันต่อเดือน เนื่องจากทางเลือกอื่น ๆ ในการขนส่ง ทำให้อุปสงค์รถจี๊ปนีย์ลดลง อีกทั้งการเปิดตัวโครงการเลิกใช้รถจี๊ปนีย์ในปี 2560 ส่งผลให้การผลิตของซาเรา มอเตอร์ส ต้องหยุดชะงักด้วย

ด้านนายลีโอนาร์ด ซาเรา หัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการของบริษัท ซาเรา มอเตอร์ส กล่าวว่า แม้บริษัทของเขาสามารถผลิตรถจี๊ปนีย์สมัยใหม่ ซึ่งตรงตามข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยของรัฐบาล แต่มันก็มีราคาสูงกว่ารถจี๊ปนีย์แบบดั้งเดิม 3-4 เท่า

อนึ่ง โครงการเลิกใช้รถจี๊ปนีย์ ประสบความล่าช้าหลายครั้งในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากการประท้วง และการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งผู้ประกอบการรถจี๊ปนีย์ มีเวลาถึงวันที่ 30 เม.ย. ที่ผ่านมา ในการปิดแฟรนไชส์ของตนเอง, รวมตัวเป็นสหกรณ์ และเปลี่ยนไปใช้รถมินิบัสไฟฟ้า ซึ่งเป็นยานพาหนะสมัยใหม่ที่ปลอดภัยมากขึ้น, สะดวกสบายยิ่งขึ้น และก่อมลพิษน้อยลง

นอกจากนี้ สหกรณ์จะสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน และได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล สำหรับรถมินิบัสแต่ละคัน เพื่อลดภาระทางการเงิน อย่างไรก็ตาม ผู้ขับขี่จำนวนมากคัดค้านแผนของรัฐบาลมะนิลา โดยให้เหตุผลว่า การซื้อรถยนต์คันใหม่ จะทำให้พวกเขามีหนี้สิน และไม่สามารถหาเงินได้มากพอที่จะชำระเงินกู้ และหาเลี้ยงชีพได้

ท่ามกลางการแข่งขันกับรถบัส, รถตู้ และรถมอเตอร์ไซค์สำหรับผู้โดยสาร รถจี๊ปนีย์ยังคงพบเห็นได้ทั่วไปในฟิลิปปินส์ ซึ่งมันมีกลักษณะเด่นอย่างสีสันที่สดใส, ท่อไอเสียที่มีเสียงเหมือนแตร, ค่าโดยสารเพียง 13 เปโซฟิลิปปินส์ (ราว 8 บาท) และความง่ายในการซ่อมแซมเครื่องยนต์ดีเซลมือสอง

แต่ในทางตรงกันข้าม รถมินิบัสสมัยใหม่มีความไฮเทคมากกว่าในหลายองค์ประกอบ ทั้งเครื่องยนต์หรือมอเตอร์ไฟฟ้าตามมาตรฐานการปล่อยมลพิษของยุโรป, ไวไฟ, กล้องวงจรปิด และเครื่องปรับอากาศ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้บรรดาผู้ประกอบการรถจี๊ปนีย์กังวลว่า พวกเขาอาจไม่มีเงินเพียงพอสำหรับการซ่อมแซม

ซาเรา ยอมรับว่า บริษัทของเขาไม่สามารถแข่งขันกับกำลังการผลิตรถยนต์จำนวนมากของผู้ผลิตในต่างประเทศได้ แต่เขากล่าวว่า รถจี๊ปนีย์ที่ผลิตโดยซาเรา มอเตอร์ส มีราคาถูกกว่า และมีคุณภาพสูงกว่า เมื่อเทียบกับรถมินิบัสนำเข้า

“แม้รถจี๊ปนีย์ในรูปแบบปัจจุบัน อาจเดินทางใกล้ถึงปลายทางแล้ว แต่ผมหวังว่า แก่นแท้ของยานพาหนะนี้ จะคงอยู่ต่อไป” ซาเรา กล่าวทิ้งท้าย.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : AFP