เหมือนเป็นสัญญาณปีนี้ “น้ำเหนือ” ค่อนข้างมาแรง ดังนั้นเรื่องการจัดการน้ำในพื้นที่ตอนบน โดยเฉพาะแม่น้ำปิง วัง ยม และน่าน ถือเป็นปัจจัยสำคัญไม่น้อย เนื่องจากมวลน้ำทั้ง 4 สาย จะมารวมเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา ไหลผ่านพื้นที่จังหวัดภาคกลางลงมายังกรุงเทพมหานคร ดังนั้นการจัดการน้ำในองค์รวมต้องคำนึงถึงสังคม เศรษฐกิจ จึงเป็นเรื่องที่ต้องมีการวางแผนในระยะยาวด้วย

รอรับมือพายุอีกลูกในเดือน ต.ค.

ทีมข่าว 1/4 Special Report ได้พูดคุยเรื่องนี้กับ ผศ.ดร.พงษ์ศักดิ์ สุทธินันท์ อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า ปัจจัยหลักที่จะทำให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ตอนล่างอย่างกรุงเทพฯ มีผลมาจาก 1.ฝนตกในพื้นที่ 2.น้ำทะเลหนุน และ 3. น้ำทางภาคเหนือ ซึ่งแต่ละปีมวลน้ำเหนือที่ไหลบ่าลงมาจะต้องดูจากสถานการณ์น้ำในเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อย และเขื่อนป่าสัก หากย้อนไปดูสถิติจะพบว่า เมื่อปี 2554 เขื่อนเหล่านี้มีน้ำอยู่เต็มความจุ แต่ในปีนี้ ปริมาณน้ำเพิ่งมีอยู่ครึ่งนึงของความจุในเขื่อน จึงยังสามารถรับน้ำที่เพิ่มขึ้นสูงได้อีก

แต่ปัจจัยที่เพิ่มความรุนแรงให้กับน้ำเหนือ ที่มีปริมาณสูงเกิดจากฝนที่ตกเหนือเขื่อน ซึ่งจากการคาดคะเนของกรมอุตุฯ พบว่าต้นเดือนตุลาคมนี้ ยังจะมีพายุเข้ามาอีกลูก จึงพอวางใจได้บ้างว่าถ้าฝนตกเหนือเขื่อน เรายังรองรับน้ำที่เพิ่มขึ้นสูงขึ้นได้ เป็นเรื่องดีที่จะมีน้ำมาเติมในเขื่อน เพื่อรองรับการใช้งานในฤดูแล้งได้ ถ้า พายุลูกใหม่ ที่กำลังจะเข้ามาไปตกในพื้นที่ จ.ตาก หรือ อุตรดิตถ์ ฝนที่ตกจะไหลลงเข้าไปในเขื่อน หรือลุ่มน้ำปิงและน่าน ถือเป็นเรื่องที่ดีมาก แต่ถ้าฝนไปตกที่ลุ่มน้ำวังกับยม อาจต้องลำบากหน่อย เพราะพื้นที่นี้ไม่มีเขื่อนเก็บกักน้ำ มองในอีกทางหากฝนไปตกใต้เขื่อนภูมิพล หรือเขื่อนสิริกิติ์ อาจทำให้มีน้ำท่วมได้ ซึ่งลักษณะฝนที่ตกและมีโอกาสจะทำให้พื้นที่นั้นเกิดน้ำท่วม คือฝนที่ตกอยู่กับที่นั้นนาน ๆ โดยไม่ได้เคลื่อนตัวไปที่อื่น จะทำให้พื้นที่นั้นมีน้ำท่วมอย่างรวดเร็ว

โดยปกติการควบคุมการระบายของน้ำเหนือ ที่หลายคนมักวิตกกังวล เมื่อมีน้ำที่มากกรมชลประทาน ที่ดูแลจะผันน้ำเข้าสู่พื้นที่ที่เป็นทุ่ง ที่อยู่ในความดูแลและมีการจ่ายเงินชดเชยให้กับเกษตรกร ทำให้น้ำที่ไหลบ่าไปสู่พื้นที่ตอนล่าง ไม่เกิดการท่วมบ้านเรือน โรงงานอุตสาหกรรม  ตอนนี้พื้นที่น่าเป็นห่วงสำหรับการรองรับน้ำเหนือที่ไหลบ่าคือ พื้นที่ ฝั่งลุ่มน้ำยม ซึ่งยังไม่มีเขื่อนกักเก็บน้ำ แต่ในยุคปัจจุบันอาจไม่ต้องสร้างเขื่อน แต่เน้นการสร้างแก้มลิงขนาดเล็กหลาย ๆ แห่งในพื้นที่เพื่อกักเก็บและชะลอน้ำ หรือประชาชนในพื้นที่จะต้องปรับตัวในการใช้ชีวิตร่วมกับน้ำ เช่น ปรับเปลี่ยนการทำเกษตรที่สามารถเพาะปลูกได้แม้มีน้ำท่วม

ขณะเดียวกันจะต้องมีการจ่ายชดเชยที่สมเหตุผล แก่เกษตรกรที่ให้พื้นที่รองรับน้ำ โดยต้องมีระบบที่มารองรับ เช่น ถ้าหากไม่อยากให้น้ำท่วมพื้นที่เศรษฐกิจกรุงเทพฯจะต้องเสียภาษีน้ำเพิ่มขึ้น เพื่อนำเงินเหล่านี้ไปจ่ายให้กับเกษตรกรที่อยู่ต้นทางเพื่อให้ได้พื้นที่ทางการเกษตรมารองรับน้ำแทน เพราะปัจจุบันการแก้ปัญหาโดยการสร้างเขื่อนเป็นไปได้ยาก ดังนั้นอนาคตจะต้องมีการจัดเก็บภาษีน้ำ เพื่อเยียวยาให้กับพื้นที่ต้นทางที่ได้รับผลกระทบ เพราะสุดท้ายแล้วเมื่อเกิดน้ำท่วม น้ำก็ไม่รู้จะไหลไปตรงไหน แต่เมื่อท่วมแล้วจะต้องได้รับการชดเชยที่เป็นธรรม

แก้ปัญหาต้องวางแผนเป็นระบบ

สำหรับแนวทางแก้ไขของน้ำจากทางเหนือ หลายคนอาจจะมองทางแก้ปัญหาคือการสร้างเขื่อนที่จะช่วยกักเก็บน้ำเอาไว้ใช้ตอนหน้าแล้ง แต่ก็มีคนบางส่วนที่อยากจะให้น้ำระบายออกไปอย่างรวดเร็ว แต่จะมีปัญหาในตอนหน้าแล้งที่จะไม่มีน้ำใช้ ดังนั้นการสร้างเขื่อนใหม่ เพื่อกักเก็บน้ำ ชาวบ้านในพื้นที่จะต้องเห็นด้วยในการสร้างเขื่อน เพื่อเพิ่มศักยภาพในพื้นที่ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าสร้างเขื่อนแล้วจะแก้ปัญหาได้ทั้งหมด

การสร้างเขื่อนบางพื้นที่อาจไม่ตอบโจทย์ เพราะปัจจุบันหลายพื้นที่ผังเมืองเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ทำให้การไหลเวียนของน้ำไม่ได้ดีเหมือนแต่ก่อน ซึ่งหลายพื้นที่ที่เดิมเราใช้เป็นพื้นที่รับน้ำเพื่อไม่ให้ท่วมในเมืองก็ถูกถมดินและทำเป็นบ้านจัดสรร หรือบางพื้นที่มีการถมคลองและลำน้ำเดิม เพื่อเปลี่ยนแปลงพื้นที่ไปใช้ในเชิงเศรษฐกิจเห็นได้จากบางพื้นที่น้ำไม่ท่วมมาเป็น 10 ปี เลยถมคลองเอาพื้นที่ไปใช้งานสุดท้ายต้องเจอกับปัญหาน้ำท่วมที่ตามมา อย่างประเทศญี่ปุ่นจะมีกระบวนการแก้น้ำท่วมควบคู่ไปกับการจัดการผังเมือง เพราะเขามองว่าเป็นสิ่งที่ต้องทำควบคู่กัน ไม่อย่างนั้นจะแก้ปัญหาน้ำท่วมได้ยากมาก 

ถ้ามองในเชิงประวัติศาสตร์พื้นที่ของกรุงเทพฯ จะมีน้ำท่วมอยู่เป็นประจำ เนื่องจากเป็นพื้นที่ต่ำ ดังนั้นอุตสาหกรรมหรือเศรษฐกิจที่จะมาตั้งในจุดนี้จะผจญกับน้ำท่วมได้ แต่โรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่งก็ตั้งในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงน้ำท่วม ซึ่งไม่เหมาะสมในเชิงการทำงาน เลยกลายเป็นว่าพื้นที่อุตสาหกรรมในไทยตอนนี้ตั้งอยู่ในพื้นที่ซึ่งมีน้ำท่วมถึงมาตั้งแต่อดีต พอเป็นเช่นนี้ เมื่อเกิดน้ำท่วม โรงงานหรือแหล่งเศรษฐกิจก็ต้องกันพื้นที่ไม่ให้น้ำท่วมถึง”  

มองข้ามไปไกลถึงหน้าแล้งด้วย

ผศ.ดร.พงษ์ศักดิ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ตอนนี้ในต่างประเทศมีความคิดว่าจะต้องอยู่ร่วมกับน้ำอย่างไร แต่ในไทยตอนนี้หลายพื้นที่ก็สร้างคันกั้นน้ำ เพื่อที่จะไม่ให้ท่วมพื้นที่ของตัวเอง ซึ่งพอสร้างกันเยอะ เมื่อน้ำมาก็จะท่วมพื้นที่คนที่ไม่มีเงินจะสร้างคันกั้นน้ำ มันเหมือนกับการแก้ปัญหาจากที่หนึ่ง แต่ไปเกิดปัญหาในอีกพื้นที่หนึ่ง โดยไม่ได้เป็นการคิดแก้ปัญหาในแบบองค์รวม ขณะเดียวกันเมื่อสร้างคันกั้นน้ำเยอะ ๆ น้ำที่ไหลเข้ามาท่วมในพื้นที่ก็จะสูงขึ้นกว่าเดิม เพราะต่างคนต่างสร้างคันกันน้ำ จนน้ำมีความสูง และสร้างความเสียหายให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบมากขึ้น

การบริหารจัดการน้ำจึงเป็นเรื่องที่จำเป็น เพราะวันนี้น้ำอาจจะท่วม จนทำให้หลายพื้นที่ต้องเร่งระบายน้ำออกจากเขื่อน เพราะกลัวจะเป็นปัญหา แต่การระบายน้ำออกมามาก ๆ อนาคตในปีหน้าอาจจะเจอกับภาวะแล้งได้ เนื่องจากน้ำที่เรามีกักเก็บน้อย เหมือนกับตอนปี 2554 ที่น้ำท่วมใหญ่ หลังจากนั้นเราก็เร่งระบายน้ำออกจากเขื่อนเมื่อมีฝนตกหนัก เลยทำให้ไม่มีน้ำใช้ในช่วงฤดูแล้ง

สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ตอนนี้มีหลายคนที่กลับไปต่างจังหวัดเพื่อทำการเกษตร เนื่องจากในเมืองเจอปัญหาโควิด-19 ทำให้หลายคนไม่มีงานทำ และวาดหวังว่าการเกษตรจะช่วยเหลือเขาได้ แต่ถ้าเราระบายน้ำในช่วงนี้มากเกินไป ในอนาคตจะไม่มีน้ำใช้ คนที่หันไปทำการเกษตรก็จะได้รับความเดือดร้อนหนักยิ่งกว่าเดิม.