เรื่อง “เงินธนาคาร“ ที่ต้องตามดูคือ “ธนาคารพาณิชย์ปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้” ช่วยลูกค้าบุคคลและผู้ประกอบการรายย่อย ตามที่รัฐบาลร้องขอ… การลดดอกเบี้ยเงินกู้นี่จะมีผลกลางเดือน พ.ค.-พ.ย. 2567 ซึ่งจะช่วยลูกหนี้ได้แค่ไหน? หลังจากนั้นจะอย่างไรต่อ? ก็ต้องตามดู… ขณะที่เรื่อง “เงิน-ธนาคาร” อีกเรื่องที่ก็ต้องตามดูคือ “เงินฝากล้นธนาคาร!!“ โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้เผยว่า… ธนาคารมียอดคงค้างเงินฝากเติบโตสูงกว่ายอดสินเชื่อติดต่อกันกว่า 16 เดือนแล้ว ซึ่งแม้จะฉายภาพสภาพคล่องแบงก์ไทยที่อยู่ในระดับสูง แต่ก็สะท้อนด้วยว่า ภาคธุรกิจมีการเบิกใช้วงเงินน้อย ซึ่งถือเป็นปรากฏการณ์…

เป็นอีก ปรากฏการณ์การเงิน”
ไทยมี “สภาวะเงินฝากล้นแบงก์”…

ปรากฏการณ์ “ไทยมีเงินฝากล้นแบงก์” แบบนี้ “เพราะสาเหตุอะไร?…จะทำให้เกิดอะไรได้บ้าง?“ นี่ก็เป็นปุจฉาน่าคิด โดยกรณีนี้ก็มี “มุมวิเคราะห์” ที่น่าสนใจจาก ดร.ภูษิต วงศ์หล่อสายชล ผู้อำนวยการหลักสูตร aMBA (Analyst MBA) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่วิเคราะห์ปรากฏการณ์หรือภาวะนี้ และสะท้อนผ่าน “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ถึงประเด็นที่ว่า…ภาวะนี้เกิดขึ้นจากอะไร? และถ้าปล่อยให้เกิดภาวะนี้ต่อไปกรณีนี้จะส่งผลอะไรหรือไม่? โดยทาง ดร.ภูษิต ระบุว่า… ภาวะที่ “แบงก์มีเงินฝากล้น” นั้น สาเหตุสำคัญทำให้เกิดภาวะนี้ เกิดขึ้นมาจากการที่ “มีการปล่อยสินเชื่อใหม่ ๆ ในระดับที่ลดน้อยลง”

การที่ “ธนาคารมีเงินฝากเพิ่มขึ้น”…
จริง ๆ คือการที่ “คนกู้เงินน้อยลง!!”

ทั้งนี้ “สาเหตุ-ปัจจัย” ที่ทำให้ มีการปล่อยสินเชื่อลดลง จนเกิด “ภาวะเงินฝากล้นแบงก์” นั้น เรื่องนี้ทาง ดร.ภูษิต วิเคราะห์ว่า… ส่วนตัวมองว่า มาจาก 2 ปัจจัยหลัก ที่ทำให้เกิดภาวะนี้ คือ… ปัจจัยแรก “เกิดจากเศรษฐกิจไม่ดี” ส่งผลให้คนไม่อยากที่จะลงทุนอะไรใหม่ ๆ หรือไม่อยากกู้เงินเพิ่ม เพราะกลัวเพิ่มภาระทางการเงินให้ตนเอง รวมถึงอาจจะไม่มีอารมณ์ที่จะใช้จ่าย ไม่อยากใช้เงิน ส่งผลให้ยอดปล่อยสินเชื่อประเภทต่าง ๆ ของธนาคาร อาทิ สินเชื่อทางธุรกิจ สินเชื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อรถยนต์ ตอนนี้ชะลอตัวลดลง …นี่เป็นปัจจัยแรกที่มีผล เป็นมุมมองตามที่ ดร.ภูษิต ได้วิเคราะห์ในฝั่ง “ความต้องการกู้”

ขณะที่การวิเคราะห์ในฝั่ง “ความต้องการให้กู้” ที่เป็นปัจจัยที่สองซึ่งส่งผลให้มีการปล่อยสินเชื่อลดลง ทาง ดร.ภูษิต ระบุว่า… การที่ยอดปล่อยสินเชื่อของแบงก์ของไทยลดลง อีกปัจจัย “เกิดจากแบงก์เข้มงวดมากขึ้นในการปล่อยกู้” หรือปล่อยสินเชื่อ เนื่องจากเศรษฐกิจตอนนี้ยังมีปัจจัยหลาย ๆ อย่างที่ทำให้กังวล อย่างไรก็ตาม แต่จะโทษธนาคารฝั่งเดียวก็คงไม่ได้ เพราะภาคประชาชนเองก็มีหนี้สินที่เพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลทำให้ความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยลดลง อีกทั้งภาวะเช่นนี้ยังมีแนวโน้มที่จะเกิด “ปัญหาการผ่อนชำระหนี้” ด้วยเหตุนี้ก็เลยทำให้แนวโน้มที่แบงก์จะปล่อยสินเชื่อนั้นลดลงตามไปด้วย

“พออัตราดอกเบี้ยเงินฝากเพิ่มขึ้น คนจึงเลือกนำเงินไปฝากธนาคารมากกว่าจะนำเงินไปลงทุน ยิ่งดอกเบี้ยเงินกู้แพง คนก็ยิ่งไม่อยากลงทุนหรือขอสินเชื่ออะไรใหม่ ๆ เพราะกลัวภาระที่เพิ่มขึ้น และอีกประการคือ คนไม่ค่อยกล้านำเงินที่ฝากไว้ออกมาใช้สอยด้วย เพราะไม่มั่นใจในภาวะเศรษฐกิจตอนนี้”…ทางนักวิชาการท่านเดิมระบุ

ส่วนคำถามที่ว่า…ภาวะ เงินฝากล้นแบงก์…จะมีผลกระทบอะไร? กับประเด็นนี้ ดร.ภูษิต ได้สะท้อนมาว่า… การที่มีเงินฝากเยอะ ๆ ในแง่หนึ่งก็ทำให้ธนาคารมีความมั่นคงมากขึ้น แต่ ถ้ายังเกิดภาวะแบบนี้ต่อเนื่องไปนาน ๆ ก็มีสิ่งที่น่าเป็นห่วง ที่น่าห่วงมากที่สุดน่าจะเป็นเรื่องสินเชื่อ เพราะ “มูลค่าการปล่อยสินเชื่อ” นั้น “หมายถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจ” ถ้าเศรษฐกิจดีก็จะมีการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น แต่ถ้าการปล่อยสินเชื่อน้อยก็แสดงว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจมีการลดลง ซึ่ง ถ้าเกิดภาวะแบบนี้ต่อไปเรื่อย ๆ กรณีนี้ก็ย่อมจะ “ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม” ของไทย อย่างแน่นอน…

เพราะ “คนไม่เชื่อมั่น-ไม่อยากลงทุน”
ก็ทำให้ “เศรษฐกิจประเทศไม่เติบโต”

ทั้งนี้ ต่อกันที่ “ปุจฉาสำคัญ” คือ… “แล้วจะหาทางออกอย่างไร?” ให้กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นขณะนี้ กับเรื่องนี้ทางผู้อำนวยการหลักสูตร aMBA มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย สะท้อนกับ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ว่า… สำหรับปัญหานี้ ส่วนตัวมองว่า…ถ้ายังปล่อยให้ตกอยู่ในปรากฏการณ์นี้นานวันเข้า หรืออยู่ในภาวะ “สินเชื่อใหม่น้อย-เงินฝากล้นแบงก์เพิ่ม” ไปนาน ๆ ก็จะทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยมีแต่จะลดลงไปเรื่อย ๆ ซึ่งย่อมกระทบไปถึงเรื่องของการเรียกความเชื่อมั่น โดยทางออกเรื่องนี้ ส่วนตัวคิดว่า… “อาจจะจำเป็นต้องพึ่งพากลไกงบประมาณรัฐ” ที่จะช่วย “ดึงให้มีการลงทุน” กลับมา

“เชื่อว่าถ้างบประมาณภาครัฐผ่าน เรื่องการลงทุนก็น่าจะมีเพิ่มขึ้น แต่ก็จะแค่บางส่วน ไม่ใช่ดีเหมือนกันทั้งหมด เพราะต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจยังมีปัญหาอยู่ ทำให้คนไทยที่มีเงินไม่อยากใช้เงิน ขณะที่แบงก์เองก็ไม่กล้าปล่อยสินเชื่อมาก ๆ เพราะกลัวเรื่องหนี้เสีย”…ก็เป็นการวิเคราะห์ เป็นมุมมองจาก ดร.ภูษิต วงศ์หล่อสายชล นักวิชาการด้านเศรษฐกิจ กับอีก “ปรากฏการณ์การเงิน” ในไทยเวลานี้ ที่เป็นอีกเรื่อง “เงิน-ธนาคาร” ที่ไม่ใช่เรื่องลดดอกเบี้ยเงินกู้

คนไทยส่วนหนึ่ง “อ่วมดอกเบี้ยเงินกู้”
ขณะที่ “ไม่ใช้เงินกู้-ไม่ใช้เงินเก็บ” ก็มี
ถึงขั้น “เงินล้นแบงก์”…จน “น่าห่วง!!”.